วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มหากาพย์ไวน์ชั้นเทพ แห่งทัสคานี ตอนที่ 5 Masseto

ไวน์มาสเซโต้ (Masseto)  
              ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าไวน์อิตาเลียนที่ดีที่สุดในเวลานี้คือไวน์อะไร ซึ่งเชื่อว่าคงจะเป็นหัวข้อที่ต้องถกเถียงกันไปอีกนาน  แต่ที่แน่นอนที่สุดที่ทุกคนรู้กันทั่วไปว่า ไวน์มาสเซโต้ จาก บริษัท เดล ลอเนลลาย่า (Tenuta dell’Ornellaia) จะเป็นไวน์ที่ค่อนข้างจะหาซื้อได้ยากและมีราคาแพงที่สุดในบรรดาไวน์อิตาเลียนเมื่อเปรียบเทียบกับไวน์จากวินเทจเดียวกัน  แม้แต่ร้านไวน์ของบริษัท มาร์เคสิ เด เฟรสโคบาลดิ (Marchesi de’ Frescobaldi) ที่สนามบินโรม ฟูมิชิโน่ (Rome Fiumicino Airport) ก็ยังแทบไม่มีขาย
              ไวน์มาสเซโต้ ถือกำเนิดขึ้นมาในปีค..1986 หลังจากที่เริ่มทำ ไวน์ออร์เนลลาย่า เพียงปีเดียว โดยมีแนวคิดที่จะสร้างความแตกต่างให้กับไวน์ซูเปอร์ทัสกัน ที่มีมาก่อนหน้านี้     
              มาร์เคเซ่ โลโดวิโก้ ตัดสินใจใช้องุ่นพันธุ์แมร์โล (Merlot) แต่เพียงชนิดเดียวสำหรับไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) ฉลากใหม่ 
              ในการผลิตจะมีความพิถีพิถันตั้งแต่การปลูกองุ่นบนพื้นที่ 7 เฮ็คต้าร์ เก็บองุ่นด้วยมือจะคัดเลือกเฉพาะที่สุกจัดในช่วงต้นเดือนกันยายน ส่วนที่เหลือจะรอจนถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ซึ่งก่อนการเก็บจะใช้ผลการวิเคราะห์ทางเคมีในห้องทดลองว่าเป็นตัวกำหนด
              เมื่อนำไปเข้ากระบวนการผลิต ผลองุ่นถูกนำไปวางเรียงบนโต๊ะขนาดใหญ่เพื่อตัดกิ่งก้านและคัดเลือกผลเน่าเสียทิ้งไป แล้วนำไปทำการบีบอย่างนิ่มนวล 
              หลังจากนั้นจะนำไปเก็บหมักแบบมาเคอเรชั่น เฟอร์เมนเตชั่น (maceration fermentation) และแอลกอฮอลิค เฟอร์เมนเตชั่น (alcoholic fermentation) ในถังไม้โอ๊กขนาดใหญ่ที่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ จากนั้นจะทำการหมักแบบมาโลแลคติค เฟอร์เมนเตชั่น (malolactic fermentation) เพื่อเปลี่ยนกรดมาลิค (malic) ในไวน์ให้กลายเป็นกรดแลคติค (lactic)  ทำให้ไวน์มีรสชาติที่นุ่มนวลขึ้น                
              ไวน์มาสเซโต้ วินเทจ 2007” จะเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) ใหม่เป็นเวลา 24 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 12 เดือน ก่อนออกสู่ตลาด 
              หลังจากที่ได้ลงทุนลงแรงมาเกือบ 20 ปี ในเดือนเมษายน ค..1999  มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบริษัท เดล ลอร์เนลลาย่า (Tenuta dell’Ornellaia) เมื่อ นายโรเบิร์ท มอนดาวิ (Robert Mondavi) มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียนผู้มีกิจการทำไวน์ในรัฐแคลิฟอร์เนีย  เข้าไปถือครองหุ้นไว้ส่วนหนึ่ง และจนกระทั่งในปีค..2002  ได้เข้าถือครองไว้ทั้งหมดโดยแบ่งสรรให้ บริษัท มาร์เคสิ เด เฟรสโคบาลดิ (Marchesi de’ Frescobaldi) ถือครองหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์
