วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

Chateau des Brumes Le Prestige เกียรติภูมิไวน์ไทยจากวังน้ำเขียว

              ไวน์ชาโต เดส์ บรูมส์ เลอ เพรสทีจ (Chateau des Brumes Le Prestige) จากไร่วิลเลจ ฟาร์ม แอนด์ ไวเนอรี่ (Village Farm & Winery) ของคุณวีระวัฒน์  ชลวณิช  ไวน์แดงชิราส เบส (Shiraz-based) ที่ผลิตออกมาเพื่อต้องการให้เป็นไวน์ไทยระดับพรีเมี่ยมที่มีคุณภาพเทียบเท่ากับไวน์ชั้นดีจากประเทศฝรั่งเศส  ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกในวินเทจ 2003  ในชื่อของไวน์ชาโต เดส์ บรูมส์ เพรสทีจ (Chateau des Brumes Prestige)  แต่ล่าสุดที่ออกสู่ตลาดเป็นไวน์จากวินเทจ 2009 ที่ใช้ชื่อ ไวน์ชาโต เดส์ บรูมส์ เลอ เพรสทีจ (Chateau des Brumes Le Prestige) ฉลากสีแดงมารูน (maroon) มาตั้งแต่วินเทจ 2004
              ซึ่งในที่นี้ผมขอเรียกไวน์ตัวนี้เพียงสั้นๆ ว่า เพรสทีจ

              ผมได้ทำความรู้จักกับ เพรสทีจ 2003” เมื่อครั้งที่ไปเยือนไร่วิลเลจ ฟาร์มฯ  เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2548  ซึ่งในครั้งนั้นก็ยังรู้สึกเฉยๆ กับไวน์ตัวนี้  ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2549 ได้สัมผัสกับ เพรสทีจ 2004ที่งานเลี้ยงแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯและเกิดมีความประทับใจมากกว่า เพรสทีจ 2003ที่เคยดื่มมาก่อน 
              ผมคิดเอาเองว่าที่เป็นเช่นนั้นอาจเพราะองุ่นชิราสที่ใช้เป็นส่วนผสมหลักมีอายุมากขึ้นอีก 1 ปี  แต่โดยความเป็นจริงแล้วมิได้เป็นอย่างที่ผมคาดคิดเลย เพราะเพื่อนสนิทของผมคนหนึ่งที่เคยไปเยือนไร่วิลเลจ ฟาร์ม มาเล่าให้ฟังว่า เพรสทีจ 2004  ใช้องุ่นชิราสจากแปลงปลูกเดียวกันกับไวน์ชาโต เดส์ บรูมส์ ลา เฟลอร์ (Chateau des Brumes La fleur)
              จากคำบอกเล่านี้เองทำให้ผมต้องตามล่าหาความจริงของ เพรสทีจ 2004  โดยขับรถจากกรุงเทพฯ ไปอำเภอวังน้ำเขียว เมื่อต้นเดือนกรกฏาคม พ.ศ.2549  ดูเหมือนว่าระยะทาง 240 กิโลเมตร ไม่ไกลเลยสำหรับถนนลาดยางแอสฟัลต์ (asphalt) ที่ราบเรียบ  บวกกับความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่อยู่ใต้จิตสำนึกยิ่งทำให้ไร่วิลเลจ ฟาร์มฯ คือสวรรค์ในสายหมอกที่อยู่ใกล้แค่เอื้อม
ภาพคุณวีระวัฒน์มาเยือนที่ร้าน Valentino Cellar ของเรา

              ผมเดินทางโดยเริ่มจากถนนพระราม 9  เข้าทางพิเศษมอเตอร์เวย์ ผ่านทางแยกเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ แล้วเลี้ยวซ้ายไปทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ตัดเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 304  ผ่านอำเภอพนมสารคาม ผ่านอำเภอกบินทร์บุรี  จากนั้นจะเป็นถนนที่คดเคี้ยวไปมาผ่านแนวหุบเขาที่อยู่ระหว่างวนอุทยานแห่งชาติทับลานและวนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่  โดยใช้เวลาการเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง เท่านั้น
