วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจาะลึกไวน์จากแคว้นทัสคานี : ไวน์จากเมืองซิเอนา (Siena)


                                               ไวน์จากเมืองซิเอน่า (Siena)


              ซิเอน่า  เป็นเมืองใหญ่ที่อยู่ทางทิศใต้ของเมืองฟลอเรนซ์ (Florence)  มีฐานะเป็นเมือง หรือ จังหวัด-Province” ซึ่งรวมเอา 36 ตำบล (comuni) เข้าไว้ด้วยกัน  มีพื้นที่ประมาณ 3,821 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 272,728 คน (ค.ศ.2010)
              สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขา (hilly) ที่มีภูเขาล้อมรอบ 2 ด้าน คือ ทางทิศเหนือมี มอนเต้ เดล เคียนติ (Monte del Chianti)  ทางทิศใต้มี มอนเต้ เชโตน่า (Monte Cetona)  ทางทิศตะวันออกเป็นหุบเขาวัล ดิ เคียน่า (Val di Chiana)  และมี คอลลิเน่ เมตัลลิเฟเร่ (Colline Metallifere) ซึ่งเป็นเนินเขาสูงๆ ต่ำๆ อยู่ทางทิศตะวันตก
             สิ่งที่น่าสนใจในตัวเมืองซิเอน่า (Siena) จะเป็นศูนย์กลางทางประวัติศาสตร์ (Historic Center) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage) ลำดับที่ 717  จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อปีค.ศ.1995
              ไวน์จากเมืองซิเอน่า นอกจากจะมีไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) และไวน์เคียนติ (Chianti) แล้ว ยังมีไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) และไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) ที่เป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG)  ส่วนที่เหลือจะเป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) และไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) ชั้นดีอีกมากมาย

              ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino)

