วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เจาะลึกไวน์จากแคว้นทัสคานี : ไวน์ Chianti และ Chianti Classico

                   ไวน์เคียนติ (Chianti) และ ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico)  
             
ความตั้งใจตั้งแต่เริ่มแรกที่จะเขียน เจาะลึกไวน์จากแคว้นทัสคานี นั้น ต้องการที่จะแยกไวน์ของแต่ละเมืองในแคว้นนี้ให้เห็นเด่นชัดแยกออกจากกัน  แต่สำหรับไวน์เคียนติ ได้มีการผลิตกันทั่วไปในหลายเมือง จึงต้องขอกล่าวในภาพรวมว่าเป็น “Tuscan wines” หรือ ไวน์ของชาวทัสกัน ซึ่งไวน์ชนิดนี้เปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของทัสคานี  
              เชื่อว่าคอไวน์ทั้งหลายต่างรู้จัก ไวน์เคียนติ เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นไวน์แดงเลื่องชื่อที่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อประมาณ 3,000 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัย ชาวเอทรุสกัน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดน เอทรูเรีย   
              ชาวทัสกัน รับช่วงต่อในการทำไวน์แดงเก่าแก่ชนิดนี้ต่อเนื่องกันเรื่อยมาโดยใช้องุ่นแดงพื้นเมือง พันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) เป็นส่วนผสมหลัก ผสมกับองุ่นพื้นเมืองที่ปลูกในทัสคานี ทั้งสิ้น  จนมาถึงในศตวรรษที่ 17  เป็นไวน์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในประเทศอิตาลีและประเทศในทวีปยุโรป ถึงกับมีการส่งลงเรือออกไปขายในประเทศอังกฤษ  
              ในปีค.ศ.1716  ผู้ปกครองแคว้นในช่วงเวลานั้นได้ออกกฎษฏีกา (edict) กำหนดพื้นที่การผลิตขึ้นมาอย่างเป็นทางการโดยให้เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เป็นศูนย์กลาง ซึ่งถือว่าเป็นกฎษฏีกาฉบับแรกของโลกที่กำหนดขอบเขตพื้นที่การผลิตไวน์                               
              ต่อมาในปีค..1870  ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่พลิกโฉมหน้าของไวน์เคียนติ ดั้งเดิมให้เป็น ไวน์เคียนติ ยุคใหม่ เมื่อเกิดแหล่งอุตสาหกรรมไวน์เคียนติ (Industrial Zone of Chianti wine) ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองซิเอน่า (Siena) ในท้องถิ่นที่เรียกว่า คาสเตลโล่ ดิ โบรลิโอ้ (Castello di Brolio)  ผู้มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้คิดสูตรทำไวน์เคียนติ ยุคใหม่ คือ บาโรเน่ เบตติโน่ ริคาโซลิ (Barone Bettino Ricasoli) ผู้ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศอิตาลีในยุครวมชาติ ต่อจากนายคามิลโล เบนโซ่ ดิ คาวัวร์ (Camillo Benso di Cavour) 
              ตามสูตรไวน์เคียนติ ยุคใหม่ จะมีทั้งองุ่นแดง องุ่นขาว และองุ่นแห้ง โดยใช้องุ่นแดง พันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) เป็นส่วนผสมหลัก นำเอาองุ่นเขียว พันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) เข้ามาผสม และใช้องุ่นแดง พันธุ์คานายโยโล่ เนโร (Canaiolo nero) ที่ผึ่งลมให้แห้งอีกจำนวนหนึ่ง  ทำให้ไวน์มีรสชาตินุ่มนวลยิ่งขึ้นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ ทัสคานี   
              ขณะเดียวกัน ท่านบาโรเน่ ได้จัดให้มีการนำนักท่องเที่ยวมาชมปราสาทเก่าๆ ไร่องุ่น และโรงทำไวน์แบบชาวทัสกัน (Tuscans Winery) ก็เลยทำให้ไวน์ในถิ่นนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งแนวคิดเช่นนี้ได้เป็นต้นแบบของ “Agri Turismo” ในปัจจุบัน
              ดินแดนที่เรียกว่าถิ่นไวน์เคียนติ (Chianti Zone) กว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมพื้นที่เกือบครึ่งหนึ่งของแคว้น ในตอนต้นของศตวรรษที่ 20  มีผู้ผลิตไวน์มากมายนับร้อยนับพันรายในถิ่นไวน์เคียนติ (Chianti Zone) ทำให้ต้องมีการแข่งขันซึ่งกันและกัน และต่างก็ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดของตนเอง
              ไวน์เคียนติ ที่ทำการผลิตในบริเวณที่ชุมชนอาศัยอยู่มานานที่เรียกกันว่า คลาสสิโก้ โซน (Classico Zone) จึงถูกเรียกว่า ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้
             
              ในปีค..1924  กลุ่มผู้ผลิตไวน์ในคลาสสิโก้ โซน (Classico Zone)  ได้รวมตัวกันที่ตำบลรัดด้า อิน เคียนติ (Comune di Radda in Chianti) เมืองซิเอน่า (Siena) จัดตั้งเป็นสมาคมขึ้นมาเพื่อปกป้องสิทธิประโยชน์ของตนเอง โดยใช้ชื่อว่า คอนซอร์ซิโอ กัลโล่ เนโร (Consorzio Gallo Nero)  แต่ในปัจจุบันเปลี่ยนเป็น คอนซอร์ซิโอ เดล มาร์คิโอ สตอริโค่ เคียนติ คลาสสิโก้ (Consorzio del Marchio Storico Chianti Classico)
              

              ส่วนผู้ผลิตไวน์ที่อยู่รอบนอกคลาสสิโก้ โซน (Classico Zone) ก็ได้ก่อตั้งสมาคมขึ้นมาในปีค..1927  โดยใช้ชื่อว่า คอนซอร์ซิโอ เคียนติ ปุตโต้ (Consorzio Chianti Putto)  ซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนเป็น คอนซอร์ซิโอ วิโน่ เคียนติ (Consorzio Vino Chianti)   
              จนกระทั่งในเดือนกรกฏาคม ค.ศ.1932  คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิตาลี ได้มีมติแบ่งพื้นที่การผลิตในเขตไวน์เคียนติ (Chianti Zone) ให้แยกจากกันอย่างชัดเจน โดยมีการกำหนดออกเป็นเขตย่อย (Sub-Zone)  7 เขต คือ 
              เขตย่อยเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Sub-Zone) 
