วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

มหากาพย์ไวน์ชั้นเทพ แห่งทัสคานี ตอนที่ 1 Sassicaia

เซียนไวน์ในเมืองไทยท่านหนึ่ง ได้เปรียบเปรยไวน์ชั้นเยี่ยมจากประเทศฝรั่งเศสกลุ่มหนึ่งว่าเป็น ไวน์ 5 อรหันต์ ซึ่งก็มีความหมายในตัวเองที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นไวน์ที่เหนือกว่าไวน์ทั่วไป
              สำหรับไวน์จากประเทศอิตาลี ก็มีไวน์กลุ่มหนึ่งในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ที่รู้จักกันดีทั่วโลกและมีศักดิ์ศรีไม่ด้อยไปกว่าไวน์จากประเทศฝรั่งเศสกลุ่มนั้นเท่าใดนัก  ผมจะขอเรียกไวน์อิตาเลียนกลุ่มนี้ว่าเป็น ไวน์ชั้นเทพ ซึ่งได้แก่  ไวน์ซาสซิคาย่า (Sassicaia) ไวน์ตินยาเนลโล่ (Tignanello) ไวน์โซลาย่า (Solaia) ไวน์ออร์เนลลาย่า (Ornellaia) และ ไวน์มาสเซโต้ (Masseto) ไวน์ที่เรียกขานกันว่า ไวน์ซูเปอร์ทัสกัน

              นิยามของคำว่าไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans Wine)  หมายถึงไวน์อิตาเลียนที่ผลิตในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ตามแบบอย่างไวน์แดงจากแคว้นบอร์โด (Bordeaux-style) โดยใช้พันธุ์องุ่นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (International grapes) ที่นำมาปลูกในประเทศอิตาลี  
              ในอีกความหมายหนึ่ง อาจหมายถึงจิตวิญญาณของชาวทัสกัน (Tuscans) ผู้มีความท้าทายต่อสิ่งใหม่ๆ หรือผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ของตนเองโดยไม่ยอมรับกฏเกณฑ์ที่ล้าหลัง   
              ไวน์ชั้นเทพ ที่ผมกล่าวถึงข้างต้น จะผลิตในเขตเมืองลิวอร์โน่ (Livorno) และเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ตั้งแต่ทศวรรษที่ 50  ไวน์เกือบทั้งหมดถูกจัดอยู่ในเกรดไวน์ตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) แต่บางส่วนได้รับการยกระดับให้อยู่ในเขตไวน์ดีโอซี.(DOC appellation)
              และเรื่องราวต่อไปนี้เป็นอีกฉากหนึ่งของไวน์กลุ่มนี้ที่ไม่ค่อยถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนมากนัก ซึ่งบางข้อมูลบางส่วนก็ได้มาจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับไวน์ตัวนั้นๆ โดยตรง

             
              ไวน์ซาสซิคาย่า (Sassicaia)
              เป็นไวน์เทพตัวเด่นที่ชาวไทยรู้จักกันดี ผลิตจาก บริษัท ซาน กุยโด (Tenuta San Guido) แห่งชุมชนโบลเกริ (Bolgheri Zone) ตำบลคาสตานเยโต้ คาร์ดุชชิ (Comune di Castagneto Carducci) เมืองลิวอร์โน่ (Livorno)
              บริษัท ซาน กุยโด (Tenuta San Guido) เป็นผู้ผลิตไวน์ระดับคุณภาพที่มีผลผลิตปีละ 5 แสนขวด ดำเนินงานมาตั้งแต่ปีค..1940 โดยตระกูลอินชิซ่า เดลล่า ร๊อคเคตต้า (Incisa della Rocchetta family)  แต่กรรมสิทธิ์ที่แท้จริงเป็นของคนในตระกูลเกราร์เดสก้า (Gherardesca family) ตระกูลขุนนางแห่งยุคกลาง (middle age) ที่ถือครองที่ดินโดยระบอบศักดินา (feudalism)  
              ตำนานของไวน์ซาสซิคาย่า (Sassicaia) เริ่มขึ้นในปีค..1930  เมื่อ มาร์เคเซ่ มาริโอ อินชิซ่า เดลล่า ร๊อคเคตต้า (Marchese Mario Incisa della Rocchetta) แต่งงานกับ มาร์เคซ่า คลาริซ เดลล่า เกราร์เดสก้า (Marchesa Clarice della Gherardesca) ทายาทของมาร์เคเซ่ จุยเซ๊ปเป้ เดลล่า เกราร์เดสก้า (Marchese Giuseppe della Gherardesca) อภิมหาเศรษฐีผู้เป็นเจ้าของที่ดินในชุมชนโบลเกริ (Bolgheri Zone)