              ไม่มีใครปฏิเสธว่าไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) หรือที่เราเรียกกันสั้นๆ ว่า ไวน์บรูเนลโล่ นั้น เป็นไวน์ที่ทำชื่อเสียงให้กับแคว้นมากที่สุด  ไวน์ที่เป็นตำนานของชาวมอนตาลชิเนเซ่ (Montalcinese) ได้ก่อกำเนิดมานานกว่า 100 ปี  แหล่งผลิตจะอยู่ในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino)  เท่านั้น  
              มอนตาลชิโน่ อยู่ห่างจากเมืองซิเอน่า (Siena) ไปทางทิศใต้ประมาณ 42 กิโลเมตร เป็นดินแดนที่สงบ อยู่ห่างไกลจากแสงสีและความวุ่นวายของสังคมเมือง แวดล้อมด้วยความสมบูรณ์ของป่าไม้และอากาศบริสุทธิ์  เป็นชุมชนใหญ่ที่อยู่บนเนินเขามีสัณฐานคล้ายชามก๋วยเตี๋ยวที่คว่ำลงบนโต๊ะ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 16 กิโลเมตร จุดสูงสุดจะมีความสูง 567 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีสถานะเป็น ตำบล (Commune) หรือ “Comune” ในภาษาอิตาเลียน  มีพื้นที่รวม 243 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 5,302 คน (ค.ศ.2010)  ซึ่งมีอาชีพเกี่ยวกับการโรงแรมและการเกษตรกรรม   
              ส่วนที่อยู่บนสุดคือ มอนตาลชิโน่ พื้นที่ต่ำลงมาจะเป็นชุมชนเล็กๆ ภายใต้การปกครองอีก 4 แห่ง ที่มีสถานะเป็น หมู่บ้าน (Village) คือ
              หมู่บ้านตอร์เร่นิเอริ (Torrenieri) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
              หมู่บ้านซาน ตันเจโล อิน คอลเล่ (Sant'Angelo in Colle) อยู่ทางทางทิศใต้
              หมู่บ้านคาสเตลนูโอโว เดล ลาบาเต้ (Castelnuovo dell'Abate) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
              และหมู่บ้านซาน ตันเจโล สกาโล่ (Sant'Angelo Scalo) อยู่บริเวณล่างสุด
              ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของชุมชนแห่งนี้มียอดเขามอนเต้ อาเมียต้า (Monte Amiata) ที่สูงถึง 1,738 เมตร เป็นปราการธรรมชาติป้องกันความหนาวเย็นจากเทือกเขาอัปเปนไนน์ (Apennines ranges)  ส่วนอีก 3 ด้านที่เหลือจะรายรอบด้วยหุบเขาอัซโซ่ (Asso Valley) หุบเขาออมโบรเน่ (Ombrone Valley) และแม่น้ำออร์ชา (Orcia River) 
              มีการตั้งถิ่นฐานใน มอนตาลชิโน่ มาตั้งแต่สมัยที่ชาวเอทรุสกัน (Etruscans) เข้ามาในบริเวณเอทรูเรีย (Etruria)  ชุมชนแห่งนี้เป็นดินแดนที่สงบ อยู่ห่างไกลจากแสงสีและความวุ่นวายของสังคมเมือง แวดล้อมด้วยความสมบูรณ์ของป่าไม้และอากาศบริสุทธิ์  คนในชุมชนจะมีอาชีพเกี่ยวกับการโรงแรมและการเกษตรกรรม
              เมื่อย้อนเวลากลับไปในอดีตในช่วงศตวรรษที่ 17-18  ชาวบ้านใน มอนตาลชิโน่ และชุมชนใกล้เคียงจะนิยมดื่มไวน์แดงมีฟองเล็กน้อยที่เรียกกันว่า วิโน่ ฟริซซานเต้ (vino frizzante)  ชายผู้หนึ่งที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนั้ได้มีความคิดที่จะทดลองทำ วิโน่ เซคโค่ (vino secco) หรือ สติล ไวน์ (still wine) เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของคนในท้องถิ่น
              ในปีค..1870  ไวน์ชนิดใหม่จึงถือกำเนิดขึ้นจากฝีมือของ นายแฟร์รุชโช่ บิออนดิ-ซานติ (Ferruccio Biondi-Santi) ซึ่งนำเอาองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) มาทำการตัดต่อกิ่งเพื่อให้มีความต้านทานต่อโรคฟิลล๊อกเซร่า (phylloxera) มาปลูกในไร่ปลูก อิล เกรปโป้ (Il Greppo vineyard) โดยให้ชื่อองุ่นพันธุ์ใหม่ว่า “Sangiovese grosso” หรือ “Brunello”  ส่วนไวน์ที่ทดลองทำออกมานั้นเรียกว่า “Brunello di Montalcino”
              นายแฟร์รุชโช่ เก็บบ่มไวน์ไว้ในถังไม้โอ๊กขนาดใหญ่เป็นเวลานานกว่า 4 ปี และเก็บบ่มไว้ในขวดอีกระยะเวลาหนึ่ง  ซึ่งปรากฏว่าเมื่อนำออกสู่ตลาดก็ได้รับความนิยมพอสมควร   ศิลปะการจัดการในไร่ปลูกองุ่นและความรู้การทำไวน์ของชายผู้นี้ได้รับการถ่ายทอดมาจากนายเคลเมนเต้ ซานติ (Clemente Santi) ผู้เป็นปู่ ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปลูกองุ่น และเคยทำหน้าที่ดูแลผลผลิตทางการเกษตรของเมืองซิเอน่า (Siena)                
              หลังจากที่ใช้เวลาปลุกปั้นอยู่นานเกือบ 20 ปี ความเพียรพยายามก็ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า  ไวน์จากวินเทจ 1888  ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในแคว้น และถูกบันทึกอย่างเป็นทางการว่าเป็น วินเทจแรกของ ไวน์บรูเนลโล่
              ท่านบาโรเน่ ลุยจิ ริคาโซลิ (Barone Luigi Ricasoli) ผู้เป็นนักการเมืองและผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ในถิ่นคาสเตลโล่ ดิ โบรลิโอ (Castello di Brolio) เมืองซิเอน่า (Siena) ได้ดื่มไวน์จากวินเทจดังกล่าวถึงกับชื่นชมว่าเขายังไม่เคยทำไวน์ที่ยอดเยี่ยมเช่นนี้มาก่อนเลย พร้อมกับได้นำเอาแบบอย่างวิธีการผลิตไปใช้กับไวน์เคียนติ (Chianti)  
              ในปัจจุบัน ไวน์บรูเนลโล่ วินเทจ 1888 และ 1891 ยังคงเก็บไว้ในห้องสมุดของบริษัท อิล เกรปโป้ (Tenuta Il Greppo)  เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความสำเร็จของคนในตระกูลบิออนดิ-ซานติ (Biondi-Santi family)
              ความยิ่งใหญ่ของ ไวน์บรูเนลโล่ ข้ามมาถึงศตวรรษใหม่  จนกระทั่งในปีค..1988  ก็ได้รับเกียรติจากนายฟรานเชสโก้ คอสซิก้า (Francesco Cossiga) ผู้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 8 แห่งสาธารณรัฐอิตาลี  ให้จัดพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวาระครบ 100 ปี
              ไวน์บรูเนลโล่ ถูกกำหนดให้เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ในปีค.ศ.1963  ได้รับการยกระดับขึ้นเป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) เมื่อปีค.ศ.1980  การผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Consorzio del Vino Brunello di Montalcino)  โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.  ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) จะต้องทำการผลิตในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino)  เท่านั้น
2.  ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) จะต้องใช้องุ่นแดงพันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) 100 เปอร์เซ็นต์ 
3.  ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 8,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์ 
4.  ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) จะต้องใช้เวลาเก็บบ่มในถังไม้ (barrel) ไม่ต่ำกว่า 24 เดือน และเก็บบ่มในขวดไม่ต่ำกว่า 4 เดือน  อนุญาตให้ออกสู่ตลาดหลังจากวันที่ 1 มกราคม ของปี่ที่ 5 หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว แต่สำหรับชนิด “Riserva” จะต้องเก็บบ่มในขวดไม่ต่ำกว่า 6 เดือน และอนุญาตให้ออกสู่ตลาดหลังจากวันที่ 1 มกราคม ของปี่ที่ 6 หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว
5.  ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) จะต้องมีลักษณะตามที่กำหนด คือ  ไวน์มีความสดใสไม่ขุ่นมัว  มีสีแดงทับทิมสดใสเมื่อเป็นไวน์ใหม่และมีประกายสีแดงโกเมนเมื่อผ่านการเก็บบ่ม  กลิ่นของไวน์จะต้องเป็นกลิ่นองุ่นที่นำมาทำการผลิตและจะพัฒนาไปเป็นกลิ่นอื่นในช่วงเวลาของการเก็บบ่ม (maturation period)  รสชาติต้องมีความนุ่มนวลสมดุลกลมกลืน ดราย และมีแทนนินชัดเจน  ระดับแอลกอฮอล์ต้องไม่ต่ำกว่า 12.5 เปอร์เซ็นต์  และมีแอซิดรวม (total acidity) ไม่น้อยกว่า 5 กรัมต่อลิตร
6.  ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) จะต้องทำการบรรจุในขวดแก้วทรงบอร์โด (Bordeaux-styled bottle)  และกระทำในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) เท่านั้น
              กฏเกณฑ์นี้กำหนดขึ้นมาเมื่อปีค..1980  ซึ่งแต่เดิมผู้ผลิตไวน์จะใช้ถังสลาโวเนียนโอ๊ก (Slavonian oak) ในการเก็บบ่มไวน์  แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไปความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ก็ผ่านเข้ามา ผู้ผลิตไวน์หลายรายได้นำเอาถังอเมริกัน โอ๊ก (American oak) และถังบาร์ริค (barrique) มาใช้ในกระบวนการผลิตไวน์  ทำให้ต้องมีการปรับปรุงกฏเกณฑ์ใหม่เมื่อปีค..1998 
              ไวน์บรูเนลโล่ จะมีวิธีการผลิต 2 แบบ  ผู้ผลิตเก่าแก่หลายรายยังคงให้ความสำคัญกับ วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม (traditionally styled) มีการเก็บบ่มไวน์ในถังไม้ขนาดใหญ่ที่เรียกันว่า บ๊อตติ (botti) ซึ่งเป็นทั้งถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) หรือถังไม้เชสนัท (Chestnut)  ผู้ผลิตอีกส่วนหนึ่งจะใช้ วิธีการผลิตสมัยใหม่ (modern interpretations) มีการเก็บบ่มไวน์ในถังบาร์ริค (barrique) เพื่อเป็นไปตามความต้องการของตลาดในต่างประเทศ 
              ผู้ที่ชื่นชอบไวน์ที่มีวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม (traditionally styled) จะชอบ “aroma” ที่บางเบาขององุ่น “Brunello” และกลิ่นของผลไม้ป่า มีแทนนินและแอซิดสูง ไวน์ต้องการเก็บในเซลล่าร์ (cellar) เป็นเวลานาน  ส่วนไวน์ที่มีวิธีการผลิตสมัยใหม่ (modern interpretations) จะมีแทนนินที่นุ่มนวลกว่า มีกลิ่นของผลเชอร์รี่ดำ และกลิ่นวานิลลา 
              ผู้ผลิตไวน์โดยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ ที่ใช้แรงงานในครอบครัว ให้ความสำคัญในการปลูกองุ่นด้วยแรงคนและเก็บองุ่นในไร่ปลูกด้วยมือ ส่วนการทำไวน์ก็จะมีความพิถีพิถันในการคัดเลือกองุ่นที่ดี  ผู้ผลิตเหล่านี้จะมีพื้นที่ปลูกองุ่น 10-20 เฮ็คต้าร์ เท่านั้น  แต่ก็มีผู้ผลิตรายใหญ่ที่ใช้พื้นที่ปลูกองุ่นมาก มีการจัดการในไร่ปลูกอย่างเป็นระบบและมีกระบวนการผลิตที่ทันสมัย  ซึ่งผู้ผลิตบางรายในกลุ่มนี้จะไม่ใช่คนท้องถิ่น และผู้ผลิตบางรายก็มีธุรกิจอื่นๆ เคียงคู่ไปกับการทำไวน์
              ความละเอียดอ่อนของสภาพอากาศเฉพาะถิ่น (micro-climate) มีส่วนสำคัญต่อคุณภาพของไวน์ที่ผลิตออกมา  ผู้ผลิตไวน์จะรู้ถึงความแตกต่างของคาแรคเตอร์ของผลองุ่นที่ปลูกบนที่ราบเอียงด้านทิศเหนือที่มีความหนาวเย็นกว่าและมีแดดน้อยกว่าประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ผลองุ่นที่ปลูกในพื้นที่นั้นเมื่อนำไปทำไวน์จะให้ “aroma” ที่หอมกรุ่นกว่า ให้ความเป็นองุ่นบรูเนลโล่ (Brunello) ที่ชัดเจนกว่า  ส่วนที่ราบเอียงด้านทิศใต้ที่ได้รับแสงแดดมากกว่าจะให้พลังแฝงเร้นที่หนักแน่น  ผู้ผลิตรายใหญ่เกือบทั้งหมดจะมีไร่ปลูกอยู่ในทั้งสองพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการนำองุ่นจากไร่ปลูกทั้งสองแห่งมาผสมผสานกัน
              ความนิยมต่อ ไวน์บรูเนลโล่ เป็นไปอย่างก้าวกระโดด  ในวินเทจ 1975 มีผู้ผลิต 25 รายมีผลผลิตเพียงแค่ 8 แสนขวด  แต่ในวินเทจ 1995 มีผู้ผลิตไวน์ 120 ราย มีผลผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 3 ล้านขวด  และปัจจุบันมีผู้ผลิตมากกว่า 200 ราย มีผลผลิตไวน์มากกว่า 7 ล้านขวด 
              ผู้ผลิตไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino Wine Producers) ในปัจจุบันผู้ผลิต ไวน์บรูเนลโล่จะมีมากกว่า 200 ราย ไม่นับผู้ผลิตรายย่อยระดับท้องถิ่น         
              บริษัท ฟรังโก้ บิออนดิ-ซานติ (Franco Biondi-Santi)  เป็นผู้ผลิตไวน์ที่มีประวัติความเป็นมานานกว่า 100 ปี จากการที่บุคคลในตระกูลบิออนดิ-ซานติ (Biondi-Santi family) เป็นผู้สร้างสรร ไวน์บรูเนลโล่  และทายาทในตระกูลก็ยังคงสืบทอดการทำไวน์มาหลายชั่วอายุคน  ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของนายตานเครดิ ซานติ (Tancredi Santi)
              ผู้ผลิตรายนี้มีไร่ปลูกองุ่น 2 แห่ง อิล เกรปโป้-Il Greppo” และ อิล ปิเอริ-Il Pieri”  ซึ่งมีพื้นที่รวม 124 เฮ็คต้าร์ บนพื้นที่สูง 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  ต้นองุ่นในแปลงที่เก่าแก่ที่สุดได้ปลูกมาตั้งแต่ปีค.ศ.1930  มีผลผลิตไวน์ 70,000 ขวดต่อปี 
              การผลิตไวน์ยังคงใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม (traditionally styled) ที่มีการเก็บบ่มไวน์ในถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาดใหญ่ แต่บางส่วนของอุปกรณ์การผลิตได้นำเอาอุปกรณ์ที่ทันสมัยมาใช้บ้างตามความจำเป็น  ในปัจจุบันทำ ไวน์บรูเนลโล่ ออกมา 3 ฉลาก คือ ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ฉลากธรรมดา และไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ ป๊อจโจ้ ซัลวิ (Brunello di Montalcino Poggio Salvi) ที่ใช้องุ่นจากไร่ปลูก อิล เกรปโป้ ที่มีอายุ 15 ปี 
              ส่วนไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ ริแซร์ว่า (Brunello di Montalcino Ris.) ใช้องุ่นที่มีอายุเกือบ 30 ปี และทำเฉพาะในวินเทจที่ดีเท่านั้น 
              ผู้ผลิตรายนี้ได้แนะนำว่า ไวน์บรูเนลโล่ทุกฉลาก ขอให้เปิดทิ้งไว้ 8 ชั่วโมงก่อนดื่ม
              บริษัท คาสเตลโล่ บานฟิ (Castello Banfi)  เป็นผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ที่ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อปีค.ศ.1978  โดยนายจอห์น มาเรียนิ จูเนียร์ (John Mariani, Jr.) ชาวอเมริกันเชื้อสายอิตาเลียน  มีฐานที่มั่นใหญ่โตและกว้างขวางอยู่ในหมู่บ้านซาน อันเจโล อิน คอลเล่ (San Angelo in Colle)  มีที่ดินมากมายมหาศาลถึง 7,100 เอเคอร์ ใช้ปลูกองุ่น 2,400 เอเคอร์ 
              ในปีค.ศ.1984  ซื้อที่ดินเพิ่มอีก 2,600 เอเคอร์ ซึ่งบนที่ดินผืนใหม่นี้มีปราสาทหินหลังใหญ่มีหอคอยสูงตระหง่านที่สร้างในสมัยศตวรรษที่ 12 รวมอยู่ด้วย  ปราสาทหินหลังนี้ได้กลายเป็นโรงผลิตไวน์ที่ทันสมัย เป็นที่พักสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน และเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท คาสเตลโล่ บานฟิ (Castello Banfi)
              ในวินเทจแรกๆ ได้ว่าจ้างนายเอซิโอ้ ริเวลล่า (Ezio Rivella) เป็นที่ปรึกษาด้านการผลิตไวน์ ซึ่ง ไวน์บรูเนลโล่ วินเทจ 1978  ใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม (traditionally styled) มีการเก็บบ่มไวน์ในถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาดใหญ่เป็นเวลานานถึง 4 ปี 
              แต่นับจากวินเทจ 1990 เริ่มนำเอาถังบาร์ริค (barrique) มาทดลองใช้เก็บบ่มไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ ป๊อจโจ้ อัล โลโร่ ริแซร์ว่า (Brunello di Montalcino Poggio all’Oro Ris.) เพียง 20 เปอร์เซ็นต์  และอีก 7 ปีต่อมาก็ยกเลิกการใช้ถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak)  ซึ่งในปัจจุบันถือได้ว่าใช้วิธีการผลิตแบบสมัยใหม่ (modern interpretations) อย่างเต็มตัว
              บริษัท คาสเตลโล่ บานฟิ (Castello Banfi)  ร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งเมืองมิลาน (University of Milan) ได้ทำโครงการวิจัยและพัฒนาองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่ดีที่สุดที่จะนำมาทำไวน์  เนื่องจากเห็นว่าองุ่นพันธุ์นี้มีความอ่อนไหวต่อสภาพอากาศ (climate) และแตร์รัว (terroir) เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลากหลายในเรื่องชนิดของดินในแคว้นทัสคานี (Tuscany) จึงจำเป็นที่จะต้องมีการทำการวิจัยในเรื่องของดินแทบจะทุกตารางนิ้วเลยก็ว่าได้
              โครงการนี้ได้ทำการเก็บรวมรวมสายพันธุ์ต่างๆ ขององุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 650 สายพันธุ์ ทั้งที่เป็นสายพันธุ์แท้และที่เกิดจากการผสมพันธุ์ แม้กระทั่งการผ่าเหล่าจากสภาพอากาศเฉพาะถิ่น (micro-climate)  และก็ได้ 15 สายพันธุ์ที่มีคุณภาพเยี่ยมที่นำมาทำไวน์  ซึ่งโครงการนี้ได้ก่อเกิดประโยชน์ต่อชุมชนเป็นอย่างมาก  ผู้ผลิตไวน์มากรายได้นำเอาสายพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) จากการวิจัยไปทำไวน์บรูเนลโล่ ระดับคุณภาพ
อ.ธีระศักดิ์ รัศมิทัต กับ มร.จาโคโม่ เนริ
              บริษัท คาซ่าโนว่า ดิ เนริ (Casanova di Neri) แห่งหมู่บ้านตอร์เร่นิเอริ (Torrenieri)
เป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ ที่ก่อตั้งในปีค.ศ.1971 โดยนายโจวานนิ เนริ (Giovanni Neri) มีพื้นที่ปลูกองุ่น 36 เฮ็คต้าร์  ในปัจจุบันกิจการทั้งหมดตกทอดมาถึงนายจาโคโม่ เนริ (Giacomo Neri)  ผู้เป็นลูกชาย
              นายจาโคโม่ เนริ (Giacomo Neri) มี ไวน์บรูเนลโล่ 3 ฉลาก ที่มีคาแรคเตอร์แตกต่างกันออกไป 
              ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้ (Brunello di Montalcino Cerretalto) เป็นไวน์ชนิด “riserva”  จะผลิตออกมาต่อเมื่อได้องุ่นที่ดีเยี่ยมเท่านั้น  ทำการผลิตครั้งแรกในวินเทจ 1986 จากฝีมือของนายจาโคโม่ เนริ (Giacomo Neri) โดยมีด๊อกเตอร์คาร์โล แฟร์รินิ (Dr.Carlo Ferrini) เป็นที่ปรึกษาด้านการผลิตไวน์  ใช้องุ่นที่มียีลด์ต่ำที่คัดเลือกอย่างดีจากไร่แชร์เรตาลโต้ (Cerretalto Vineyard) แต่เพียงแห่งเดียว  บริเวณที่ตั้งของไร่องุ่นมีระดับความสูง 250-280 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลและหันหน้าออกสู่ทิศใต้ รายล้อมด้วยปราการธรรมชาติที่ป้องกันลมหนาวจากเทือกเขาอัปเปนไนน์ (Apennines ranges) และป้องกันลมร้อนที่พัดมาจากทะเลไทเรเนียน (Tyrrhenian Sea)  ไร่ปลูกแห่งนี้แตร์รัวร์ (terroir) มีลักษณะพิเศษที่เป็นดินผสมก้อนกรวดขนาดเล็กและมีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบหลัก มีต้นองุ่นเก่าแก่อายุเกือบ 50 ปี  ใช้วิธีการผลิตแบบสมัยใหม่ (modern interpretations) เก็บบ่มไวน์ถังไม้โอ๊กขนาด 300 ลิตร จากประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 27 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 27 เดือน
              แชร์เรตาลโต้” 4 วินเทจแรก คือ วินเทจ 1986 / 1988 / 1990 และ 1993  จะมีคำว่า “Riserva” บนฉลากไวน์  แต่นับจากวินเทจ 1995  เป็นต้นไปได้เปลี่ยนฉลากไวน์เป็นสีดำ และไม่มีคำนี้ปรากฏให้เห็น  แต่นักดื่มที่เป็นแฟนพันธุ์แท้จะรู้กันดีว่าไวน์ฉลากนี้เป็นชนิด “Riserva”  
              ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ เตนูต้า นูโอว่า (Brunello di Montalcino Tenuta Nuova) ผลิตครั้งแรกในวินเทจ 1993  ใช้วิธีการผลิตแบบผสมผสานทั้งสองคาแรคเตอร์เข้าด้วยกัน โดยมีการเก็บบ่มไวน์ในถังไม้โอ๊กขนาด 600 ลิตร เป็นเวลา 29 เดือน และเก็บบ่มในขวดเป็นเวลา 24 เดือน
              ส่วนไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ฉลากดั้งเดิมที่นายโจวานนิ เนริ (Giovanni Neri) ผลิตมาตั้งแต่ปีค.ศ.1971  จะเก็บบ่มในถังไม้สลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาด 40 และ 77 เฮ็คโตลิตร เป็นเวลานานถึง 45 เดือน ซึ่งถังไม้กลุ่มนี้จะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 20 ปี  จากนั้นจะเก็บบ่มในขวดเป็นเวลา 15 เดือน  ไวน์ฉลากนี้จึงแสดงออกถึงความเป็น ไวน์บรูเนลโล่ ของชาวทัสกัน (Tuscans) อย่างแท้จริง 
              บริษัท เชนโตลานิ (Agricola Centolani) เป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ บนพื้นที่ปลูกองุ่น 40 เฮ็คต้าร์ ของนางโอลก้า เปลูโซ่ เชนโตลานิ (Olga Peluso Centolani)  มีไร่ปลูก 2 แห่ง คือ ไร่ปลูกฟริจจาลิ (Friggiali Vineyard) บนความสูง 450 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จะอยู่ทางทิศตะวันตกที่ได้รับแสงแดดมากกว่า ส่วนไร่ปลูกปิเอตราเนร่า (Pietranera Vineyard) เป็นที่ราบเอียงอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งองุ่นที่ปลูกจากไร่ปลูกทั้งสองแห่งถูกนำมาทำ ไวน์บรูเนลโล่ ที่คาแรคเตอร์แตกต่างกัน
              ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ เตนูต้า ฟริจจาลิ (Brunello di Montalcino Tenuta Friggiali) ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ ปิเอตราเนร่า (Brunello di Montalcino Pietranera) และไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ ดอนน่า โอลก้า (Brunello di Montalcino Donna Olga)  ใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม (traditionally styled) ที่มีการเก็บบ่มไวน์ในถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาด 50 เฮ็คโตลิตร อย่างยาวนาน
              บริษัท แชร์บาโยล่า (La Cerbaiola)  เป็นผู้ผลิตรายเล็กๆ ของตระกูลซัลวิโอนิ (Salvioni family)  มีไร่ปลูกอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของ มอนตาลชืโน่ บนความสูง 380 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  ทำไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) เพียงปีละ 9,500 ขวด โดยใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม (traditionally styled) มีการเก็บบ่มไวน์ในถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาดใหญ่เป็นเวลา 24 เดือน เป็นหนึ่งใน ไวน์บรูเนลโล่ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
              บริษัท ชาชชิ ปิคโคโลมินิ ดาราโกน่า (Ciacci Piccolomini d’Aragona) แห่งหมู่บ้านคาสเตลนูโอโว เดล ลาบาเต้ (Castelnuovo dell'Abate) ที่มีความเป็นมาหยั่งลึกไปถึงศตวรรษที่ 17  ปัจจุบันเป็นกิจการของตระกูลเบียงคินิ (Bianchini family)   ทำไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ เปียนรอซโซ่ (Brunello di Montalcino Pianrosso) โดยใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม (traditionally styled) เก็บบ่มไวน์ในถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาด 20 และ 62 เฮ็คโตลิตร เป็นเวลา 36 เดือน 
              บริษัท ปิเอเว่ ซานต้า เรสติตูต้า (Pieve Santa Restituta) ของนายโรแบร์โต้ เบลลินิ (Roberto Bellini) และฟรังก้า (Franca) ผู้ภรรยา ที่ซื้อจากเจ้าของรายเดิมเมื่อปีค.ศ.1972  และนายอันเจโล กาย่า (Angelo Gaja) เข้ามาร่วมลงทุนเมื่อปีค.ศ.1994 
              การผลิตเริ่มขึ้นจากวินเทจ 2004  โดยผลิตไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ เรนนิน่า (Brunello di Montalcino Rennina) องุ่นจากหลายพื้นที่ และผลิตไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ ซูการิลเล่ (Brunello di Montalcino Sugarille) ที่ใช้องุ่นจากไร่ปลูกแห่งเดียว (single vineyard)  ไวน์ทั้งสองเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 12 เดือน หลังจากนั้นจะเก็บบ่มในถังไม้โอ๊กขนาดใหญ่อีก 12 เดือน
              บริษัท ป๊อจโจ้ อันติโก้ (Poggio Antico) ของนายจานคาร์โล โกรเดอร์ (Giancarlo Gloder) ชาวเมืองมิลาน ที่เริ่มดำเนินกิจการเมื่อปีค.ศ.1984  ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของนางเปาล่า โกลเดอร์ มอนเตฟิออริ (Paola Gloder Montefiori)        
              ทำไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ อัลเตโร่ (Brunello di Montalcino Altero) โดยใช้วิธีการผลิตแบบสมัยใหม่ (modern interpretations) เก็บบ่มไวน์ถังไม้โอ๊กขนาด 500 ลิตร จากประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 24 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 24 เดือน
              ส่วนไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ ริแซร์ว่า (Brunello di Montalcino Ris.) เก็บบ่มไวน์ถังไม้โอ๊กขนาด 500 ลิตร จากประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 12 เดือน จากนั้นจะถ่ายลงเก็บบ่มในถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาด 55 เฮ็คโตลิตร เป็นเวลา 30 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 18 เดือน
              ไวน์บรูเนลโล่ ของ บริษัท ป๊อจโจ้ อันติโก้ (Poggio Antico) ทั้งสองฉลากเป็นฝีมือของด๊อกเตอร์คาร์โล แฟร์รินิ (Dr.carlo Ferrini)  
              คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Consorzio del Vino Brunello di Montalcino) ได้เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับวินเทจที่ดีของไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino)  40 ปีย้อนหลัง ไว้ดังนี้
              ที่จัดอยู่ในระดับ 5 ดาว จะมาจากวินเทจ 1975 / 1985 / 1988 / 1990 / 1995 และ 1997  รวมถึงที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 5 ดาว  คือ 2004 / 2006 และ 2007
     
              ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) 
              ใน มอนตาลชิโน่ ยังมีการผลิตไวน์แดงที่เป็นตัวรองของ ไวน์บรูเนลโล่ ที่กล่าวถึง  โดยผู้ผลิตไวน์เกือบทุกรายในชุมชนแห่งนี้จะผลิต ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ ด้วยเช่นกัน  ทั้งนี้ก็เป็นที่รู้กันว่าองุ่นที่เหลือหรือองุ่นที่คุณภาพรองลงไปจะไปรวมกันอยู่ที่ไวน์ตัวนี้ จะมีผู้ผลิตบางรายเท่านั้นที่อุทิศตัวให้กับไวน์ตัวรองตัวนี้โดยการคัดองุ่นชั้นดีไปทำไวน์
              ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ ได้รับการขนานนามว่าเป็น “baby Brunello”  เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ที่กำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1983  การผลิตไวน์อยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Consorzio del Vino Brunello di Montalcino)  โดยมีสาระสำคัญที่คล้ายกันกับ ไวน์บรูเนลโล่ ดังนี้
1.  ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) จะต้องทำการผลิตในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino)
2.  ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) จะต้องใช้องุ่นแดงพันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) 100 เปอร์เซ็นต์ 
3.  ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 9,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์
4.  ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) จะต้องมีอัตราส่วนระหว่างไวน์กับจำนวนน้ำหนักผลองุ่น ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์
5.  ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) จะต้องออกสู่ตลาดหลังจากวันที่ 1 กันยายน ของปี่หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว 
6.  ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) จะต้องมีลักษณะตามที่กำหนด คือ  ไวน์มีความสดใสไม่ขุ่นมัว  มีสีแดงทับทิมสดใสเมื่อเป็นไวน์ใหม่และมีประกายสีแดงโกเมนเมื่อผ่านการเก็บบ่ม  กลิ่นของไวน์จะต้องเป็นกลิ่นองุ่นที่นำมาทำการผลิตและจะพัฒนาไปเป็นกลิ่นอื่นในช่วงเวลาของการเก็บบ่ม (maturation period)  รสชาติต้องมีความนุ่มนวลสมดุลกลมกลืน ดราย และมีแทนนินชัดเจน  ระดับแอลกอฮอล์ต้องไม่ต่ำกว่า 12.0 เปอร์เซ็นต์  และมีแอซิดรวม (total acidity) ไม่น้อยกว่า 5 กรัมต่อลิตร
7.  ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) จะต้องทำการบรรจุในขวดแก้วทรงบอร์โด (Bordeaux-styled bottle)  และกระทำในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) เท่านั้น
              คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Consorzio del Vino Brunello di Montalcino) ไม่ได้กำหนดระยะเวลาและวิธีการเก็บบ่มไวน์ ทั้งนี้เนื่องจากต้องการให้อิสระต่อผู้ผลิตในการที่จะทำให้ไวน์พร้อมดื่มเมื่อเป็นไวน์ใหม่ (young wine)
              ผู้ผลิตไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino Wine Producers)
              บริษัท ซิลวิโอ นาร์ดิ (Tenute Sivio Nardi)  ของนางเอมิเลีย นาร์ดิ (Emilia Nardi) ซึ่งก่อตั้งโดยนายซิลวิโอ นาร์ดิ (Sivio Nardi) เมื่อปีค.ศ.1950  เป็นผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ที่สร้างชื่อไว้กับไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ วิเยโต้ มานาเคียร่า (Brunello di Montalcino Vigneto Manachiara) ทำไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) เก็บบ่มในถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาดใหญ่เป็นเวลา 12 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 6 เดือน
              บริษัท คาสเตลโจคอนโด (Castelgiocondo)  ผู้ผลิตไวน์ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของบริษัท มาร์เคสิ เด เฟรสโคบัลดิ (Marchesi de' Frescobaldi) ยักษ์ใหญ่แห่งวงการไวน์ของประเทศอิตาลี จากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ทำไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ คัมโป อาย ซาสซิ (Rosso di Montalcino Campo ai Sassi) เก็บบ่มเป็นเวลา 12 เดือน ซึ่งบางส่วนในถังไม้ถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) และบางส่วนในถังบาร์ริค (barrique) จากนั้นจะเก็บบ่มในขวดอีก 6 เดือน  เป็นหนึ่งในไวน์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง
              บริษัท โดนาเตลล่า ชิเนลลิ โคลอมบินิ (Donatella Cinelli Colombini)  ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1998  โดยนางโดนาเตลล่า ชิเนลลิ โคลอมบินิ (Donatella Cinelli Colombini) ผู้ยังคงเป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาโทในมหาวิทยาลัย 3 แห่ง
              จากประสบการณ์ 14 ปี ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไวน์ซึ่งเป็นธุรกิจของตระกูลทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะมีไวน์ชั้นเยี่ยม  ดังนั้น บริษัท เดล คอลเล่ (Fattoria del Colle Winery) ในตำบลเตรควันด้า (Comune di Trequanda) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) และ บริษัท คาซาโต้ ปริเม่ ดอนเน่ (Casato Prime Donnay Winery) ในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) จึงเป็นฐานการผลิตไวน์ของตนเอง   
              ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ ปริเม่ ดอนเน่ (Rosso di Montalcino Prime Donne) เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 12 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 6 เดือน 
                            