              แน่นอนว่าเมื่อไปถึงไร่วิลเลจ ฟาร์มฯ ก็ต้องพบกับคุณวีระวัฒน์  ชลวณิช  ผู้ที่ผมเคยเรียกว่าบุรุษแกร่งแห่งวังน้ำเขียว  และในครั้งนี้ก็ได้เห็นแววตาที่ยังคงมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มเปี่ยมของบุรุษผู้นี้
              คุณวีระวัฒน์ฯ เรียกอาณาจักรเล็กๆ ของตัวเองว่า บูติค ไวเนอรี่ (boutique winery) ได้เริ่มทดลองปลูกองุ่นพันธุ์ชิราส (Shiraz) เมื่อต้นปีพ.ศ.2541  โดยนำเง่าพันธุ์ หรือ รู๊ทสต๊อค (rootstock) จากหลายแหล่งทั้งมาจากประเทศฝรั่งเศส ประเทศออสเตรเลีย และประเทศอิสราเอล  แต่ดูเหมือนว่าเง่าพันธุ์จากประเทศอิสราเอล อายุ 1 ปีครึ่ง จะปรับตัวได้ดีกับสภาพดินฟ้าอากาศที่อำเภอวังน้ำเขียว  
              นั่นคือจุดเริ่มต้นของไวน์ชาโต เดส์ บรูมส์ (Chateau des Brumes)             
              ด้วยความความมุ่งมั่นที่จะทำไวน์ไทยให้มีคุณภาพเทียบเท่าไวน์ชั้นเลิศจากแคว้นบอร์โด คุณวีระวัฒน์ฯ ผู้เคยผ่านหลักสูตรการบริหารชั้นสูง (Senior Management) จากสถาบันเอ็มไอที. (MIT) จึงตัดสินใจจ้างนายฌาคส์ บาคู (Jacques Bacou) ไวน์เมกเกอร์ชาวฝรั่งเศส มาวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิตทุกขั้นตอน  
              จากวิสัยทัศน์ของคุณวีระวัฒน์ฯ ผสมผสานกับแนวความคิดอนุรักษ์นิยมและความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการทำไวน์จากองุ่นพันธุ์ชิราส (Shiraz) ของนายฌาคส์ บาคู  รวมกับความรอบรู้ด้านปฐพีวิทยาของ ดร.พงษ์สันติ์ สีจันทร์  จึงทำให้เกิดปรัชญาร่วมในการทำไวน์ที่สอดคล้องกันคือ
              ทำไวน์เพื่อให้เป็นไวน์ มิใช่ทำไวน์เพื่อให้เป็นสินค้า
              สิ่งที่ที่จะช่วยให้ปรัชญาร่วมบังเกิดผลมาจากหลายปัจจัย  ที่ไร่วังน้ำเขียว หรือ ไร่ใหญ่ ตำบลยุบอีปูน พื้นที่กว่า 2,000 ไร่ ตั้งอยู่บนเนินเขาสูง 550 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เป็นส่วนหนึ่งของที่ราบสูงโคราช (Korat Plateau) ที่ไร่แห่งนี้ใช้พื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 300 ไร่  มีดินแตร์ร่า รอซซ่า (terra rossa) สีอิฐแดงที่มีหินอัคนีภูเขาไฟอายุ 63-230 ล้านปี ผุพังสลายตัวแทรกปะปนอยู่ทั่วไปใต้ชั้นดิน คล้ายกันกับดินแตร์ร่า รอซซ่า เขตคูนาวาร์ร่า (Coonawarra) ในรัฐเซ้าท์ ออสเตรเลีย (South Australia) และดินแตร์ร่า รอซซ่า เขตที่ราบสูงในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) ในประเทศอิตาลี  ทำให้ดินบริเวณนั้นมีธาตุอาหารที่เหมาะสมกับองุ่นสำหรับทำไวน์คุณภาพสูง  ประกอบกับพื้นที่มีความลาดเอียงประมาณ 7-15 องศา ระบายน้ำได้ดี  จึงเป็นแตร์รัวร์ (terroir) ที่ธรรมชาติสร้างมาให้อย่างลงตัว  ซึ่งในจังหวัดนครราชสีมาจะพบดินชนิดนี้ในบริเวณตำบลยุบอีปูน เขตอำเภอวังน้ำเขียวและที่ตำบลกลางดง อำเภอปากช่อง เท่านั้น   