              เขตย่อยเคียนติ คอลลิ อาเรตินิ (Chianti Colli Aretini Sub-Zone)
              เขตย่อยเคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ (Chianti Colli Fiorentini Sub-Zone)
              เขตย่อยเคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi Sub-Zone)
              เขตย่อยเคียนติ คอลลิเน่ ปิซาเน่ (Chianti Colline Pisane Sub-Zone)
              เขตย่อยเคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano Sub-Zone)
              เขตย่อยเคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina Sub-Zone)
              ปีค..1967  พื้นที่การผลิตในเขตย่อย (Chianti Sub-Zone) ทั้ง 7 เขต ได้ถูกกำหนดให้เป็นเขตไวน์ดีโอซี.(DOC appellation)  และถูกยกระดับขึ้นเป็นเขตไวน์ดีโอซีจี.(DOCG appellation) ในปีค..1984 
              ต่อมาคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอิตาลี ได้มีมติเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ค.ศ.1996  ให้เขตย่อยเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Sub-Zone) แยกเป็นอิสระออกจากเขตเคียนติ (Chianti Zone) โดยเรียกว่า เขตเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Zone) แต่ยังคงให้มีฐานะเป็นเขตไวน์ดีโอซีจี.(DOCG appellation)
              และในปีค.ศ.1997  คณะรัฐมนตรีฯ ได้กำหนดเขตย่อย (Chianti Sub-Zone) ขึ้นมาอีก 1 เขต คือ เขตย่อยเคียนติ มอนเต้สแปร์โตลิ (Chianti Montespertoli Sub-Zone) มีฐานะเป็นเขตไวน์ดีโอซีจี.(DOCG appellation) เช่นเดียวกัน
              ดังนั้นในปัจจุบันพื้นที่การผลิตในถิ่นไวน์เคียนติ (Chianti Zone) จึงมีอยู่ 8 เขต

              ไวน์เคียนติ (Chianti)
              กฏเกณฑ์การผลิตไวน์เคียนติ (Production Code of Chianti  Denominazione di Origine Controllata e Garantita Wine) ได้ถูกกำหนดขึ้นมาในปีค..1984  โดย คอนซอร์ซิโอ วิโน่ เคียนติ (Consorzio Vino Chianti)  แม้ว่าเขตย่อยเคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina Sub-Zone) และเขตย่อยเคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ (Chianti Colli Fiorentini Sub-Zone) จะได้จัดตั้งคอนซอร์ซิโอ (Consorzio) ของตนเองขึ้นมาในกาลต่อมาแต่ก็ยังคงใช้กฏเกณฑ์การผลิตเดียวกัน  โดยมีสาระสำคัญดังต่อไปนี้
1.  ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ผลิตในเขตย่อยเคียนติ คอลลิ อาเรตินิ (Chianti Colli Aretini Sub-Zone) เขตย่อยเคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ (Chianti Colli Fiorentini Sub-Zone) เขตย่อยเคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi Sub-Zone) เขตย่อยเคียนติ คอลลิเน่ ปิซาเน่ (Chianti Colline Pisane Sub-Zone) เขตย่อยเคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano Sub-Zone) เขตย่อยเคียนติ มอนเต้สแปร์โตลิ (Chianti Montespertoli Sub-Zone) และ เขตย่อยเคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina Sub-Zone) ให้ใช้ชื่อ Chianti และ “Chianti Superiore”
2.  ไวน์เคียนติ (Chianti) จะต้องใช้องุ่นที่ปลูกในพื้นที่ที่กำหนดไว้ในเขตย่อย (Sub-Zone) 7 เขต
3.  ไวน์เคียนติ (Chianti) จะต้องมีส่วนผสมจากองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 70-100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือให้ใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ และให้ใช้องุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์  แต่สำหรับไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi) จะต้องมีส่วนผสมจากองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 75-100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือให้ใช้องุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์ โดยให้มีพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) และพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์                 
4.  ไวน์เคียนติ (Chianti) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นในไร่ปลูก ไม่เกิน 8,000 กิโลกรัม/พื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์ และไม่เกิน 7,500 กิโลกรัม/พื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์  แต่สำหรับไวน์เคียนติ ซูเปริออเร่ (Chianti Superiore) ต้นองุ่นในไร่ปลูกจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 4 ปี  และต้องมีความหนาแน่นไม่น้อยกว่า 4,000 ต้น ต่อพื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์              
5.  ไวน์เคียนติ (Chianti) จะออกสู่ตลาดหลังจากวันที่ 1 มีนาคม ของปีถัดจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าองุ่นหลายพันธุ์ที่นำมาผสมกันจะมีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างลงตัว  นอกจากไวน์เคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ (Chianti Colli Fiorentini) และไวน์เคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina) และไวน์เคียนติ ซูเปริออเร่ (Chianti Superiore) จะออกสู่ตลาดหลังจากวันที่ 1 กันยายน ของปีถัดจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว
6.  ไวน์เคียนติ (Chianti) ชนิด “Riserva” จะต้องใช้เวลาเก็บบ่ม ไม่ต่ำกว่า 24 เดือน นับจากวันที่ 1 มกราคม ของปีถัดจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว และเก็บบ่มในขวด ไม่ต่ำกว่า 4 เดือน  สำหรับไวน์เคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ ริแซร์ว่า (Chianti Colli Fiorentini Ris.) และไวน์เคียนติ รูฟิน่า ริแซร์ว่า (Chianti Rufina Ris.) จะต้องมีการเก็บบ่มในถังไม้ (barrel) ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน  รวมถึงไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ ริแซร์ว่า (Chianti Colli Senesi Ris.) จะต้องมีการเก็บบ่มในถังไม้ (barrel) ไม่ต่ำกว่า 8 เดือน
7.  ไวน์เคียนติ (Chianti) จะต้องมีลักษณะตามที่กำหนด คือ  ไวน์มีความสดใสไม่ขุ่นมัว  มีสีแดงทับทิมสดใสเมื่อเป็นไวน์ใหม่ และมีประกายสีแดงโกเมนเมื่อผ่านการเก็บบ่ม กลิ่นของไวน์จะต้องเป็นกลิ่นองุ่นที่นำมาทำการผลิต และจะพัฒนาไปเป็นกลิ่นอื่นในช่วงเวลาของการเก็บบ่ม (maturation period) รสชาติมีความนุ่มนวลสมดุล มีแทนนินบางเบา มีระดับน้ำตาลที่เหลืออยู่ (residual sugar) ไม่เกิน 4 กรัม/ลิตร  แอซิดรวม (total acidity) ไม่น้อยกว่า 4.5 กรัม/ลิตร
8.  ไวน์เคียนติ คอลลิ อาเรตินิ (Chianti Colli Aretini) ไวน์เคียนติ คอลลิเน่ ปิซาเน่ (Chianti Colline Pisane) และไวน์เคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano) มีระดับแอลกอฮอล์ ไม่ต่ำกว่า 11.5 เปอร์เซ็นต์ และไม่ต่ำกว่า 12.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับชนิด “Riserva”
9.  ไวน์เคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ (Chianti Colli Fiorentini) ไวน์เคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina) และไวน์เคียนติ มอนเต้สแปร์โตลิ (Chianti Montespertoli) มีระดับแอลกอฮอล์ ไม่ต่ำกว่า 12.0 เปอร์เซ็นต์ และไม่ต่ำกว่า 12.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับชนิด “Riserva”  
10.       ไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi) มีระดับแอลกอฮอล์ ไม่ต่ำกว่า 12.0 เปอร์เซ็นต์ และไม่ต่ำกว่า 13.0 เปอร์เซ็นต์ สำหรับชนิด “Riserva”
11.      ไวน์เคียนติ (Chianti) จะต้องทำการบรรจุในขวดแก้วทรงบอร์โด (Bordeaux-styled bottle)  ขนาด 0.375 ถึง 5.0 ลิตร จุกปิดขวดต้องทำจากไม้ค๊อก (cork) แต่อนุญาตให้ใช้ฝาเกลียวสำหรับขนาดบรรจุน้อยกว่า 0.375 ลิตร  หากบรรจุในขวดแก้วแบบเฟียสโก้ (fiasco) จะต้องเป็นไปตามแบบดั้งเดิมของแคว้นทัสคานี (Tuscany) และต้องเป็นขวดใหม่เท่านั้น                
              เขตย่อยเคียนติ (Chianti Sub-Zone) ทั้ง 7 เขต จะเป็นพื้นที่เป็นบริเวณกว้างรายรอบเขตเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Zone) ครอบคลุมพื้นที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เมืองอาเรซโซ่ (Arezzo) เมืองปิซ่า (Pisa) เมืองปิสโตย่า (Pistoia) เมืองปราโต้ (Prato) และเมืองซิเอน่า (Siena)
              ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ผลิตในเขตย่อยเหล่านี้อาจจะใช้ชื่อไวน์เคียนติ (Chianti) แต่เพียงอย่างเดียวหรือจะใช้ชื่อเขตย่อย (Sub-Zone name) ต่อท้ายก็ได้ เช่น ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ผลิตจาก เขตย่อยเคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi Sub-Zone) อาจจะใช้ชื่อว่า ไวน์เคียนติ ดีโอซีจี.(Chianti) หรือไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ ดีโอซีจี.(Chianti Colli Senesi)  ก็ได้

              เขตย่อยเคียนติ (Chianti Sub-Zone) ทั้ง 7 เขต มีเพียงเขตย่อยเคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina Sub-Zone) เท่านั้นที่พอจะเป็นที่เชิดหน้าชูตาของไวน์เคียนติ (Chianti)  ส่วนเขตอื่นๆ ยังคงต้องรอให้เวลาเป็นเครื่องตัดสินอนาคต               
              เขตย่อยเคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina Sub-Zone)  เป็นหนึ่งในเขตย่อยแห่งแรกของเขตเคียนติ (Chianti Zone)  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองฟลอเรนซ์ (Florence)  ไร่ปลูกองุ่นจะอยู่บนพื้นที่สูง 320-480 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  เขตนี้มีสภาพอากาศเฉพาะถิ่น (micro-climate) ที่แตกต่างไปจากเขตย่อยอื่น  กลางวันมีอากาศร้อนแต่กลางคืนจะหนาวเย็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนกันยายนซึ่งเป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยว จะมีลมเย็นที่พัดมาจากเทือกเขาอัปเปนไนน์ (Apennine ranges)  ลักษณะพิเศษเช่นนี้ไม่มีที่ใดในเขตย่อยเคียนติ (Chianti Sub-Zone)
              แหล่งผลิตไวน์ของเขตย่อยแห่งนี้จะอยู่ในตำบลรูฟิน่า (Comune di Rufina) ตำบลดิโคมาโน่ (Comune di Dicomano) ตำบลลอนด้า (Comune di Londa) ตำบลเปลาโก้ (Comune di Pelago) และตำบลปอนตัสซิเอเว่ (Comune di Pontassieve)  ทั้งหมดอยู่ในเขตเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) 
              ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ทำการผลิตในเขตย่อยนี้จะใช้ชื่อว่า ไวน์เคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina) ได้รับการยอมรับว่าเป็นสุดยอดไวน์เคียนติ (Chianti)  สามารถเทียบชั้นกับไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classio) ชั้นดี