              ไวน์ซาน ตันติโม่ (Sant'Antimo)
              ไวน์ซาน ตันติโม่ (Sant'Antimo)  เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ที่ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1996  แหล่งผลิตอยู่ในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) เขตเมืองซิเอน่า (Siena) เช่นเดียวกันกับไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้ (Brunello di Montalcino) และไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้ (Rosso di Montalcino)  และการผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Consorzio del Vino Brunello di Montalcino) ด้วยเช่นเดียวกัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.  ไวน์ซาน ตันติโม่ (Sant'Antimo) จะต้องทำการผลิตในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino)
2.  ไวน์ซาน ตันติโม่ รอซโซ่ (Sant'Antimo Rosso) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 8,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์  และจะต้องมีอัตราส่วนระหว่างไวน์กับจำนวนน้ำหนักผลองุ่น ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์  
3.  ไวน์ซาน ตันติโม่ รอซโซ่ (Sant'Antimo Rosso) จะต้องใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) พันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์ปิโน เนโร (Pinot nero) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่น้อยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือจะใช้องุ่นแดงที่ปลูกในเขตเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์
4.  ไวน์ซาน ตันติโม่ รอซโซ่ (Sant'Antimo Rosso) จะต้องมีลักษณะตามที่กำหนด คือ  ไวน์มีความสดใสไม่ขุ่นมัว  มีสีแดงทับทิมสดใสเมื่อเป็นไวน์ใหม่และมีประกายสีแดงโกเมนเมื่อผ่านการเก็บบ่ม  กลิ่นของไวน์จะต้องเป็นกลิ่นองุ่นที่นำมาทำการผลิตและจะพัฒนาไปเป็นกลิ่นอื่นในช่วงเวลาของการเก็บบ่ม (maturation period)  รสชาติต้องมีความนุ่มนวลสมดุลกลมกลืน ดราย และมีแทนนินชัดเจน  ระดับแอลกอฮอล์ต้องไม่ต่ำกว่า 12.0 เปอร์เซ็นต์  และมีแอซิดรวม (total acidity) ไม่น้อยกว่า 5 กรัมต่อลิตร
5.  ไวน์ซาน ตันติโม่ เบียงโค่ (Sant'Antimo Bianco) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 9,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์  และจะต้องมีอัตราส่วนระหว่างไวน์กับจำนวนน้ำหนักผลองุ่น ไม่เกิน 70 เปอร์เซ็นต์     
6.  ไวน์ซาน ตันติโม่ เบียงโค่ (Sant'Antimo Bianco) จะต้องใช้องุ่นเขียวพันธุ์ชาร์ดอนเน่ (Chardonnay) พันธุ์โซวินยอง บลอง (Sauvignon blanc) พันธุ์ปิโน กริโจ้ (Pinot grigio) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่น้อยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือจะใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในเขตเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์            
7.  ไวน์ซาน ตันติโม่ วิน ซานโต้ (Sant'Antimo Vin Santo) ชนิดธรรมดา และ “Riserva” จะต้องใช้องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) พันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า (Malvasia bianca) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือจะใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในเขตเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์
8.  ไวน์ซาน ตันติโม่ วิน ซานโต้ (Sant'Antimo Vin Santo) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 9,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์  และจะต้องมีอัตราส่วนระหว่างไวน์กับจำนวนน้ำหนักผลองุ่น ไม่เกิน 31.5 เปอร์เซ็นต์
9.  ไวน์ซาน ตันติโม่ วิน ซานโต้ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ (Sant'Antimo Vin Santo Occhio di Pernice) ชนิดธรรมดา และ “Riserva” จะต้องใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 50-70 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์มาลวาเซีย เนร่า (Malvasia nera) 30-50 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือจะใช้องุ่นแดงที่ปลูกในเขตเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ 
10.      ไวน์ซาน ตันติโม่ วิน ซานโต้ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่  (Sant'Antimo Vin Santo Occhio di Pernice) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 8,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์  และจะต้องมีอัตราส่วนระหว่างไวน์กับจำนวนน้ำหนักผลองุ่น ไม่เกิน 31.5 เปอร์เซ็นต์
11.      จะต้องทำการบรรจุในเขตเมืองซิเอน่า (Siena) เท่านั้น
              ผู้ผลิตไวน์ซาน ตันติโม่ (Sant'Antimo) มีอยู่ไม่มากนัก แต่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ผลิตไวน์ชั้นนำที่ทำไวน์ออกมาได้ดีทีเดียว
              บริษัท คาสเตลโล่ บานฟิ (Castello Banfi)  มีไวน์ซาน ตันติโม่ เอ็กซ์เซลซุส (Sant'Antimo Excelsus) ที่โดดเด่นจากองุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon)  60 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์แมร์โล (Merlot) 40 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังบาร์ริค (Barrique) เป็นเวลา 12 เดือน และเก็บบ่มในขวดอย่างยาวนานเป็นเวลา 1-2 ปี 
              ไวน์ตัวรองลงไปจะเป็น ไวน์ซาน ตันติโม่ ซัมมุส (Sant'Antimo Summus) ใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 60 เปอร์เซ็นต์ นำเอาพันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) รวมกับพันธุ์แมร์โล (Merlot) 40 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 1 เดือน และเก็บบ่มในขวดเป็นเวลา 14-16 เดือน  
              และไวน์ซาน ตันติโม่ คุม เลาเด้ (Sant'Antimo Cum Laude) จะเป็นไวน์ระดับกลางที่ใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 30 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์แมร์โล (Merlot) 30 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) 25 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์ซีราห์ (Syrah) 15 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 14 เดือน และเก็บบ่มในขวดเป็นเวลา 12 เดือน  
              บริษัท คาซาโนว่า ดิ เนริ (Casanova di Neri)  ทำไวน์ซาน ตันติโม่ ปิเอตราโดนิเช่ (Sant'Antimo Pietradonice) โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะใช้องุ่นพันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18 เดือน และเก็บบ่มในขวดเป็นเวลา 6 เดือน 
              แต่นับจากวินเทจ 2005 เป็นต้นไป จะถอดคราบของไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ออก โดยจะผลิตเป็นไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) ในชื่อ ไวน์ปิเอตราโดนิเช่ (Pietradonice) โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 100 เปอร์เซ็นต์   
             
              ไวน์มอสคาเดลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Moscadello di Montalcino)               
              ไวน์มอสคาเดลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Moscadello di Montalcino) เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ที่ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1985  แหล่งผลิตอยู่ในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) เขตเมืองซิเอน่า (Siena) เช่นเดียวกันกับไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้ (Brunello di Montalcino) ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้ (Rosso di Montalcino) และไวน์ซาน ตันติโม่ (Sant'Antimo)
              มีการผลิตทั้งไวน์ขาว (Vino Bianco) ไวน์ขาวมีฟองเล็กน้อย (Vino Frizzante) และไวน์หวานที่มีการเก็บเกี่ยวองุ่นช้ากว่าปกติ (lated harvest)  การผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Consorzio del Vino Brunello di Montalcino)  โดยมีสาระสำคัญดังนี้             
1.  ไวน์มอสคาเดลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Moscadello di Montalcino) จะต้องทำการผลิตในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino)
2.  ไวน์มอสคาเดลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Moscadello di Montalcino) จะต้องใช้องุ่นเขียวพันธุ์มอสกาโต้ เบียงโค่ (Moscato bianco) 100 เปอร์เซ็นต์ ที่ปลูกในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) 
3.  ไวน์มอสคาเดลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Moscadello di Montalcino) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 10,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์ สำหรับไวน์ขาว (Vino Bianco) ไวน์ขาวมีฟองเล็กน้อย (Vino Frizzante)  ส่วนไวน์หวานที่มีการเก็บเกี่ยวองุ่นช้ากว่าปกติ (lated harvest)  ไม่เกิน 5,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์   
4.  ไวน์มอสคาเดลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Moscadello di Montalcino) จะต้องมีลักษณะตามที่กำหนด ดังนี้  สำหรับไวน์ขาว (Vino Bianco) มีสีเหลืองฟางข้าวและมีความสดใส  ไวน์ขาวมีฟองเล็กน้อย (Vino Frizzante) มีสีเหลืองฟางข้าวและมีฟองปรากฏให้เห็น  ส่วนไวน์หวานที่มีการเก็บเกี่ยวองุ่นช้ากว่าปกติ (late harvest) เป็นสีเหลืองฟางข้าว ออกไปทางสีเหลืองทอง  กลิ่นของไวน์ จะต้องเป็นกลิ่นองุ่นที่นำมาทำการผลิต อาจจะพัฒนาไปเป็นกลิ่นอื่นได้บ้างหลังจากการเก็บบ่ม (maturation period)  รสชาติ มีความนุ่มนวลสมดุล และเป็นกลิ่นเฉพาะตัวขององุ่นพันธุ์มอสกาโต้ เบียงโค่ (Moscato bianco)  มีแอซิดรวม (total acidity) ไม่น้อยกว่า 5 กรัมต่อลิตร สำหรับไวน์ขาว (Vino Bianco) และไวน์ขาวมีฟองเล็กน้อย (Vino Frizzante)  ส่วนไวน์หวานที่มีการเก็บเกี่ยวองุ่นช้ากว่าปกติ (late harvest) ไม่น้อยกว่า 4 กรัมต่อลิตร
5.  ไวน์มอสคาเดลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Moscadello di Montalcino) จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ ต้องไม่ต่ำกว่า 10.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับไวน์ขาว (Vino Bianco) และไวน์ขาวมีฟองเล็กน้อย (Vino Frizzante)  ส่วนไวน์หวานที่มีการเก็บเกี่ยวองุ่นช้ากว่าปกติ (lated harvest) ไม่ต่ำกว่า 11.5 เปอร์เซ็นต์
6.  ไวน์มอสคาเดลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Moscadello di Montalcino) จะต้องทำการบรรจุขวดในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino)  และสำหรับไวน์หวานที่มีการเก็บเกี่ยวองุ่นช้ากว่าปกติ (lated harvest) ให้ออกสู่ตลาดหลังจากวันที่ 1 มกราคม ของปี่ที่ 2 หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว 
              ผู้ผลิตไวน์มอสกาเดลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Moscadello di Montalcino) แม้ว่ามีผู้ผลิตไวน์หลายรายก็จริงอยู่ แต่ทว่าไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญต่อไวน์ชนิดนี้มากนัก จึงไม่ค่อยจะมีไวน์ชนิดนี้ได้โดดเด่นออกมาเลย 

Vino Nobile di Montepulciano La Braccesca
              ไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano)
              มอนเต้ปูลชาโน่ เป็นชุมชนเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งที่ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองซิเอน่า (Siena) ถูกค้นพบโดยชาวเอทรัสกัน (Etruscans) เมื่อปีที่ 4 ก่อนคริสตกาล  มีพื้นที่ 165 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 14,522 คน (ค.ศ.2010)
              มีการกล่าวถึงไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 16  โดยเป็นไวน์ที่ถวายให้กับองค์สันตะปาปา ปอล ที่ 3  (Pope Paul III)  และต่อมาได้เป็นที่แพร่หลายในกลุ่มบุคคลชั้นสูง (nobleman) 
              ไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano)  เป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) ที่ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1980  แหล่งผลิตอยู่พื้นที่สูง 250-600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลในตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) เขตเมืองซิเอน่า (Siena)
              มีการผลิตเป็นไวน์แดง (Vino Rosso) ซึ่งการผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ บรูเนลโล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Consorzio del Vino Nobile di Montepulciano) โดยมีสาระสำคัญดังนี้             
1.  ไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) ชนิดธรรมดา และ “Riserva” จะต้องใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์คานายโยโล่ เนโร (Canaiolo nero) ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือจะใช้องุ่นแดงที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ 
2.  ไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) จะต้องทำการผลิตและทำการบรรจุขวดในตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) ยอมให้บรรจุขวดนอกตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) ได้ในกรณีที่ได้ดำเนินการมาแล้วอย่างน้อย 3 ปี ก่อนที่กฏเกณฑ์การผลิตจะมีผลบังคับใช้  แต่จะไม่สามารถใช้คำว่า “Riserva”   
3.  ไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) จะต้องมีปริมาณผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 8,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร
4.  ไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) จะต้องมีระยะเวลาในการเก็บบ่ม (aging period) ไม่น้อยกว่า 2 ปี นับจากวันที่ 1 มกราคม หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว  โดยให้มีทางเลือก 3 แนวทาง
4.1               เก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก 24 เดือน 
4.2               เก็บบ่มในภาชนะชนิดอื่น และระยะเวลาที่เหลือเก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก 18 เดือน                                   
4.3               เก็บบ่มในภาชนะชนิดอื่น และระยะเวลาที่เหลือเก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก 12 เดือน ตามด้วยการเก็บบ่มในขวด 6 เดือน
หากดำเนินการตามข้อ 4.2 และ 4.3  การเก็บบ่มในถังไม้โอ๊กจะต้องกระทำก่อนวันที่ 30 เมษายน หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว  สำหรับชนิด “Riserva” มีระยะเวลาในการเก็บบ่มไม่น้อยกว่า 3 ปี นับจากวันที่ 1 มกราคม หลังจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว  ซึ่งในระยะเวลานั้นจะต้องมีการเก็บบ่มในขวด 6 เดือน จึงจะระบุบนฉลากไวน์ได้
5.  ไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 12.5 เปอร์เซ็นต์  ส่วนชนิด “Riserva” ต้องมีระดับแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 13.0 เปอร์เซ็นต์
6.  ไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) จะต้องออกสู่ตลาดหลังจากวันที่ 1 มกราคม ปีที่ 3 ของฤดูกาลเก็บเกี่ยว  ส่วนชนิด “Riserva” ต้องขยายระยะเวลาไปอีก 1 ปี
              ผู้ผลิตไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano Wine Producers) ในระดับคุณภาพจะมีอยู่หลายรายทีเดียว ซึ่งเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในทวีปยุโรป          
              บริษัท โปลิเซียโน (Azienda Agricola Poliziano)  ของนายเฟเดริโก้ คาร์เลตติ (Federico Carletti) ผู้จบการศึกษาทางด้านการเกษตรกรรม จากมหาวิทยาลัยแห่งเมืองฟลอเรนซ์ (The University of Florence) เมื่อปีค.ศ.1978  เริ่มทำไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อาซิโนเน่ (Vino Nobile di Montepulciano Asinone) มาตั้งแต่วินเทจ 1983 โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) จากต้นองุ่นที่ปลูกมาตั้งแต่ปีค.ศ.1961  ซึ่งในวินเทจที่ดีจะใช้ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนบางวินเทจจะผสมด้วยพันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์โคโลริโน่ (Colorino) 10 เปอร์เซ็นต์  มีการเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 16-18 เดือน  เป็นไวน์ที่มีรสชาติที่ถูกปากคอไวน์ทั่วโลกเนื่องจากกระเดียดไปทางไวน์ฝรั่งเศส ทั้งๆ ที่ใช้องุ่นพื้นเมืองเป็นส่วนผสมหลัก
              บริษัท บอสคาเรลลิ (Poderi Boscarelli)  ของมาร์เคสิ เด แฟร์ราริ คอร์ราดิ (Marchesi de Ferrari Corradi) ซึ่งเริ่มการผลิตไวน์มาตั้งแต่ปีค.ศ.1977  ทำไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ โนโช่ เดอิ บอสคาเรลลิ (Vino Nobile di Montepulciano Nocio dei Boscarelli) เพียงปีละ 6,000 ขวด โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังไม้โอ๊กจากประเทศฝรั่งเศสขนาด 350 ลิตร  เป็นเวลา 14 เดือน และเก็บบ่มในขวด 6 เดือน  ไวน์ฉลากนี้มีความโดดเด่นไม่ต่างไปจากไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ ริแซร์ว่า (Vino Nobile di Montepulciano Ris.) ที่ทำออกมาควบคู่กัน
              บริษัท บินเดลล่า (Societa’ Agricola Bindella)  ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1984 เป็นของตระกูลบินเดลล่า (Bindella family) ซึ่งอพยพมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ทำไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อิ ควอดริ (Vino Nobile di Montepulciano I Quadri) โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) 100 เปอร์เซ็นต์ จากต้นองุ่นเก่าแก่ที่ปลูกมาตั้งแต่ปีค.ศ.1961 เก็บบ่มในถังไม้โอ๊กจากประเทศฝรั่งเศสขนาด 300 ลิตร  เป็นเวลา 18 เดือน และเก็บบ่มในขวด 12 เดือน
              บริษัท เล แบร์เน่ (Podere Le Berne)  เป็นผู้ผลิตไวน์รายเล็กๆ ในหมู่บ้านแชร์โวนยาโน่ (Cervognano) ตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano)  ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1960 โดยนายจุยเซ๊ปเป้ นาตาลินิ (Giuseppe Natalini) ทำไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่  (Vino Nobile di Montepulciano) โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) 97 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือใช้พันธุ์โคโลริโน่ (Colorino)  เก็บบ่มเป็นเวลา 24 เดือน ส่วนหนึ่งในถังสลาโวเนีย โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาดใหญ่  อีกส่วนหนึ่งในถังบาร์ริค และเก็บบ่มในขวด 6 เดือน
              ส่วนไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ ริแซร์ว่า (Vino Nobile di Montepulciano Ris.) ใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือใช้พันธุ์โคโลริโน่ (Colorino) เช่นเดียวกัน  เก็บบ่มเป็นเวลา 36 เดือน ส่วนหนึ่งในถังสลาโวเนีย โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาดใหญ่  อีกส่วนหนึ่งในถังบาร์ริค และเก็บบ่มในขวด 8 เดือน

              ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Rosso di Montepulciano)
              มอนเต้ปูลชาโน่ ยังมีไวน์ตัวรอง คือ ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Rosso di Montepulciano) ไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ที่ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1989  การผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ของ คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ บรูเนลโล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Consorzio del Vino Nobile di Montepulciano) ด้วยเช่นกัน
              ไวน์ที่ผลิตจะเป็นไวน์รอซโซ่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Rosso di Montepulciano) จะใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะใช้องุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ผู้ผลิตยังสามารถนำเอาองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) เข้ามาผสมได้ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์   
              ผู้ผลิตไวน์รอซโซ่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Rosso di Montepulciano Wine Producers)
              โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตใน มอนเต้ปูลชาโน่ จะผลิตทั้งไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) และ ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ ซึ่งเป็นเหตุผลเดียวกันกับผู้ผลิตไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ที่จะต้องมีไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino)
              บริษัท โปลิเซียโน (Azienda Agricola Poliziano) ที่โด่งดังมาจากไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อาซิโนเน่ (Vino Nobile di Montepulciano Asinone) ทำ ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Rosso di Montepulciano) สำหรับพร้อมดื่มเมื่อเป็นไวน์ใหม่ โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) 80 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือใช้พันธุ์แมร์โล (Merlot)  ไวน์บางส่วนถูกเก็บบ่มในถังอเมริกันโอ๊ก (American oak) เป็นเวลานานถึง 8 เดือน ก่อนที่จะออกสู่ตลาด  เป็นไวน์ที่ได้รับความนิยมไม่น้อยไปกว่าไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อาซิโนเน่ (Vino Nobile di Montepulciano Asinone)
              บริษัท บินเดลล่า (Societa’ Agricola Bindella) ทำ ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ ฟอสโซ่ลูปาโย่ (Rosso di Montepulciano Fossolupaio) จากองุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือใช้พันธุ์แมร์โล (Merlot) เก็บบ่มในถังเหล็กไร้สนิม (stainless steel tank)  เป็นเวลา 4 เดือน ซึ่งไวน์จะมีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างไปจากไวน์ของผู้ผลิตรายอื่น

              ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vin Santo di Montepulciano)
              ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vin Santo di Montepulciano) เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ที่ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1996 แหล่งผลิตยังคงอยู่ในตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) เช่นเดียวกัน
              มีการผลิตเป็นไวน์วิน ซานโต้ (Vin Santo) และไวน์วิน ซานโต้ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ (Vin Santo Occhio di Pernice)  ซึ่งการผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ของ คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ บรูเนลโล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Consorzio del Vino Nobile di Montepulciano) โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.  ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vin Santo di Montepulciano) จะต้องทำการผลิตในตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano)
2.  ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vin Santo di Montepulciano) ชนิดธรรมดา และ “Riserva” จะต้องใช้องุ่นเขียวพันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า (Malvasia bianca) พันธุ์เกรเคตโต้ เบียงโค่ (Grechetto bianco) พันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ไม่เกิน 30 เปอร์เซ็นต์
3.  ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vin Santo di Montepulciano) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 10,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์  และจะต้องมีอัตราส่วนระหว่างไวน์กับจำนวนน้ำหนักผลองุ่น ไม่เกิน 35 เปอร์เซ็นต์
4.  ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vin Santo di Montepulciano) จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ ไม่น้อยกว่า 17 เปอร์เซ็นต์ และไม่น้อยกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ สำหรับชนิด “Riserva”
5.  ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ (Vin Santo di Montepulciano  Occhio di Pernice) จะต้องใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือใช้องุ่นที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์  
6.  ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ (Vin Santo di Montepulciano Occhio di Pernice) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นที่เก็บเกี่ยวจากไร่ปลูก ไม่เกิน 8,000 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์  และจะต้องมีอัตราส่วนระหว่างไวน์กับจำนวนน้ำหนักผลองุ่น ไม่เกิน 35 เปอร์เซ็นต์
7.  ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ (Vin Santo di Montepulciano  Occhio di Pernice) จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ ไม่น้อยกว่า 21 เปอร์เซ็นต์ 
8.  ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vin Santo di Montepulciano) และไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ (Vin Santo di Montepulciano  Occhio di Pernice) จะต้องทำการบรรจุในเขตเมืองซิเอน่า (Siena) เท่านั้น  
              ผู้ผลิตไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vin Santo di Montepulciano Wine Producers)
              บริษัท บอสคาเรลลิ (Poderi Boscarelli)  ทำ ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ ฟามิเลีย (Vin Santo di Montepulciano Familiae) โดยใช้องุ่นเขียวพันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า (Malvasia bianca) พันธุ์เกรเคตโต้ เบียงโค่ (Grechetto bianco) และพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) เก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก (oak barrel) เป็นเวลา 48 เดือน
              บริษัท บินเดลล่า (Societa’ Agricola Bindella)  ทำ ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ โดลเช่ ซินโฟเนีย ดิ วัลโลกาย่า (Vin Santo di Montepulciano Occhio di Pernice Dolce Sinfonia di Vallocaia) โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) 60 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับองุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) 40 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก (oak barrel) เป็นเวลา 36 เดือน และเก็บบ่มในขวด 12 เดือน
              บริษัท อาวิโยเนสิ (Avignonesi)  ทำ ไวน์วิน ซานโต้ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ (Vin Santo di Montepulciano Occhio di Pernice) โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก (oak barrel) ขนาด 50 ลิตร เป็นเวลา 10 ปี  เป็นไวน์หวานวิน ซานโต้ (Vin Santo) ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในยุคปัจจุบัน

              ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano)
              ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) เป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) ที่กำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1993  แต่ก่อนหน้านั้นในปีค.ศ.1966 เป็นไวน์ขาวชนิดแรกที่ถูกกำหนดให้เป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOC) เชื่อกันว่าไวน์ขาวชนิดนี้มีจุดกำเนิดมาจากชาวกรีก (Greeks) เมื่อ 800 ปีที่ผ่านมา  แหล่งผลิตอยู่ในตำบลซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano) เขตเมืองซิเอน่า (Siena) โดยใช้องุ่นเขียวพันธุ์แวร์นาชช่า (Vernaccia) เป็นส่วนผสมหลัก 
              ตำบลซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano) เป็นชุมชนขนาดเล็กที่สวยงามที่ถูกค้นพบโดยชาวเอทรุสกัน (Etruscans) ในศตวรรษที่ 3  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองซิเอน่า (Siena) มีพื้นที่ประมาณ 139 ตารางกิโลเมตร และมีประชากร 7,770 คน (ค.ศ.2010)   เนื่องจากเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ยังมีความสมบูรณ์ของสถาปัตยกรรมและสภาพแวดล้อม ทำให้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage) ลำดับที่ 550 จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อปีค.ศ.1990  
              มีการกล่าวถึงพันธุ์แวร์นาชช่า (Vernaccia grape) กันอย่างแพร่หลายทางตอนกลางของคาบสมุทรอิตาลี (Italian Peninsula) มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 14  ซึ่งเป็นยุคฟื้นฟูศิลปและวิทยาการ (Renaissance period)  ในช่วงเวลานั้นเริ่มมีวัฒนธรรมการดื่มไวน์ที่เป็นกิจลักษณะ แทบทุกครัวเรือนจะมีไวน์ขาวอยู่บนโต๊ะอาหารซึ่งทุกคนเรียกว่า แวร์นาชช่า ทั้งๆ ที่ไวน์นั้นอาจไม่ได้ทำมาจากพันธุ์แวร์นาชช่า (Vernaccia grape) 
              แต่ที่มีการบันทึกไว้อย่างเป็นทางการเมื่อมีการส่งไวน์ขาว 80 ขวด จากตำบลซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano) ไปยังกรุงโรมเมื่อปีค.ศ.1541  เพื่อเป็นเครื่องดื่มของสันตะปาปาปอล ที่ 3 (Pope Paul III)  และยังมีการกล่าวถึงว่าเป็นไวน์ที่ตระกูลเมดิชิ (Medici family) ต้องมีไว้เลี้ยงรับรองผู้มาเยือน       
              มีการผลิตเป็นไวน์ขาว (Vino Bianco) แต่เพียงชนิดเดียว ซึ่งการผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ เดลล่า เดโนมินา ซิโอเน่ ซาน จิมินยาโน่ (Consorzio della Denominazione San Gimignano)  โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.  ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) ชนิดธรรมดา และ“Riserva” จะต้องใช้องุ่นเขียวพันธุ์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) ไม่น้อยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์
2.  ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) จะต้องทำการผลิตและทำการบรรจุขวด ในตำบลซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano)           
3.  ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) จะต้องมีการเก็บบ่มในถังเหล็กไร้สนิม (stainless steel tank) ไม่น้อยกว่า 4 เดือน  หากเป็นชนิด “Riserva” ต้องมีการเก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก (oak barrel) ไม่น้อยกว่า 12 เดือน และเก็บบ่มในขวด 6 เดือน 
4.  ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) จะต้องมีลักษณะตามที่กำหนด คือ  ไวน์มีสีเหลืองฟางข้าวและมีความสดใสเมื่อเป็นไวน์ใหม่ และมีประกายสีทองเมื่อผ่านการเก็บบ่ม  กลิ่นของไวน์ จะต้องเป็นกลิ่นองุ่นที่นำมาทำการผลิต อาจจะพัฒนาไปเป็นกลิ่นอื่นได้บ้างหลังจากการเก็บบ่ม (maturation period)  รสชาติ มีความนุ่มนวลสมดุล และดราย  มีแอซิดรวม (total acidity) ไม่น้อยกว่า 5 กรัมต่อลิตร
5.  ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ ต้องไม่ต่ำกว่า 11.0 เปอร์เซ็นต์  และไม่ต่ำกว่า 11.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับชนิด “Riserva”
              ผู้ผลิตไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano Wine Producers)              
              บริษัท มอนเตนิโดลิ (Montenidoli)  ของนางเอลิซาเบตต้า ฟาจูโอลิ (Elisabetta Fagiuoli) ผู้เดินทางกับครอบครัวเข้ามายังตำบลซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano) เมื่อปีค.ศ.1965  ทำ ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ คาราโต้ (Vernaccia di San Gimignano Carato) ที่เป็นไวน์ธง เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 12 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 6 เดือน
              บริษัท โจวานนิ ปานิซซิ (Azienda Agricola Giovanni Panizzi)  ของนายโจวานนิ ปานิซซิ (Giovanni Panizzi) ชาวแคว้นลอมบาร์ดี (LOmbardy) ผู้มีความพิศมัยความเป็นทัสคานี ถึงกับอพยพครอบครัวมาตั้งหลักแหล่งในตำบลซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano) ตั้งแต่ปีค.ศ.1994  ทำ ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่  3 ฉลาก แต่ที่โดดเด่นที่สุดจะเป็น ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ ริแซร์ว่า (Vernaccia di San Gimignano Ris.) ที่มีการเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 12 เดือน
              บริษัท คัลชินาเยีย (Azienda Vinicola Tenuta Le Calcinaie)  ของนายซิโมเน่ ซานตินิ (Simone Santini) ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้าน Wine Technology จากสถาบันการเกษตรแห่งเมืองซิเอน่า (The Siena Agrarian Institute)  เริ่มทำการผลิตไวน์มาตั้งแต่ปีค.ศ.1993 ซึ่งในปีค.ศ.1995 เริ่มปลูกองุ่นโดยวิธี biological method  ทำ ไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ วิย่า อาย ซาสซิ ริแซร์ว่า (Vernaccia di San Gimignano Vigna ai Sassi Ris.) โดยใช้องุ่นจากต้นเก่าแก่อายุมากกว่า 20 ปี เก็บบ่มในถังเหล็กไร้สนิม (stainless steel tank) เป็นเวลา 24 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 12 เดือน ก่อนออกสู่ตลาด  น่าจะเป็นไวน์ขาวที่ดีที่สุดของชุมชนแห่งนี้
             