              อีกปัจจัยหนึ่งคือสภาพภูมิอากาศของอำเภอวังน้ำเขียวที่แตกต่างไปจากอำเภออื่นๆ ในจังหวัดนครราชสีมา กลางวันมีแสงอาทิตย์มากกว่า 8 ชั่วโมง กลางคืนมีอากาศหนาวเย็น และไร่ปลูกองุ่นอยู่ในแนวร่องลมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านซึ่งพาเอาความสดชื่นมาจากชายฝั่งทะเลด้านจังหวัดระยอง คล้ายกับชายฝั่งมาเรมม่า (Maremma Coastal Range) ในชุมชนโบลเกริ (Bolgheri) เมืองลิวอร์โน่ (Livorno) แคว้นทัสคานี (Tuscany)  สิ่งเหล่านี้เป็นภูมิอากาศเฉพาะถิ่น (micro climate) ที่ชาวไร่องุ่นแสวงหา
              เมื่อลงลึกเข้าไปในรายละเอียดของ เพรสทีจ จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างกันของไวน์ต่างวินเทจ
              เพรสทีจ 2003 จะใช้องุ่นชิราส (Shiraz) จากประเทศฝรั่งเศส 70 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับน้ำองุ่นเข้มข้นคาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) ที่มีความหวาน 35 บริกซ์ (brix)   
              เพรสทีจ 2004 จะใช้องุ่นชิราส (Shiraz) 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนหนึ่งเป็นองุ่นจากประเทศอิสราเอล ในแปลกปลูกที่ดีที่สุด และยังคงต้องผสมด้วยน้ำองุ่นเข้มข้นคาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon)  เนื่องจากองุ่นที่ปลูกได้เองยังให้ผลผลิตไม่เพียงพอ                   
              เพรสทีจ 2005ที่ควบคุมการบรรจุขวดโดยทีมงานของนายฌาคส์ บาคู (Jacques Bacou) จะกลับไปใช้ส่วนผสมเหมือนกับ เพรสทีจ 2003  และจะใช้สัดส่วนนี้ในทุกวินเทจ  
              ท่านผู้อ่านหลายท่านคุ้นเคยกับองุ่นชิราส (Shiraz) จากเขตบารอสซ่า (Barossa) รัฐเซ้าท์ ออสเตรเลีย หรือองุ่นซีร่าห์ (Syrah) จากเขตโก๊ต ดู โรน (Cotes du Rhone) แคว้นโรน (Rhone)  แต่ผู้อ่านบางท่านคงจะทราบกิติศัพท์ขององุ่นชิราส (Shiraz) จากประเทศอิสราเอล ที่คุณวีระวัฒน์ฯ ได้นำมาทดลองปลูกที่ไร่วังน้ำเขียวเมื่อปีค.ศ.1999  ซึ่งนายฌาคส์ บาคู  ยอมรับว่าโดดเด่นกว่าองุ่นชิราส (Shiraz) จากประเทศฝรั่งเศส และประเทศออสเตรเลีย  
              คุณวีระวัฒน์ฯ กล่าวกับผมว่า เพรสทีจ 2004ผลิตออกมาประมาณ 10,000 ขวด ครึ่งหนึ่งส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศฝรั่งเศสในคราบของไวน์วิลเลจ ไทย (Village Thai) ซึ่งตั้งราคาขายปลีกไว้สูงถึง 28 ยูโร โดยที่ไม่เกรงใจไวน์กรดเอโอซี. (AOC) ของเจ้าถิ่น  และถึงแม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มเติม (re-ordering) เข้ามาอีกจำนวนหนึ่ง แต่คุณวีระวัฒน์ฯ ก็ได้ปฏิเสธไปอย่างนุ่มนวลว่าต้องการเก็บไว้ให้คนไทยได้ดื่ม  