              การผลิตไวน์เคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina) ชนิด “Riserva” จากผู้ผลิตหลายรายมีการเก็บบ่มในถังไม้โอ๊กนาน 24 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 3 เดือน  บรรจุในขวดทรงบอร์โด (Bordeaux-styled bottle) และขวดเฟียสโก้ (fiasco) แบบดั้งเดิม  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 75-100  เปอร์เซ็นต์  ผู้ผลิตที่ใช้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์ จะผสมด้วยองุ่นแดงพันธุ์คานายโยโล่ เนโร (Canaiolo nero) ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์  องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) และพันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า (Malvasia bianca) ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์  และมีองุ่นแห้ง ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์
              ผู้ผลิตไวน์เคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina Wine Producers) ได้ร่วมกันก่อตั้ง คอนซอร์ซิโอ เคียนติ รูฟิน่า (Consorzio Chianti Rufina) โดยมีสมาชิกแรกเริ่ม 15 ราย แต่ในปัจจุบันมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 25 ราย และกำลังมีความพยายามที่จะแยกตัวเองเป็นอิสระเช่นเดียวกับเขตเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classio Zone)   


              มีปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตย่อย เคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina Sub-Zone) ที่กำลังเป็นคลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้  เนื่องจากมีกลุ่มพ่อค้าไวน์ที่ขายไวน์ราคาถูกกระทำตัวเป็นนายทุนออกเงินให้กับชาวไร่ทำการปรับปรุงพื้นที่ปลูกหรือโรงผลิตไวน์ เพื่อทำไวน์ขายให้กับกลุ่มพ่อค้าไวน์เหล่านั้น  ซึ่งคอนซอร์ซิโอ (Consorzio) ได้หาหนทางที่จะรักษาความเป็นไวน์เคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina) เอาไว้ โดยกำหนดมาตรฐานของไวน์ในพื้นที่ ดังนี้
              “ไวน์เกรดที่ 1” จะต้องใช้ชื่อ ไวน์เคียนติ รูฟิน่า ริแซร์ว่า (Chianti Rufina Riserva) 
              ไวน์เกรดที่ 2” จะต้องใช้ชื่อไวน์เคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina) 
              ไวน์เกรดที่ 3” จะต้องใช้ชื่อไวน์เคียนติ (Chianti)  หากไวน์ไม่ดีจะต้องทำเป็นไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT)
              เขตย่อยเคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ (Chianti Colli Fiorentini Sub-Zone)  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศใต้ของเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เกิดขึ้นพร้อมกับเขตย่อยเคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina Sub-Zone)  พื้นที่ของเขตนี้มีรูปร่างคล้ายกับก้ามปูที่รายล้อมด้านทิศเหนือของเขตเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classio Zone)  เป็นเขตย่อยกว้างใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 18 ชุมชน เขตเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ซึ่งประกอบด้วย
              ตำบลบาร์เบริโน่ วัล เดลซ่า (Comune di Barberino Val d’Elsa) ตำบลตาวาร์เนลเล่ วัล ดิ เปซ่า (Comune di Tavarnelle Val di Pesa) ตำบลมอนเต้สแปร์โตลิ (Comune di Montespertoli) ตำบลแชร์ตาลโด้ (Comune di Certaldo) ตำบลซาน คาสชิโน่ วัล ดิ เปซ่า (Comune di San Cascino Val di Pesa) ตำบลมอนเต้ลูโป ฟิอเรนติโน่ (Comune di Montelupo Fiorentino) ตำบลลาสตร้า อะ ซินญ่า (Comune di Lastra a Signa) ตำบลสคันดิชชิ (Comune di Scandicci) ตำบลอิมปรูเนต้า (Comune di Impruneta) ตำบลบานโญ่ อะ ริโปลิ (Comune di Bagno a Ripoli) ตำบลฟิเอโซเล่ (Comune di Fiesole) ตำบลปอนตัสซิเอเว่ (Comune di Pontassieve) ตำบลรินญาโน่ ซุลลาร์โน (Comune di Rignano sull’Arno) ตำบลเปลาโก้ (Comune di Pelago) ตำบลอินชิซ่า วัลลาร์โน (Comune di Incisa val’Arno) และตำบลฟิลิเน่ (Comune di Figline)          
              ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ทำการผลิตในเขตย่อยแห่งนี้จะใช้ชื่อว่า ไวน์เคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ (Chianti Colli Fiorentini)  มีความหมายว่าไวน์เคียนติที่ผลิตบริเวณเนินเขาแห่งเมืองฟลอเรนซ์ (Chianti from the hills of Florence) หรือในภาษาละติน เรียกว่า วินัม ฟลอเรนตินัม (Vinum Florentinum)                          
              ผู้ผลิตไวน์เคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ (Chianti Colli Fiorentini Wine Producers) ได้ร่วมกันก่อตั้ง คอนซอร์ซิโอ เคียนติ คอลลิ ฟิออเรนตินิ (Consorzio Chianti Colli Fiorentini)  ด้วยเช่นกันโดยมีสมาชิกแรกเริ่ม 25 ราย  และในเขตย่อยแห่งนี้ก็มีความเคลื่อนไหวในกลุ่มผู้ผลิตไวน์เพื่อที่จะเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับไวน์เคียนติ (Chianti) จากเขตย่อยอื่นๆ และต้องรับมือกับไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT)
              เขตย่อยเคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano Sub-Zone)  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เป็นเขตย่อยที่เล็กที่สุด มีพื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 500 เฮ็คต้าร์ 