              ไวน์ซาน จิมินยาโน่ (San Gimignano)
              ในตำบลซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano) ยังมีไวน์ซาน จิมินยาโน่ (San Gimignano) ไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOC) ที่กำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1996  ซึ่งมีการผลิตทั้งไวน์แดง (Vino Rosso) ไวน์วิน ซานโต้ (Vin Santo) และไวน์วิน ซานโต้ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ (Vin Santo Ochhio di Pernice)  การผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ เดลล่า เดโนมินา ซิโอเน่ ซาน จิมินยาโน่ (Consorzio della Denominazione San Gimignano)  ด้วยเช่นกัน โดยมีสาระสำคัญดังนี้           
1.  ไวน์ซาน จิมินยาโน่ รอซโซ่ (San Gimignano Rosso) ชนิดธรรมดา และ “Riserva” ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ไม่น้อยกว่า 70 เปอร์เซ็นต์  พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet Sauvignon) พันธุ์แมร์โล (Merlot) พันธุ์ซีร่าห์ (Syrah) พันธุ์ปิโน เนโร (Pinot nero) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นแดงที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์  หากเป็นชนิดโมโนวาไรทัล (mono varietal) ให้ใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) หรือ พันธุ์แมร์โล (Merlot) หรือ พันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) หรือ พันธุ์ซีร่าห์ (Syrah) หรือ พันธุ์ปิโน เนโร (Pinot nero) ไม่น้อยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือใช้องุ่นแดงที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์        
2.  ไวน์ซาน จิมินยาโน่ วิน ซานโต้ (San Gimignano Vin Santo) ชนิดธรรมดา ใช้องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) ไม่น้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์มาลวาเซีย เดล เคียนติ (Malvasia del Chianti) ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์
3.  ไวน์ซาน จิมินยาโน่ วิน ซานโต้ อ๊อคคิโอ ดิ แปร์นิเช่ (San Gimignano Vin Santo Ochhio di Pernice) ชนิดธรรมดา ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นแดงที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์
              ผู้ผลิตไวน์ซาน จิมินยาโน่ (San Gimignano Wine Producers)                 
              บริษัท นิคโคลาอิ-ปาลาเกตโต้ (Tenute Niccolai-Palagetto)  ของตระกูลนิคโคลาอิ (Niccolai family)  ทำไวน์ซาน จิมินยาโน่ ซ๊อตโต้บอสโก้ (San Gimignano Rosso Sottobosco) โดยผสมผสานองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet Sauvignon) และพันธุ์ซีร่าห์ (Syrah) เข้าด้วยกัน  มีการเก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก (oak barrel) เป็นเวลา 16 เดือน และเก็บบ่มในขวด 12 เดือน  ซึ่งผู้ผลิตไวน์ได้อ้างว่าไวน์ฉลากนี้สามารถเก็บไว้ได้นานไม่ต่ำกว่า 10 ปี 

              ไวน์วัล ดาร์เบีย (Val d'Arbia)
              ไวน์วัล ดาร์เบีย (Val d'Arbia) เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ที่ถูกกำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1985  แหล่งผลิตอยู่ใน 10 ชุมชน เขตเมืองซิเอน่า (Siena) ซึ่งประกอบด้วย
              ตำบลคาสเตลลิน่า อิน เคียนติ (Comune di Castellina in Chianti) ตำบลรัดด้า อิน เคียนติ (Comune di Radda in Chianti) ตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Giaole in Chianti) ตำบลมอนเต้ริจโจนิ (Comune di Monteriggioni) ตำบลคาสเตลนูโอโว เบราร์เดงก้า (Comune di Castelnuovo Berardegna) ตำบลโซวิชิลเล่ (Comune di Sovicille) ตำบลอัสชาโน่ (Comune di Asciano) ตำบลมอนเต้โรนิ ดาร์เบีย (Comune di Monteroni d'Arbia) ตำบลมูร์โล่ (Comune di Murlo) และตำบลบวนคอนเวนโต้ (Comune di Buonconvento) 
              ซึ่งชุมชนทั้งหมดอยู่ใน วัล ดาร์เบีย หุบเขาเล็กๆ ที่เคยเป็นสมรภูมิระหว่างกองทหารของเมืองซิเอน่า (Siena) และกองทหารของเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ในปีค.ศ.1260     
              มีการผลิตทั้งไวน์ขาว (Vino Bianco) และไวน์วิน ซานโต้ (Vin Santo)  การผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ วิโน่ เบียงโค่ วัล ดาร์เบีย (Consorzio Vino Bianco Val d'Arbia) โดยมีสาระสำคัญว่า ไวน์วัล ดาร์เบีย (Val d'Arbia Bianco) และไวน์วัล ดาร์เบีย วิน ซานโต้ (Val d'Arbia Vin Santo) ใช้องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) และพันธุ์มาลวาเซีย เดล เคียนติ (Malvasia del Chianti) 70-90 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ชาร์ดอนเน่ (Chardonnay) 10-30 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์
             
              ไวน์แตร์เร่ ดิ คาโซเล่ (Terre di Casole) 
              ไวน์แตร์เร่ ดิ คาโซเล่ (Terre di Casole) เป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOC) ที่กำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.2007  แหล่งผลิตจะอยู่ในตำบลคาโซเล่ เดลซ่า (Comune di Casole d’Elsa) เขตเมืองซิเอน่า (Siena)
              มีการผลิตทั้งไวน์แดง (Vino Rosso) ไวน์ขาว (Vino Bianco) และไวน์หวานปาสซิโต้ (Passito)  ซึ่งการผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ ดิ ตูเตล่า เดอิ วินิ ดิ คาโซเล่ เดลซ่า (Consorzio di Tutela dei Vini di Casole d’Elsa)  โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.  ไวน์แตร์เร่ ดิ คาโซเล่ รอซโซ่ (Terre di Casole Rosso) ชนิดธรรมดา และ “Superiore”  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 60-80  เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) 20-40  เปอร์เซ็นต์   หากเป็นชนิดโมโนวาไรทัล (mono varietal) ให้ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ไม่น้อยกว่า 85 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์  
2.  ไวน์แตร์เร่ ดิ คาโซเล่ (Terre di Casole Bianco) ชนิดธรรมดา และ “Riserva”  ไวน์แตร์เร่ ดิ คาโซเล่ ปาสซิโต้ (Terre di Casole Passito) ชนิดธรรมดา ใช้องุ่นเขียวพันธุ์ชาร์ดอนเน่ (Chardonnay) ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ 

              ไวน์ออร์ชา (Orcia)
              ไวน์ออร์ชา (Orcia) เป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOC) ที่กำหนดขึ้นเมื่อปีค.ศ.1985  แหล่งผลิตอยู่ใน 13 ชุมชน เขตเมืองซิเอน่า (Siena) ซึ่งประกอบด้วย
              ตำบลคาสติลิโอเน่ ดอร์ชา (Comune di Castiglione d'Orcia) ตำบลเปียนซ่า (Comune di Pienza) ตำบลราดิโคฟานิ (Comune di Radicofani) ตำบลซาน โจวานนิ ดัซโซ่ (Comune di San Giovanni d'Asso) ตำบลซาน คิริโค่ ดอร์ชา (Comune di San Quirico d'Orcia) ตำบลบวนคอนเวนโต้ (Comune di Buonconvento) ตำบลเตรควันด้า (Comune di Trequanda) ตำบลเคียนชาโน่ (Comune di Chianciano) ตำบลซาร์เตอาโน่ (Comune di Sarteano) ตำบลซาน คาสชาโน่ บานยิ (Comune di San Casciano Bagni) ตำบลตอร์ริต้า ดิ ซิเอน่า (Comune di Torrita di Siena) และบางส่วนของตำบลอับบาเดีย ซาน ซาลวาตอเร่ (Comune di Abbadia San Salvatore)  รวมถึงบางส่วนของตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino)   
              มีการผลิตทั้งไวน์แดง (Vino Rosso) ไวน์ขาว (Vino Bianco) และไวน์วิน ซานโต้ (Vin Santo)  การผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตของ คอนซอร์ซิโอ เดล วิโน่ ดอร์ชา (Consorzio del Vino d’Orcia)  โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.  ไวน์ไวน์ออร์ชา รอซโซ่ (Orcia Rosso) ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ไม่น้อยกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือใช้องุ่นแดงที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 40 เปอร์เซ็นต์ และอาจจะใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์                                      
2.  ไวน์ไวน์ออร์ชา เบียงโค่ (Orcia Bianco) ใช้องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์                  
3.  ไวน์ไวน์ออร์ชา วิน ซานโต้ (Orcia Vin Santo) ใช้องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano)  พันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า ลุงก้า (Malvasia Bianca lunga) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่เหลือใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในเมืองซิเอน่า (Siena) ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์
              ผู้ผลิตไวน์ออร์ชา (Orcia Wine Producers)        
              บริษัท ฟอร์เต้ (Podere Forte)  จากตำบลคาสติโยเน่ ดอร์ชา (Comune di Castiglione d'Orcia) ของนายปาสกวาเล่ ฟอร์เต้ (Pasquale Forte)  ผู้ผลิตไวน์ที่เน้นการทำไวน์ออร์ชา (Orcia) อย่างพิถีพิถัน  ทำไวน์ออร์ชา กวาเดียวินย่า (Orcia Guardiavigna) โดยผสมผสานองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) พันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์เปอตี แวร์โด (Petit verdot) เข้าด้วยกันอย่างลงตัว               
              ส่วนผู้ผลิตรายอื่นๆ จะไม่มีความโดดเด่นเท่าใดนัก