              ระหว่างการสนทนาผมเหลือบมองสีสดใสของ เพรสทีจ 2004ในแก้วไวน์บ่อยครั้ง   ไวน์มีสีแดงเข้มลึกประกายสีม่วงตามแบบฉบับไวน์ใหม่  สัมผัสแรกจากการดมจะได้กลิ่นเด่นชัดของเครื่องเทศ กลิ่นหอมของเชอร์รี่สุกและผลไม้เปลือกสีดำ ซึ่งเป็นไพรมารี่ อโรม่า (primary aroma) ที่พิเศษขององุ่นชิราส (Shiraz) จากประเทศอิสราเอล ซึ่งกลิ่นนี้ทำให้ผมหวนระลึกไปถึงไวน์อิตาเลียนจากองุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola)  
              เมื่อผมปล่อยให้ไวน์สัมผัสกับอากาศชั่วครู่หนึ่งแล้วลองแกว่งแก้วแต่เพียงเบาๆ จะมีบูเก้ (bouquet) ที่สลับซับซ้อนหลากหลาย มีกลิ่นลูกพลัมสุก กลิ่นหนังสัตว์ปนมากับกลิ่นวานิลลาหอมกรุ่น ทั้งนี้เป็นเพราะการเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) จากประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 18 เดือน  เมื่อเก็บไวน์ไว้ในกระพุ้งแก้มจะรู้สึกเผ็ดมันและรุ่มร้อนราวกับเคี้ยวเมล็ดพริกไทยเลยทีเดียว หลังจากกลั้วกลืนลงในลำคอก็ให้ความนุ่มนวลเนียนแน่นที่รู้สึกได้และมีอ๊าฟเตอร์เทสต์ก็ไม่เลวเลย  หากมีการทำไบลด์ เทสติ้ง (blind testing) หลายคนคงไม่คิดว่าเป็นไวน์ไทย
              เพื่อให้หมดข้อสงสัยผมจึงขอลองเปรียบเทียบกับ เพรสทีจ 2003อีกครั้งให้เห็นดำเห็นแดงกันไปเลย  เพียงแค่อึดใจเดียวเพรสทีจ 2003 ที่ถูกดีแคนต์อย่างรีบด่วนก็ถูกรินมาประกบ  ซึ่งทุกคนมีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า เพรสทีจ 2003 มีความเนียนแน่นของแทนนินที่นุ่มนวล แต่ เพรสทีจ 2004มีกายะที่อวบอิ่มกว่าและมีความเร่าร้อนกว่าอย่างชัดเจน 
              ผมคุ้นเคยกับไวน์อิตาเลียนมากกว่าไวน์จากแหล่งอื่น ผมเคยได้รับการบอกเล่าจากผู้ผลิตหลายรายว่าไวน์อิตาเลียนควรดื่ม 4-5 ปีหลังวินเทจเนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ไวน์จะแสดงคาแรคเตอร์ที่แท้จริงออกมา  ซึ่งผมคิดว่าเพรสทีจ 2004หรือแม้แต่วินเทจอื่นๆ ก็น่าจะเป็นเช่นนั้น                
              
ไวน์ชาโต เดส์ บรูมส์ เลอ เพรสทีจ (Chateau des Brumes Le Prestige) เดิมทีเป็นฉลากสีทองขอบแดง เปลี่ยนเป็นสีแดงมารูน (maroon) เพื่อให้มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดเจนจากไวน์ชาโต เดส์ บรูมส์ (Chateau des Brumes) ฉลากสีทอง ที่เป็นน้องนุชสุดท้อง
มุมพิเศษสำหรับ Village Farm ภายในร้านของเรา

              คุณวีระวัฒน์ฯ กล่าวทิ้งท้ายก่อนที่จะจากกันว่า ราคาไวน์ของไร่วิลเลจ ฟาร์ม แอนด์ ไวเนอรี่ (Village Farm & Winery) มิได้ตั้งตามต้นทุนค่าใช้จ่ายที่แท้จริงเพราะหากนำค่าใช้จ่ายทั้งหมดมารวมกันจะทำให้ราคาไวน์สูงมากกว่านี้ เช่น ค่าใช้จ่ายที่สูงมากของไวน์เมคเกอร์และทีมงาน ค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างไวน์โดยทางเครื่องบินเพื่อการตรวจวิเคราะห์ในห้องทดลองที่ประเทศฝรั่งเศส  หรือแม้แต่ราคาถังบาร์ริคใหม่จากประเทศฝรั่งเศส ใบละ 900 ยูโร ที่ใช้เพียง 3 ครั้ง 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น