              แหล่งผลิตไวน์ของเขตย่อยแห่งนี้อยู่ในตำบลคาร์มินยาโน่ (Comune di Carmignano) ตำบลอาร์ติมิโน่ (Comune di Artimino) ตำบลบัคเคเรโต้ (Comune di Bacchereto) ตำบลคาปราย่า เอ ลิมิเต (Comune di Capraia e Limite) ตำบลลัมโปเรคคิโอ (Comune di Lamporecchio) ตำบลลาร์ชาโน่ (Comune di Larciano) และตำบลวินชิ (Comune di Vinci) 
             

              ในเขตนี้จะมีผู้ผลิตไวน์ไม่มากนักซึ่งเป็นไวน์เคียนติ (Chianti) ระดับธรรมดาเท่านั้น เนื่องจากองุ่นที่ดีจะถูกคัดเอาไปทำไวน์คาร์มินยาโน่ (Carmignano) ไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) ที่ขายได้ราคาสูงกว่า
              ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ทำการผลิตในเขตย่อยนี้จะใช้ชื่อว่า ไวน์เคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano) มีส่วนผสมหลักจากองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ระหว่าง 75-90 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์คานายโยโล่ เนโร (Canaiolo nero) ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) และพันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า (Malvasia bianca) ไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์
              ปัญหาที่เกิดขึ้นในเขตย่อยแห่งนี้ก็มีมากมายซึ่งเกิดขึ้นหลังจากปีค.ศ.1975  เมื่อไวน์คาร์มินยาโน่ (Carmignano) จากตำบลคาร์มินยาโน่ (Comune di Carmignano) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในเวลานั้นว่าเป็นไวน์แถวหน้ามีฐานะเป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC)  ผู้ผลิตไวน์ส่วนใหญ่จึงเริ่มที่จะทำการผลิตไวน์คาร์มินยาโน่ (Carmignano) แต่เพียงอย่างเดียว ทำให้ไวน์เคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano) กลายเป็นไวน์เกรดสอง
              พอมาถึงในช่วงต้นทศวรรษที่ 90  ไวน์บาร์โค เรอัลเล่ (Barco Reale) ที่ได้รับการขนานนามว่า เบบี้ คาร์มินยาโน่ (Baby Carmignano) มีฐานะเป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) และไวน์คาร์มินยาโน่ (Carmignano) ถูกยกระดับขึ้นเป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) ในปีค..1990  ยิ่งทำให้สถานะภาพของไวน์เคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano) กลายเป็นไวน์เกรดสาม  ผู้ผลิตไวน์หลายรายในตำบลนี้จึงถอดไวน์เคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano) ออกจากสายการผลิต เพื่อมุ่งเน้นไปทำไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT)  ทำให้ผู้ผลิตไวน์เคียนติ (Chianti) ในเขตย่อยแห่งนี้ ใช้ชื่อไวน์เคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano) เพียง 4-5 ราย เท่านั้น
              เขตย่อย เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi Sub-Zone)  เป็นเขตย่อยที่กว้างใหญ่ที่สุดที่ตั้งอยู่เรียงรายทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออก ทิศใต้ และทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองซิเอน่า (Siena)  ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ทำการผลิตในเขตย่อยนี้จะใช้ชื่อว่า ไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi) มีความหมายว่าไวน์เคียนติที่ผลิตบริเวณเนินเขาแห่งเมืองซิเอน่า (Chianti from the hills of Siena)  โดยคำว่า เซเนสิ (Senesi) เพี้ยนมาจากคำว่า ซิเอเนเซ่ (Sienese)                


              จากการที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล ผู้ผลิตไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi) จึงมีอยู่มากมาย ส่วนหนึ่งอยู่ในตำบลป๊อจจิบอนสิ (Comune di Poggibonsi) ใกล้เมืองซิเอน่า (Siena) แต่เป็นผู้ผลิตไวน์ที่ไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าใดนัก  อีกส่วนหนึ่งจะอยู่ในตำบลใหญ่ที่ทำไวน์ดัง เช่น ตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) ตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) และตำบลซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano) 
              ในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) มีการผลิตไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ที่เป็นไวน์ชั้นเยี่ยมของชาวทัสกัน (Tuscans) มานานนับร้อยปี แต่หลังจากที่ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ถูกยกระดับเป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) ในปีค.ศ.1980 และไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) ถูกยกระดับเป็นไวน์เกรดดีโอซี.ในปีค.ศ.1984  ทำให้ไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi) หล่นลงไปเป็นไวน์ปลายแถว     
La Braccesca Vino Nobile di Montepulciano
              เช่นเดียวกันกับที่ตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) ซึ่งมีไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano) ที่ถูกยกระดับเป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) ในปีค.ศ.1981 และไวน์รอซโซ่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Rosso di Montepulciano) เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ในปีค.ศ.1989  ทำให้ไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi) ถูกหมางเมินจากผู้ผลิตไวน์ 