                                 ไวน์ซูเปอร์ทัสกัน จากเมืองซิเอน่า
              ในเมืองซิเอน่า (Siena)  ยังมีไวน์อีกกลุ่มหนึ่งที่ผู้ผลิตไวน์ใช้องุ่นสายพันธุ์วินิเฟร่า (V.vinifera) ที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (international grapes)  ไวน์กลุ่มนี้จะไม่ได้รับการยอมรับจากทางการให้เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) หรือไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) เพราะอยู่นอกเหนือข้อกำหนด
              ไวน์กลุ่มนี้เป็นไวน์ที่มีคุณภาพสูง เป็นไวน์แถวหน้าของไวน์อิตาเลียนในยุคปัจจุบัน
              ไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) รุ่นแรกๆ ที่เป็นรุ่นบุกเบิกจะมีการผลิตในเขตเมืองลิวอร์โน่ (Livorno) และในเขตเมืองฟลอเรนซ์ (Florence)  ส่วนไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) รุ่นใหม่ เกือบทั้งหมดถูกผลิตขึ้นในเขตเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Zone) ซึ่งอยู่ในเขตเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) และเขตเมืองซิเอน่า (Siena)  บางส่วนมีการผลิตที่เมืองอื่นๆ บ้าง
              ไวน์กลุ่มนี้เกือบทั้งหมดจะถูกจัดอยู่ในเกรดไวน์ตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT)  มีบางฉลากที่ยังคงเป็นไวน์วิโน่ ดา ตาโวล่า (Vino da Tavola)
              ไวน์อิ โซดิ ดิ ซาน นิโคโล๊ะ (Sodi di San Niccolò) ไวน์โคนิอัลเล่ (Coniale) และ ไวน์ป๊อจโจ้ อาย แมร์ลิ (Poggio ai Merli)   
              เป็นกลุ่มไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท คาสเตลลาเร่ ดิ คาสเตลลิน่า (Castellare di Castellina) ของนายเปาโล ปาเนราอิ (Paolo Panerai) ผู้ผลิตไวน์ชั้นนำจากตำบลคาสเตลลิน่า อิน เคียนติ (Comune di Castellina in Chianti) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1968  ครอบครองพื้นที่ 80 เฮ็คต้าร์บนพื้นที่สูง 370 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  ผลิตไวน์ออกสู่ตลาดปีละประมาณ 250,000 ขวด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico)
              ไวน์อิ โซดิ ดิ ซาน นิโคโล๊ะ เป็นไวน์ระดับมาสเตอร์พีซ (The Masterpiece) ของผู้ผลิตรายนี้ ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1979  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ กรอสโซ่ (Sangiovese grosso) 85-90  เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นพันธุ์มาลวาเซีย เนร่า (Malvasia nera) โดยต้องการที่จะแสดงศักยภาพขององุ่นพื้นเมืองอย่างแท้จริง  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18-30 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 12 เดือน 
              ไวน์โคนิอัลเล่  ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1987 โดยต้องการความแตกต่างจากไวน์อิ โซดิ ดิ ซาน นิโคโล๊ะ ใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 100  เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 12 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 10 เดือน  
              ไวน์ป๊อจโจ้ อาย แมร์ลิ  ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1999  เป็นไวน์ฉลากที่สามของผู้ผลิตไวน์รายนี้ เป็นหนึ่งในไวน์ชั้นนำที่ใช้องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) 100  เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18-30 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 12 เดือน               
             
              ไวน์ซิเอปิ (Siepi) 
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) ระดับครูส์ (crus) จาก บริษัท คาสเตลโล่ ดิ ฟอนเต้รูโตลิ (Castello di Fonterutoli) ผู้ผลิตจากตำบลคาสเตลลิน่า อิน เคียนติ (Comune di Castellina in Chianti) ของตระกูลมาซเซอิ (Mazzei family)  ซึ่งปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ นายลาโป มาซเซอิ (Lapo Mazzei) ชายชราวัย 84 ปี  โดยมีด๊อกเตอร์คาร์โล แฟร์รินิ (Dr.Carlo Ferrini) เป็นที่ปรึกษาด้านการผลิตไวน์
              ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1992  ใช้องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ในสัดส่วนเท่ากัน ยกเว้นในวินเทจ 2002  ต้องใช้พันธุ์แมร์โล (Merlot) 70 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ผลิตได้น้อย  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18 เดือน เก็บบ่มในขวดเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน  มีเป้าหมายที่จะผลิตเพียงปีละ 30,000 ขวด เท่านั้น 

              ไวน์ลัปปาริต้า แมร์โล (L’Apparita Merlot)
              เป็นหนึ่งในไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) ที่หายากจาก บริษัท คาสเตลโล่ ดิ อาม่า (Castello di Ama) ผู้ผลิตจากตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti)  ผู้ผลิตไวน์รายนี้ก่อตั้งในปีค.ศ.1972  โดยความร่วมมือกันระหว่างบุคคล 4 ตระกูล จากกรุงโรม  ในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของนายมาร์โค ปัลลันติ (Marco Pallanti) ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็น Oenologist of the Year 2003  จากสำนักพิมพ์กัมเบโร่ รอซโซ่ (Gambero Rosso Editore)
              ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1985  ใช้องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) 100 เปอร์เซ็นต์ จากต้นองุ่นเก่าแก่ที่มีอายุเกือบ 30 ปี เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) 14-18  เดือน และเก็บบ่มในขวด 12 เดือน  ผลิตเพียงปีละประมาณ 5,000 ขวด ซึ่งในวินเทจที่ดีสามารถวัดรอยเท้ากับไวน์มาสเซโต้ (Masseto) จากบริษัท เดล ลอเนลลาย่า (Tenuta dell’ Ornellaia) ได้เลย 
             
              ไวน์คาซาลแฟร์โร่ (Casalferro)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท คาสเตลโล่ ดิ โบรลิโอ-ริคาโซลิ (Castello di Brolio-Ricasoli) ผู้ผลิตจากตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti) ผู้ผลิตที่ทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) ชั้นดีออกมาหลากหลายฉลาก ที่รู้จักกันดีคือไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ คาสเตลโล่ ดิ โบรลิโอ้ (Chianti Classico Castello di Brolio)  
              ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1993  โดยนายคาร์โล แฟร์รินิ (Carlo Ferrini) เป็นที่ปรึกษาด้านการผลิต ในวินเทจแรกๆ จะใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์ แต่นับจากวินเทจ 1997 เป็นต้นมา ได้นำเอาพันธุ์แมร์โล (Merlot) เข้าผสมด้วย มีการเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) 18  เดือน และเก็บบ่มในขวด 6 เดือน 
            
              ไวน์อิล ฟูตูโร่ (Il Futuro)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท อิล โคลอมบาโย่ ดิ เชนโซ่ (Il Colombaio di Cencio) ของนายแวร์เนอร์ วิลเฮม (Werner Wilhelm) หนุ่มใหญ่ชาวเยอรมันนี  ผู้ผลิตจากตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti) ที่เน้นการผลิตไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) เพื่อไม่ต้องอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์ที่เคร่งครัด       
              ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) โดยมีพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) เป็นส่วนผสมหลัก และพันธุ์แมร์โล (Merlot) เข้ามาผสมในปริมาณเพียงเล็กน้อย  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) 24 เดือน และเก็บบ่มในขวด 6 เดือน                
             
              ไวน์ 50&50 อวิโยเนสิ เอ คาปันเนลล่า (50&50 Avignonesi e Capannelle)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) ที่เกิดจากการประสานประโยชน์กันระหว่าง บริษัท อวิโยเนสิ (Avignonesi) ผู้ผลิตรายใหญ่จากตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) และ บริษัท คาปันเนลเล่ (Azienda Agricola Capannelle) ผู้ผลิตรายเล็กๆ บนพื้นที่ 20 เฮ็คต้าร์ จากตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti)                
              ใช้ส่วนผสมจากองุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) จากบริษัท อวิโยเนสิ (Avignonesi) และองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) จากบริษัท คาปันเนลเล่ (Azienda Agricola Capannelle) อย่างละ 50 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) และถังไม้โอ๊กขนาดกลาง เป็นเวลา 36  เดือน และเก็บบ่มในขวด 12 เดือน โดยผลิตเพียงปีละ 15,000 ขวด เท่านั้น
             
              ไวน์ลา โจย่า (La Gioia) 
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท ริเอชิเน่ (Riecine) ของนายแกรี่ บาวมานน์ (Gary J. Baumann) ชาวอเมริกันผู้มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองมิลาน (Milan)  ผู้ผลิตจากตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti)
              ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1973  เป็นไวน์ซานโจเวเซ่ เบส (Sangiovese-based) และแต่งเติมด้วยคาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) เพียงเล็กน้อย ซึ่งองุ่นในไร่ปลูกทั้งหมดใช้กระบวนการไบโอไดนามิค (biodynamic processes) ที่ปลอดสารพิษ  จากนั้นมีการเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 24  เดือน และเก็บบ่มในขวด 12 เดือน                
              
              ไวน์แปร์คาร์โล (Percarlo) 
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท ซาน จุสโต้ อา เรนเตนนาโน่ (San Giusto a Rentennano) ผู้ผลิตจากตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti) ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่ตอนต้นศตวรรษที่ 12  ก่อตั้งโดยนักบวชในคริสต์ศาสนา และเปลี่ยนมือไปถึงผู้มีบรรดาศักดิ์หลายตระกูล  จนกระทั่งในปัจจุบันตกอยู่ในความครอบครองของตระกูลชิกาล่า (Cigala family) มาตั้งแต่ค.ศ.1957 
              ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 22-24  เดือน และเก็บบ่มในขวด 18 เดือน เพื่อให้ไวน์มีความสมบูรณ์ที่สุดก่อนที่จะออกสู่ตลาด            
              
              ไวน์ซานโจเวโต้ (Sangioveto)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท บาเดีย อะ โคลติบูโอโน่ (Badia a Coltibuono) ผู้ผลิตจากตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti) ของนายปิเอโร่ สตุคคิ-ปริเนตติ (Piero Stucchi-Prinetti) ซึ่งครอบครองพื้นที่เกือบ 1,000 เฮ็คต้าร์ 
              ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์ จากไร่ปลูกที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี (Organic Farm) เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) 12 เดือน และเก็บบ่มในขวด 6 เดือน

เพิ่มคำอธิบายภาพ
              ไวน์คอร์บาย่า (Corbaia) และ ไวน์จิโรลาโม (Girolamo)   
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท คาสเตลโล่ ดิ บอสซิ (Castello di Bossi) ของตระกูลบาชชี่ (Bacci family) ผู้ผลิตจากตำบลคาสเตลนูโอโว เบราร์เดงก้า (Comune di Castelnuovo Berardegna) ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของนายมาร์โค บาชชี่ (Marco Bacci) 
              ผู้ผลิตรายนี้ครอบครองพื้นที่ 650 เฮ็คต้าร์ ซึ่งแต่เดิมปลูกองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) เพื่อทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico)  มาเริ่มปลูกพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) และพันธุ์แมร์โล (Merlot) เมื่อประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา ซึ่งดูเหมือนว่าจะเป็นผู้ผลิตไวน์รายแรกๆ ในเขตเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Zone) ที่ปลูกองุ่นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (international grape)  
              ไวน์คอร์บาย่า  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 70 เปอร์เซ็นต์ ผสมผสานกับพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 30 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 24 เดือน และเก็บบ่มในขวด 12 เดือน 
              ไวน์จิโรลาโม  ใช้องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) 100 เปอร์เซ็นต์ จากต้นองุ่นเก่าแก่ที่อายุมากกว่า 40 ปี  เก็บบ่มในถังบาร์ริคเป็นเวลา 24 เดือน และเก็บในขวดอีก 12 เดือน  นายมาร์โค บาชชี่ (Marco Bacci) ได้บินมาเมืองไทยเพื่อพรีเซนต์ไวน์ของตัวเองถึง 3 ครั้ง มีความชื่นชมไวน์ฉลากนี้เป็นอย่างมาก และมั่นใจว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะเป็นไวน์ที่สามารถต่อกรกับไวน์ทั้งโลกที่ทำจากองุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) ได้เลย 
             
              ไวน์ฟอนตาลโลโร่ (Fontalloro) และ ไวน์มาเอสโตร ราโร่ (Maestro Raro)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท ฟัตตอเรีย ดิ เฟลซิน่า (Fattoria di Felsina) ผู้ผลิตจากตำบลคาสเตลนูโอโว เบราร์เดงก้า (Comune di Castelnuovo Berardenga) ที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในการปลูกองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ซึ่งถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน 
              ไวน์ฟอนตาลโลโร่ ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1983  ซึ่งในเวลานั้นถูกจัดอยู่ในเกรดไวน์วิโน่ ดา ตาโวล่า (Vino da Tavola)  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) และถังไม้โอ๊กขนาด 550 ลิตร เป็นเวลา 18 เดือน  หลังจากนั้นไวน์จากถังบ่มทั้งสองขนาดจะถูกนำไปผสมกันในถังเหล็กไร้สนิมเพื่อทำการบรรจุขวด และเก็บในขวดอีก 12 เดือน      
              ไวน์มาเอสโตร ราโร่  ใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 100 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18 เดือน และเก็บในขวดอีก 10 เดือน  เป็นไวน์อีกฉลากหนึ่งที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง
   