              หลังจากแต่งงานได้ไม่นาน มาร์เคเซ่ มาริโอ ก็ย้ายถิ่นฐานจากตำบลร๊อคเคตต้า ตานาโร่ (Comune di Rocchetta Tanaro) เมืองอัสติ (Asti) แคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) มาอยู่ในชุมชนโบลเกริ (Bolgheri Zone) เพื่อดูแลธุรกิจของตระกูลเกราร์เดสก้า (Gherardesca family)
              จากการที่ บริษัท ซาน กุยโด (Tenuta San Guido) ครอบครองที่ดินมากมายในชุมชนโบลเกริ (Bolgheri Zone) จึงเอื้อประโยชน์ให้ มาร์เคเซ่ มาริโอ ได้ทดลองปลูกองุ่นหลายชนิดในปีค..1940  โดยมีทั้งองุ่นพื้นเมืองพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) และพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) ที่ส่งตรงมาจากแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)  รวมถึงองุ่นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (International grapes) เช่น พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) และพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) โดยนำกิ่งพันธุ์มาจากเขตกราฟ (Graves) ในแคว้นบอร์โด (Bordeaux)  
              องุ่นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (International grapes) เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดที่จะนำไปปลูกในไร่ซาสซิคาย่า (Sassicaia Vineyard) เนื่องจากสภาพดินมีลักษณะเป็นดินปนกรวดที่คล้ายกับสภาพดินในเขตกราฟ (Graves)             
              ในปีค..1948  มาร์เคเซ่ มาริโอ เริ่มทำการผลิตไวน์ตามแบบอย่างไวน์แดงจากแคว้นบอร์โด (Bordeaux-style) โดยตั้งชื่อว่า ไวน์ซาสซิคาย่า ตามชื่อของไร่ปลูกองุ่น ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันที่มีมาตั้งแต่วัยหนุ่มขณะที่กำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งเมืองปิซ่า (University of Pisa)     
              ไวน์ซาสซิคาย่า วินเทจ 1948  ทำจากองุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) และพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) เก็บบ่มในถังสลาโวเนียนโอ๊ก (Slavonian Oak) ขนาด 225 ลิตร ที่ผลิตจากโรงงานต่อเรือของตระกูลเกราร์เดสก้า (Gherardesca family) ในเมืองเจนัว (Genoa) แต่การเก็บบ่มไวน์ใช้เวลาเพียงแค่ 4 เดือน
              ดังนั้นในเดือนมีนาคม ค.ศ.1949  ไวน์ซาสซิคาย่า 1948” ก็ออกสู่สาธารณชน และไวน์จากวินเทจต่อๆ มาก็ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง
              ความคิดสร้างสรรค์ที่อยู่นอกกรอบของ มาร์เคเซ่ มาริโอ ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวทัสกัน (Tuscans) เท่าใดนัก เหตุเพราะ ไวน์ซาสซิคาย่า มีความแตกต่างจากไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ใช้องุ่นพื้นเมืองพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) และเก็บบ่มถังสลาโวเนียนโอ๊ก (Slavonian Oak) ขนาดใหญ่  จึงทำให้ไวน์จากวินเทจ 1948 ถึง วินเทจ 1960  ต้องเก็บเอาไว้ดื่มกันในครอบครัว              
              แต่ฝันร้ายกลับกลายเป็นดีเมื่อไวน์ที่เก็บในเซลล่าร์มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ มาร์เคเซ่ มาริโอ ตัดสินใจที่จะสานฝันอีกครั้งหนึ่ง โดยเพิ่มพื้นที่ปลูกองุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) และพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) บนพื้นที่เดิมในไร่ซาสซิคาย่า (Sassicaia Vineyard) รวมถึงนำไปปลูกที่ไร่อายาโนว่า (Aianova Vineyard) ในปีค..1965  
              และโชคชะตาก็เข้าข้าง มาร์เคเซ่ มาริโอ อีกครั้ง เมื่อ นายจาโคโม่ ทาคิส (Giacomo Tachis) ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคการผลิตไวน์จาก บริษัท มาร์เคสิ แอล.แอนด์ พี.อันติโนริ (Marchesi L&P Antinori) แห่งเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ถูกส่งมาเป็นที่ปรึกษาด้านการผลิตไวน์ในปีค..1968    