              แม้แต่ในตำบลเล็กๆ อย่าง ซาน จิมินยาโน่ (Comune di San Gimignano) ซึ่งแต่เดิมผู้ผลิตไวน์ส่วนใหญ่ทำไวน์แวร์นาชช่า ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Vernaccia di San Gimignano) ไวน์ขาวเกรดดีโอซีจี.(DOCG) ก็ยังมีการผลิตไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi) กันอยู่บ้าง  แต่หลังจากที่ไวน์รอซโซ่ ดิ ซาน จิมินยาโน่ (Rosso di San Gimignano) เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC)  ผู้ผลิตรายใหญ่ก็หยุดผลิตไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi) 


              วิกฤติการณ์เหล่านี้ทำให้ผู้ผลิตไวน์เคียนติ คอลลิ เซเนสิ (Chianti Colli Senesi) ที่อยู่นอกพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 3 แห่ง ต้องแสวงหาหนทางใหม่สำหรับไวน์เก่าแก่ของชาวซิเอเนเซ่ (Sienese) มิให้ดำดิ่งลงสู่ก้นเหว
              เขตย่อยเคียนติ คอลลิ อาเรตินิ (Chianti Colli Aretini Sub-Zone)  เป็นเขตย่อยที่อยู่รอบเมืองอาเรซโซ่ (Arezzo) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเขตเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Zone)  ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ทำการผลิตในเขตย่อยนี้จะใช้ชื่อว่า ไวน์เคียนติ คอลลิ อาเรตินิ (Chianti Colli Aretini) ซึ่งมีส่วนผสมไม่แตกต่างจากไวน์เคียนติ มอนตาลบาโน่ (Chianti Montalbano)  แต่ไวน์ที่ผลิตออกมาไม่เป็นที่ยอมรับกันเท่าใดนัก ทำให้ผู้ผลิตหลายรายแทบไม่อยากใช้ชื่อเขตย่อยบนฉลาก
              เขตย่อย เคียนติ คอลลิเน่ ปิซาเน่ (Chianti Colline Pisane Sub-Zone)  เป็นเขตย่อยที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองปิซ่า (Pisa)  ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ทำการผลิตในเขตย่อยนี้จะใช้ชื่อว่า ไวน์เคียนติ คอลลิเน่ ปิซาเน่ (Chianti Colline Pisane) 
              เขตย่อยเคียนติ มอนเต้สแปร์โตลิ (Chianti Montespertoli Sub-Zone)  เป็นเขตย่อยล่าสุดที่เกิดขึ้นในปีค.ศ.1997  ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ทำการผลิตในเขตย่อยนี้จะใช้ชื่อว่า ไวน์เคียนติ มอนเต้สแปร์โตลิ (Chianti Montespertoli) 

              ปัญหาที่เกิดขึ้นกับไวน์เคียนติ (Chianti) คือการขาดความเป็นเอกภาพในระหว่างผู้ผลิตไวน์ที่อยู่ในแต่ละเขตย่อยทั้งหลายจึงทำให้ขาดการประสานผลประโยชน์ระหว่างกัน  มีการแข่งกันเองระหว่างกลุ่มไวน์เคียนติ (Chianti) รวมถึงต้องแข่งกับกลุ่มไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) ซึ่งเป็นไวน์ระดับคุณภาพที่ใช้องุ่นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (international grapes)  ทำให้ไวน์เคียนติ (Chianti) ต้องกลายเป็นไวน์ราคาถูก  ผู้ผลิตไวน์หลายรายในแคว้นทัสคานี (Tuscany) จะไม่ทำไวน์เคียนติ (Chianti) อีกต่อไป เนื่องจากขายได้ในราคาขวดละ 7-10 ยูโร แต่หากทำไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) จะขายได้ในราคามากกว่าเท่าตัว   
              ในเมืองลิวอร์โน่ (Livorno) เมืองท่าเรือที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ มีการทำไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) มากมาย  ทำให้ไวน์เคียนติ (Chianti) ไม่อาจที่จะแทรกตัวเข้าไปได้  เห็นได้จากพ่อค้าไวน์จากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ที่นำไวน์เคียนติ (Chianti) ใส่ถังไปขายในเมืองลิวอร์โน่ (Livorno) จะขายได้ในราคาต่ำกว่าลิตรละ 1 เหรียญสหรัฐ ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ลิตรละ 1.40 เหรียญสหรัฐ  แต่ปัญหาสำคัญคือ กฏเกณฑ์การผลิตไวน์เคียนติ (Production Code of Chianti  Denominazione di Origine Controllata e Garantita Wine) ที่กำหนดให้ไวน์เคียนติ (Chianti) มีส่วนผสมจากองุ่นเขียวมากเกินไปทำให้สีในไวน์เคียนติ (Chianti) อ่อนลง 
              ปัญหาหลายด้านที่รุมล้อมอยู่ในเวลานี้ทำให้อนาคตของไวน์เคียนติ (Chianti) ดูจะไม่สดใสเท่าใดนัก ซึ่งนับวันยิ่งทำให้เกิดช่องว่างกับไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) มากยิ่งขึ้น
              แต่สิ่งที่ดีก็มีเกิดขึ้นกับไวน์เคียนติ (Chianti) ด้วยเช่นกัน  เริ่มจากในปีค.ศ.1997  ได้มีการนำเอาคำว่า “Superiore” มาใช้อีกครั้งสำหรับไวน์เคียนติ (Chianti) ที่มีคุณภาพสูง หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเคยใช้ในช่วงทศวรรษที่ 20-30 มาแล้วครั้งหนึ่ง 
              คำว่า “Superiore” บนฉลากไวน์เคียนติ (Chianti) จะใช้ก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามกฏเกณฑ์อย่างเข้มงวดในเรื่องของมาตรฐานคุณภาพ แต่จะใช้ร่วมกับชื่อเขตย่อยไม่ได้ จะต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น ไวน์เคียนติ รูฟิน่า (Chianti Rufina) หากจะผลิตชนิด “Superiore”  ก็ต้องเลือกเอาว่าจะใช้ชื่อบนฉลากว่า “Chianti Rufina” หรือ “Chianti Superiore” อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น  
              ขณะเดียวกันก็กำหนด คำว่า “Riserva”  ขึ้นมาสำหรับไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ใช้ระยะเวลาในการเก็บบ่มในถังไม้ที่ยาวนาน และมีการเก็บบ่มไวน์ในขวด  ซึ่งผู้ผลิตไวน์เคียนติ (Chianti) ที่ผ่านการตรวจสอบแล้วเท่านั้นที่มีสิทธิใช้คำว่า “Riserva” บนฉลากไวน์ร่วมกับไวน์เคียนติ (Chianti) ได้ทุกกรณี  เช่น จะใช้ “Chianti Rufina Riserva”  หรือ  Chianti Riserva”  หรือ  “Chianti Superiore Riserva”  ก็ได้