              ในเดือนเมษายน ค..2005  การถือครองหุ้นทั้งหมดตกไปอยู่กับ บริษัท มาร์เคสิ เด เฟรสโคบาลดิ (Marchesi de’ Frescobaldi) ทั้งหมดโดยยังไม่ปรากฏสาเหตุแน่ชัดแต่คาดกันว่า นายโรเบิร์ต มอนดาวิ (Robert Mondavi) ต้องการจะวางมือจากธุรกิจทั้งหมด เพราะมีข่าวการประกาศขายหุ้นในส่วนของตนที่บริษัทโรเบิร์ต มอนดาวิ ไวเนอรี่ (Robert Mondavi Winery) ผู้ผลิตไวน์โอปุส วัน (Opus One) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ด้วยเช่นกัน
             บริษัท มาร์เคสิ เด เฟรสโคบาลดิ (Marchesi de’ Frescobaldi) เจ้าของไวน์มาสเซโต้ รายใหม่ได้ปฏิบัติการเชิงรุกอย่างรวดเร็วโดยจับมือกับ นิตยสารไวน์ สเปคเตเตอร์ (Wine Spectator Magazine) จัดให้มีการทดสอบไวน์แบบเวอร์ติคอล เทสติ้ง (Vertical Testing) ที่กรุงนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปีค.ศ.2005   โดยนำไวน์มาสเซโต้ จากวินเทจ 1995-2002  เข้าทำการทดสอบ  ซึ่งไวน์เกือบทุกวินเทจได้คะแนนเกินกว่า 95 คะแนน ยกเว้นวินเทจ 2002 ได้ 90 คะแนน และวินเทจ 2000 ได้ 91 คะแนน  ส่วนวินเทจ 2001 ได้ 100 คะแนน
              ซึ่งการทดสอบไวน์ในครั้งนี้สอดคล้องกับการทดสอบไวน์โดย นิตยสารไวน์ แอดโวเคต (Wine Advocate Magazine) ที่ให้คะแนนไว้ใกล้เคียงกัน คือ วินเทจ 1999 ได้ 94 คะแนน และวินเทจ 2000  ได้ 92 คะแนน
              ไวน์เมคเกอร์ (winemaker) ผู้สร้างสรรค์ไวน์มาสเซโต้ นับตั้งแต่วินเทจ 1988-1997  จะเป็นผลงานของ นายทิบอร์ แกล (Tibor Gal) จากนั้น นายอันเดรีย โจวานนินิ (Andrea Giovannini) เข้ามารับช่วงต่อในวินเทจ 1998-2000 
              ในวินเทจ 2001-2003  เป็นฝีมือของ นายโธมัส ดูโรซ์ (Thomas Dureax) นับตั้งจากวินเทจ 2004  เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ใช้บริการของ นายอเล็กซ์ ไฮนซ์ (Alex Heinz) หนุ่มลูกครึ่งเยอรมัน-ฝรั่งเศส 
              วินเทจที่ดีของไวน์มาสเซโต้ มาจากวินเทจ 1997 / 1998 / 1999 และ 2001  และที่เป็นสุดยอดจะมาจากวินเทจ 2001 ที่แฟนพันธุ์แท้ไวน์อิตาเลียนทุกคนต้องไขว่คว้าเพราะได้ 100 คะแนน จากนิตยสารไวน์ สเปคเตเตอร์ (Wine Spectator Magazine) และได้ 96 คะแนน จากนายโรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ (Robert M. Parker Jr.)  นักวิจารณ์ไวน์จากหลายสำนักต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ในวินเทจดีเหล่านี้สามารถเทียบได้กับไวน์ชาโต้ เปตรุส (Chateau Petrus) เลยทีเดียว  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น