              นายจาโคโม่ ทาคิส (Giacomo Tachis) ได้ให้สัมภาษณ์ต่อนิตยสารดีแคนเตอร์ (Decanter Magazine) ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนกันยายน ค.ศ.2003 ว่า เขาได้ทำการผลิต ไวน์ซาสซิคาย่า 1968 ออกมา 6,000 ขวด โดยเอาน้ำไวน์ในถังบ่ม (aging barrel) ขององุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) จากวินเทจ 1965 ถึงวินเทจ 1967  มาผสมรวมกันกับน้ำไวน์ขององุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) จากวินเทจ 1968   
              และเมื่อไวน์ออกสู่ตลาดในปีค..1972  ก็ได้รับการยกย่องจากนิตยสารดีแคนเตอร์ (Decanter Magazine) ให้เป็นไวน์เยี่ยมยอดที่ทำจากองุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) เหนือกว่าไวน์ 33 ฉลาก จาก 11 ประเทศทั่วโลก และได้รับการขนานนามว่าเป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans Wine) 
              ในปีค..1969  มาร์เคเซ่ มาริโอ เริ่มปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ทันสมัยโดยใช้ถังเหล็กไร้สนิม (stainless steel tank) ที่มีการควบคุมอุณหภูมิขณะทำการหมักไวน์มาทดแทนถังไม้แบบเดิม และขยายพื้นที่เก็บไวน์ในเซลล่าร์ให้กว้างขวางขึ้นเพื่อรองรับถังบาร์ริค (barrique) จำนวนมากที่จะสั่งเข้ามาใช้สำหรับการเก็บบ่มไวน์ตามคำแนะนำของ ศาสตราจารย์ เอมิล เปโนด์ (Prof. Emil Peynaud) จากมหาวิทยาลัยแห่งแคว้นบอร์โด (University of Bordeaux)  ซึ่งถือได้ว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของบริษัท ซาน กุยโด (Tenuta San Guido)
              ความท้าทายและความคิดสร้างสรรค์ของ มาร์เคเซ่ มาริโอ ทำให้ชาวทัสกัน (Tuscans) ส่วนใหญ่เริ่มที่จะให้การยอมรับในความเป็น “SuperTuscans Wine” รวมถึงผู้ผลิตไวน์ในแคว้นทัสคานี (Tuscany) เริ่มที่จะเดินตามรอยเท้าของ ไวน์ซาสซิคาย่า ที่ถูกเรียกขานในภายหลังว่า “The Pioneer of SuperTuscans Wine”
              มาร์เคเซ่ มาริโอ ถึงแก่กรรมในปีค.ศ.1983  กิจการการผลิตไวน์จึงอยู่ในความดูแลของ มาร์เคเซ่ นิโคโล๊ะ อินชิซ่า เดลล่า ร๊อคเคตต้า (Marchese Nicolò Incisa della Rocchetta)
              ความเปลี่ยนแปลงของ ไวน์ซาสซิคาย่า เกิดขึ้นอีกครั้งในปีค.ศ.1994  เมื่อถูกกำหนดจากทางการให้เป็นไวน์ในเขตย่อย (sub-zone) ของเขตไวน์โบลเกริ (Bolgheri DOC appellation) จึงส่งผลให้ไม่เป็นไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) อีกต่อไป  ดังนั้นชื่อไวน์จึงถูกเรียกว่า ไวน์โบลเกริ ซาสซิคาย่า (Bolgheri Sassicaia) และการผลิตไวน์อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ ดิ ตูเตล่า โบลเกริ (Consorzio di Tutela Bolgheri) โดยต้องใช้องุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) ไม่น้อยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) ไม่ต่ำกว่า 18 เดือน และเก็บบ่มในขวดไม่ต่ำกว่า 6 เดือน 
              ไวน์ซาสซิคาย่า 1985”  จะเป็นวินเทจที่เยี่ยมยอดที่สุดซึ่งนายโรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ (Robert M. Parker Jr.) เคยกล่าวสดุดีในนิตยสารไวน์แอดโวเคท (Wine Advocate Magazine) ว่าเป็นหนึ่งในไวน์ที่ทำจากองุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) ที่เยี่ยมยอดที่สุดในศตวรรษนี้ และให้เรตติ้ง 100 คะแนน เป็นบทสรุปสุดท้าย 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น