              ไวน์เคียนติ (Chianti) เป็นไวน์ที่มีโครงสร้างปานกลาง (medium-bodied) องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ที่ใช้เป็นส่วนผสมหลักจะให้ไวน์ที่มีสีไม่เข้ม ผู้ผลิตหลายรายจึงต้องใช้องุ่นแดงพันธุ์คานายโยโล่ (Canaiolo nero) ที่มีสีเข้มกว่าเข้ามาผสมด้วย  รวมถึงต้องใช้องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano Toscano) และพันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า (Malvasia bianca) ที่เป็นองุ่นสำหรับทำไวน์ขาวเข้ามาผสมเพื่อให้ไวน์มีความนุ่มนวลขึ้น        
              ผู้ผลิตไวน์เคียนติ (Chianti Wine Producers)
              ผู้ผลิตไวน์เคียนติ (Chianti Wine Producers) มีมากกว่า 200 ราย ส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) รองลงไปจะอยู่ในเขตเมืองซิเอน่า (Siena)  นอกนั้นจะกระจัดกระจายอยู่ในเขตเมืองอาเรซโซ่ (Arezzo) เมืองปิสโตย่า (Pistoia) เมืองปิซ่า (Pisa) และเมืองปราโต้ (Prato)  
              บริษัท มาร์เคสิ เด เฟรสโคบาลดิ (Marchesi de’ Frescobaldi)  ของตระกูลเฟรสโคบาลดิ (Frescobaldi family)  เป็นผู้ผลิตไวน์ชานเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ซึ่งทำไวน์เคียนติ (Chianti) เพียง 2 ฉลาก แต่ที่ยอดเยี่ยมมากเห็นจะเป็นไวน์เคียนติ รูฟิน่า มอนเตโซดิ (Chianti Rufina Montesodi) ที่ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 75 เปอร์เซ็นต์ 
              บริษัท เซลวาเปียน่า (Fattoria Selvapiana)  ของนายฟรานเชสโก้ จุนตินิ อันติโนริ (Francesco Giuntini Antinori)  เป็นผู้ผลิตไวน์จากตำบลปอนตัสซิเอเว่ (Comune di Pontassieve) เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) มีไวน์ระดับครูส์ (crus) 2 ฉลากเช่นกัน คือ ไวน์เคียนติ รูฟิน่า บูแชร์คิอัลเล่ ริแซร์ว่า (Chianti Rufina Bucerchiale Ris.) ที่ใช้องุ่นพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์ และไวน์เคียนติ รูฟิน่า ฟอร์นาเช่ ริแซร์ว่า (Chianti Rufina Fornace Ris.) ที่ใช้องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet Sauvignon) และพันธุ์แมร์โล (Merlot) รวมกันถึง 80 เปอร์เซ็นต์
              บริษัท เลโอนาร์โด ดา วินชิ (Cantine Leonardo da Vinci)  ของกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกองุ่นในตำบลวินชิ (Comune di Vinci) เมืองฟลอเรนซ์ (Florence)  จะทำไวน์เคียนติ (Chianti) เพื่อรองรับตลาดระดับกลาง  ไวน์เคียนติ เลโอนาร์โด ดา วินชิ (Chianti Leonardo da Vinci) และไวน์เคียนติ เลโอนาร์โด ดา วินชิ ริแซร์ว่า (Chianti Leonardo da Vinci Ris.) ของผู้ผลิตรายนี้มีขายในบ้านเราด้วยเช่นกันในราคาและคุณภาพที่ยอมรับได้ทีเดียว  ทั้งนี้ไวน์เคียนติ เลโอนาร์โด ดา วินชิ (Chianti Leonardo da Vinci) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มไวน์ที่คุ้มค่าประจำปีค.ศ.2007  จากหนังสือ วินิ อิตาเลียนิ 2007 (Vini Italiani 2007) โดยนายลูก้า มาโรนิ (Luca Maroni) ผู้รอบรู้ไวน์อิตาเลียนอย่างลึกซึ้ง 
              บริษัท กิซซาโน่ (Tenuta di Ghizzano)  ของตระกูลเปชโชลินิ (Pesciolini family)  เป็นผู้ผลิตไวน์จากตำบลเปชโชลิ (Comune di Peccioli) เมืองปิซ่า (Pisa) ซึ่งอยู่ในเขตย่อยเคียนติ คอลลิเน่ ปิซาเน่ (Chianti Colline Pisane Sub-Zone) ทำไวน์เคียนติ เวเนโรโซ่ (Chianti Veneroso) มาตั้งแต่ปีค.ศ.1988  โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 50 เปอร์เซ็นต์ พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet Sauvignon) 45 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์แมร์โล (Merlot) 5 เปอร์เซ็นต์  แต่คงจะไม่ทำไวน์เคียนติ (Chianti) อีกต่อไปแล้ว โดยจะทำไวน์เวเนโรโซ่ (Veneroso) ไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) ที่ขายได้ในราคามากกว่าไวน์เคียนติ (Chianti) หนึ่งเท่าตัว ขณะที่ต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกัน
              นอกจากเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) และเมืองซิเอน่า (Siena) แล้ว  ในเมืองอื่นๆเช่นเมืองปิสโตย่า (Pistoia) และเมืองอาเรซโซ่ (Arezzo) ไม่มีผู้ผลิตรายใดที่ทำไวน์เคียนติ (Chianti) ได้โดดเด่น  ส่วนในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) จะไม่ทำไวน์เคียนติ (Chianti)  ผู้ผลิตทุกรายจะให้ความสำคัญกับไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino)  มากกว่า

              ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico)
              เมื่อมองไปที่ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) ซึ่งเป็นพื้นที่การผลิตในเขตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Zone) ที่ติดต่อเป็นพื้นที่ติดต่อเป็นผืนเดียวกันรายรอบด้วยเขตย่อยเคียนติ (Chianti Sub-Zone) อีก 7 เขต  หากมองจากแผนที่ของแคว้นในแนวดิ่งโดยจะเริ่มตั้งแต่ชานเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ลงไปถึงเมืองซิเอน่า (Siena)  ส่วนในแนวนอนจะเริ่มตั้งแต่หุบเขา วัล ดิ เปซ่า (Val di Pesa) และแม่น้ำเอลซ่า (Elsa river) ที่อยู่ทางทิศตะวันตกไปจรดแนวเทือกเขามอนติ เดล เคียนติ (Monti del Chianti) ที่อยู่ทางทิศตะวันออก  โดยมีเขตไวน์เคียนติ (Chianti Zone) ทั้ง 7 เขตย่อย (Sub-Zone) อยู่รายรอบ 