              ไวน์วิโกเรลโล่ (Vigorello)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท ซาน เฟลิเช่ (Agricola San Felice) ผู้ผลิตจากตำบลคาสเตลนูโอโว เบราร์เดงก้า (Comune di Castelnuovo Berardenga) ซึ่งก่อตั้งมานานกว่า 800 ปี ในปัจจุบันเป็นกิจการของกลุ่มบริษัทกรุ๊ปโป้ อลิอันซ์ (Gruppo Allianz S.p.A) 
              ผลิตครั้งแรกในวินเทจ 1968  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 45 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 40 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือใช้พันธุ์แมร์โล (Merlot)  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 20 เดือน และเก็บในขวด 8 เดือน 
              ไวน์จากวินเทจ 1998  เคยได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในไวน์ที่ดีที่สุดในโลกในราคาต่ำกว่า 40 US$  จากนิตยสารไวน์ สเปคเตเตอร์ (Wine Spectator magazine)

              ไวน์โดอุตเดส (Do Ut Des)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท คาร์ปิเนต้า ฟอนตาลปิโน่ (Fattoria Carpineta Fontalpino) ผู้ผลิตจากตำบลคาสเตลนูโอโว เบราร์เดงก้า (Comune di Castelnuovo Berardenga) ของตระกูลเครสติ (Cresti family) ที่ก่อตั้งมานานกว่า 35 ปี
              มีส่วนผสมจากองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) และพันธุ์แมร์โล (Merlot)  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 15 เดือน และเก็บในขวด 8 เดือน   
           
              ไวน์แชร์วิโอโล่ รอซโซ่ (Cerviolo Rosso)  
               เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท ซาน ฟาเบียโน่ คัลชินาย่า (Azienda Agricola San Fabiano Calcinaia) ผู้ผลิตจากตำบลคาสเตลลิน่า อิน เคียนติ (Comune di Castellina in Chianti) ของนายกุยโด เซริโอ (Guido Serio) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1983 
              ทำจากองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 40 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 30 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์แมร์โล (Merlot) 30 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) ใหม่ เป็นเวลา 18 เดือน และเก็บบ่มในขวดเป็นเวลาประมาณ 8 เดือน  ผลิตปีละ 30,000 ขวด

              ไวน์อิล ปาเรโต้ (Il Pareto)  
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท นอซโซเล่ (Tenuta di Nozzole) ผู้ผลิตจากตำบลเกรเว่ อิน เคียนติ (Comune di Greve in Chianti) ของนายอัมโบรโจ้ โฟโลนาริ (Ambrogio Folonari) ผู้มีธุรกิจไวน์อยู่มากมาย ได้เข้ามาซื้อกิจการจากเจ้าของรายเดิมเมื่อปีค.ศ.1971
              ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1985  ใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18 เดือน ซึ่งมีทั้งถังใหม่และถังที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว 1 ครั้ง และเก็บในขวดอีก 6 เดือน

              ไวน์บรันคาย่า อิล บลู (Brancaia Il Blu) ไวน์บรันคาย่า (Brancaia Tre) และไวน์บรันคาย่า อิลาตราย่า (Brancaia Ilatraia)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) สามพี่น้องจาก บริษัท ลา บรันคาย่า (La Brancaia) ผู้ผลิตไวน์รายเล็กๆ จากตำบลรัดด้า อิน เคียนติ (Comune di Radda in Chianti) ของตระกูลวิลเมอร์ (Wilmer family) ชาวสวิสที่เข้ามาซื้อกิจการจากเจ้าของรายเดิมเมื่อปีค.ศ.1981  โดยมีด๊อกเตอร์คาร์โล แฟร์รินิ (Dr.Carlo Ferrini) เป็นที่ปรึกษาด้านการผลิต   
              ไวน์บรันคาย่า ผลิตครั้งแรกในวินเทจ 1988  แต่เป็นที่รู้จักกันดีนับจากวินเทจ 1994 เป็นต้นมา  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 50 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์แมร์โล (Merlot) 45 เปอร์เซ็นต์ และส่วนที่เหลือใช้พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon)  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 20 เดือน และเก็บในขวดอีก 4 เดือน  เปลี่ยนชื่อเป็น ไวน์บรันคาย่า อิล บลู (Brancaia Il Blu) ตั้งแต่วินเทจ 2000  เมื่อต้องการแตกไลน์การผลิตออกให้หลากหลาย 
              ไวน์บรันคาย่า เตร ผลิตครั้งแรกในวินเทจ 2000  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) เป็นส่วนผสมหลัก จะแต่งเติมด้วยพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) และพันธุ์แมร์โล (Merlot) เล็กน้อย  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 12 เดือน และเก็บในขวดอีก 3 เดือน 
              ไวน์บรันคาย่า อิลาตราย่า (Brancaia Ilatraia) ผลิตครั้งแรกในวินเทจ 2002  ใช้องุ่นจากไร่ปลูกแห่งใหม่ชายฝั่งทะเลมาเรมม่า (Maremma Coastal) โดยมีองุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 60 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 30 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์เปอตี แวร์โด (Petit verdot) 30 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18 เดือน และเก็บในขวดอีก 4 เดือน 
                                                   
              ไวน์เล แปร์โกเล่ ตอร์เต้ (Le Pergole Torte) และไวน์มอนเต้แวร์ติเน่ (Montevertine)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) คู่แฝดจาก บริษัท ฟัตตอเรีย ดิ มอนเต้แวร์ติเน่ (Fattoria di Montevertine) ผู้ผลิตจากตำบลรัดด้า อิน เคียนติ (Comune di Radda in Chianti) ของนายแซร์โจ้ มาเนตติ (Sergio Manetti) ที่เริ่มทำการผลิตในวินเทจ 1971
              ไวน์เล แปร์โกเล่ ตอร์เต้  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak)  เป็นเวลา 18 เดือน ก่อนที่จะถ่ายลงเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 6 เดือน และเก็บในขวดอีก 6 เดือน   
              ไวน์มอนเต้แวร์ติเน่  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่เป็นส่วนผสมหลัก (Sangiovese-based) แต่งเติมด้วยพันธุ์คานายโยโล่ เนโร (Canaiolo nero) และพันธุ์โคโลริโน่ (Colorino) เพียงเล็กน้อย มีวิธีการเก็บบ่มและใช้ระยะเวลาเช่นเดียวกันกับไวน์เล แปร์โกเล่ ตอร์เต้ (Le Pergole Torte)
             
              ไวน์อัชชาโยโล่ (Acciaiolo)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท คาสเตลโล่ ดัลโบล่า (Castello d’Albola) ผู้ผลิตจากตำบลรัดด้า อิน เคียนติ (Comune di Radda in Chianti) ของตระกูลโซนิน (Zonin family) ที่ซื้อมาจากเจ้าของรายเดิมเมื่อปีค.ศ.1979
              ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 65 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 35 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 14 เดือน จากนั้นถ่ายลงในถังเหล็กไร้สนิม (stainless steel tank) เป็นเวลา 6 เดือน และเก็บในขวดอีก 6 เดือน               

              ไวน์บาลิฟิโก้ (Balifico)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท คาสเตลโล่  ดิ โวลปาย่า (Castello di Volpaia) ผู้ผลิตจากตำบลรัดด้า อิน เคียนติ (Comune di Radda in Chianti)
              ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1985  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวโต้ (Sangioveto) ผสมผสานกับพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon)  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18 เดือน และเก็บในขวดอีก 6 เดือน 
             
              ไวน์ปริม่ามาเตเรีย (Primamateria)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท ป๊อจเจริโน่ (Fattoria Poggerino) ผู้ผลิตไวน์รายเล็กๆ จากตำบลรัดด้า อิน เคียนติ (Comune di Radda in Chianti) ของตระกูลจิโนริ คอนติ (Ginori Conti family) ในปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสองพี่น้อง ปิเอโร่ จิโนริ คอนติ (Piero Ginori Conti) และเบเนเดตต้า ลันซ่า (Benedetta Lanza)
              ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1997  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) และพันธุ์แมร์โล (Merlot) อย่างละ 50 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) ใหม่เป็นเวลา 12 เดือน 

              ไวน์ซาซ่า คาลิด้า (Saxa Calida)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) ในแบบอย่างของไวน์จากแคว้นบอร์โด (Bordeaux-styled) จาก บริษัท เดล ปาราดิโซ่  (Podere del Paradiso) ผู้ผลิตจากตำบลซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano) ของตระกูลเชตติ (Cetti family) ที่ก่อตั้งเมื่อปีค.ศ.1973  
              ใช้องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) อย่างละ 50 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18 เดือน และเก็บในขวดอีก 6 เดือน        
             
              ไวน์ลูเช่ (Luce) และไวน์ลูเชนเต้ (Lucente)  
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท ลูเช่ เดลล่า วิเต้ (Luce della Vite) ที่อยู่ภายใต้ร่มเงาของบริษัท มาร์เคสิ เด เฟรสโคบัลดิ (Marchesi de' Frescobaldi) แห่งเมืองฟลอเรนซ์ (Florence)  เป็นไวน์ที่ประสานระหว่างจิตวิญญาณของชาวทัสกัน (Tuscans) กับคาแรคเตอร์ที่ทันยุคของชาวคาลิฟอร์เนียน (Californians)
              ไวน์ลูเช่ ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1995 ใช้องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) อย่างละ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งนับเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรกในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) ที่มีการผลิตไวน์โดยใช้องุ่น 2 พันธุ์นี้ผสมกัน  แต่ไวน์จากวินเทจ 1993 และ 1994  ที่เคยถูกนำมาเปิดตัวในเดือนมิถุนายน ..1997  เป็นไวน์ที่ทดลองผสมจากไวน์ในถังบ่มไวน์ลามาโยเน่ (Lamaione) ที่เป็นองุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) กับไวน์ในถังบ่มไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ที่เป็นองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ของบริษัท คาสเตลโจคอนโด (Castelgiocondo)                    
              ไวน์ลูเชนเต้ ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1995  แต่ด้วยเหตุผลทางการตลาดจึงเปิดตัวช้ากว่าไวน์ลูเช่ (Luce)  โดยในวินเทจแรกๆ ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 80 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือใช้พันธุ์แมร์โล (Merlot)  แต่นับจากวินเทจ 2000 เป็นต้นไป จะมีพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) เข้ามาเป็นส่วนผสมด้วย
             
              ไวน์อิล เดเชนนาเล่ (Il Decennale)  
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท ป๊อจโจ้ ดิ ซ๊อตโต้ (Fattoria Poggio di Sotto) ผู้ผลิตรายเล็กๆแห่งตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) ของนายปิเอโร่ ปัลมุชชิ (Piero Palmucci) ที่มีผลผลิตไวน์เพียงปีละ 25,000 ขวด ก่อตั้งขึ้นเมื่อปีค.ศ.1991  
              ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 2001 เดิมทีเป็นไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ ริแซร์ว่า (Brunello di Montalcino Ris.)  ใช้องุ่นแดงพันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) 100 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มไวน์ในถังไม้โอ๊กขนาด 20-30 เฮ็คโตลิตร เป็นไวน์ในแบบอย่างของชาวมอนตาลชิเนเซ่ (Montalcinese) อย่างแท้จริง   
                     
Lamaione
              ไวน์ลามาโยเน่ (Lamaione)
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกันจาก บริษัท คาสเตลโจคอนโด (Tenuta di Castelgiocondo) ผู้ผลิตจากตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) ที่ตระกูลเฟรสโคบัลดิ (Frescobaldi family) เข้าไปเทคโอเวอร์จากเจ้าของรายเดิมตั้งแต่ปีค.ศ.1989                   
              ใช้องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) 100 เปอร์เซ็นต์ มีการเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) ใหม่ เป็นเวลา 24 เดือน และเก็บในขวดอีก 6 เดือน      

              ไวน์เตนูต้า ดิ ตริโนโร่ (Tenuta di Trinoro) และไวน์เล คูเป้ ดิ ตริโนโร่ (Le Cupe di Trinoro) 
              เป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) จาก บริษัท ตริโนโร่ (Tenuta di Trinoro) ผู้ผลิตจากตำบลซาร์เตอาโน่ (Comune di Sarteano) 
              ไวน์เตนูต้า ดิ ตริโนโร่  ใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) 40 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์แมร์โล (Merlot) 30 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 20 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์เปอตี แวร์โด (Petit verdot) 10 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 14 เดือน และเก็บในขวดอีก 12 เดือน          
              ไวน์เล คูเป้ ดิ ตริโนโร่  ใช้องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) 55 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) 23 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 9 เปอร์เซ็นต์  ในสัดส่วนที่แปรเปลี่ยนไปในแต่ละวินเทจซึ่งขึ้นอยู่กับผลผลิตองุ่น  รวมถึงมีการนำเอาพันธุ์เปอตี แวร์โด (Petit verdot) พันธุ์เชซาเนเซ่ (Cesanese) และพันธุ์อูว่า ดิ โตรย่า (Uva di Troia) เข้ามาผสมด้วยในบางวินเทจ  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 8 เดือน จากนั้นจะนำไวน์มาพักไว้ในถังซีเมนต์ (cement tank) เป็นเวลา 4 เดือน และเก็บในขวดอีก 6 เดือน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น