              การผลิตไวน์จะอยู่ภายใต้กฏเกณฑ์การผลิตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Production Code of Chianti Classico Denominazione di Origine Controllata e Garantita Wine) ซึ่งกำหนดขึ้นมาตั้งแต่ปีค..1984  โดย คอนซอร์ซิโอ เดล มาร์คิโอ สตอริโค่ เคียนติ คลาสสิโก้ (Consorzio del Marchio Storico Chianti Classico)  โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.  ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) จะต้องผลิตภายใต้ข้อกำหนดของกฏเกณฑ์การผลิตฉบับนี้
2.  ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) จะต้องใช้องุ่นที่ปลูกในพื้นที่ตามที่กำหนดไว้ในหัวข้อที่ 3  โดยต้องใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 80-100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือให้ใช้องุ่นแดงพันธุ์พื้นเมืองหรือองุ่นแดงที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (international grapes)  และนับตั้งแต่วินเทจ 2005  ให้ใช้องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) พันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า (Malvasia bianca) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือรวมกัน ไม่เกิน 6 เปอร์เซ็นต์
3. ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) จะถูกกำหนดให้มีการผลิตใน 5 ชุมชน เขตเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) ซึ่งประกอบด้วย ตำบลซาน คาสชิโน่ วัล ดิ เปซ่า (Comune di San Cascino Val di Pesa) ตำบลตาวาร์เนลเล่ วัล ดิ เปซ่า (Comune di Tavarnelle Val di Pesa) ตำบลเกรเว่ อิน เคียนติ (Comune di Greve in Chianti) ตำบลปันซาโน่ อิน เคียนติ (Comune di Panzano in Chianti)  และพื้นที่บางส่วนของตำบลบาร์เบริน่า วัล เดลซ่า (Comune di Barberina Val d’Elsa)  นอกจากนี้ยังมีการผลิตใน 5 ชุมชน เขตเมืองซิเอน่า (Siena) ซึ่งประกอบด้วย ตำบลคาสเตลลิน่า อิน เคียนติ (Comune di Castellina in Chianti) ตำบลรัดด้า อิน เคียนติ (Comune di Radda in Chianti) ตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti) ตำบลป๊อจจิบอนสิ (Comune di Poggibonsi) และพื้นที่บางส่วนของตำบลคาสเตลนูโอโว เบราร์เดงก้า (Comune di Castelnuovo Berardenga)
4.  ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) จะต้องมีจำนวนน้ำหนักผลองุ่นในไร่ปลูก ไม่เกิน 7,500 กิโลกรัม/พื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์ ต้นองุ่นในไร่ปลูกจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 4 ปี  ต้องมีความหนาแน่นไม่น้อยกว่า 3,350 ต้น/พื้นที่ 1 เฮ็คต้าร์  ผลองุ่นต่อต้นจะต้องไม่เกินกว่า 3 กิโลกรัม


5.  ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) จะต้องทำการผลิตภายพื้นที่ที่กำหนดไว้ในหัวข้อที่ 3  แต่ให้อำนาจหน่วยงานของรัฐยินยอมให้ไวเนอรี (winery) นอกพื้นที่ไม่เกิน 10 ไมล์ (วัดระยะจากทางอากาศ) ที่เคยผลิตให้กับผู้ผลิตไวน์ในพื้นที่ที่กำหนดมาก่อนที่กฏเกณฑ์การผลิตฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้  แต่การเก็บบ่มไวน์และการบรรจุขวดต้องกระทำภายพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น  รวมถึงอนุญาตให้ผู้ผลิตไวน์อาจนำวิธีการผลิตแบบ โกแวร์โน อัล ลูโซ่ ตอสกาโน่ (governo all’uso toscano) มาใช้
6.  ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico)  จะต้องออกสู่ตลาดหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม ของปีถัดจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อให้แน่ใจว่าองุ่นหลายพันธุ์ที่นำมาผสมกันจะมีความกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันอย่างลงตัว  แต่สำหรับไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ ริแซร์ว่า (Chianti Classico Ris.) จะต้องใช้เวลาเก็บบ่มไม่ต่ำกว่า 24 เดือน โดยให้นับจากวันที่ 1 มกราคม ของปีถัดจากฤดูกาลเก็บเกี่ยว และต้องอยู่ในขวดอีกไม่ต่ำกว่า 3 เดือน
7.  ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) จะต้องมีลักษณะตามที่กำหนด คือ  ไวน์มีความสดใสไม่ขุ่นมัว  มีสีแดงทับทิมสดใสเมื่อเป็นไวน์ใหม่ และมีประกายสีแดงโกเมนเมื่อผ่านการเก็บบ่ม กลิ่นของไวน์จะต้องเป็นกลิ่นองุ่นที่นำมาทำการผลิต และจะพัฒนาไปเป็นกลิ่นอื่นในช่วงเวลาของการเก็บบ่ม (maturation period) รสชาติมีความนุ่มนวลสมดุล มีแทนนินบางเบา มีระดับน้ำตาลที่เหลือ (residual sugar) ไม่เกิน 4 กรัม/ลิตร แอซิดรวม (total acidity) ไม่น้อยกว่า 4.5 กรัม/ลิตร  มีระดับแอลกอฮอล์ ไม่ต่ำกว่า 12.0 เปอร์เซ็นต์ และไม่ต่ำกว่า 12.5 เปอร์เซ็นต์ สำหรับชนิด “Riserva”   
8.  คำว่า คลาสสิโก้ (Classico) จะต้องต่อท้ายคำว่า เคียนติ (Chianti)  โดยต้องเป็นอักษรที่เหมือนกันและขนาดเดียวกัน  ห้ามใช้คำเหล่านี้บนฉลากไวน์ ได้แก่  เอ๊กซ์ตร้า (extra)  ฟิเน่ (fine)  สเกลโต้ (scelto)  เซเลซิโอนาโต้ (selezionato)  ซูเปริออเร่ (superiore)  และ เวคคิโอ้ (vecchio)  หรือคำที่มีความหมายคล้ายกัน
9.  ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) จะต้องทำการบรรจุในขวดแก้วทรงบอร์โด (Bordeaux-styled bottle) จุกปิดขวดต้องทำจากไม้ค๊อก (cork)  หากบรรจุในขวดแก้วแบบเฟียสโก้ (fiasco) จะต้องเป็นไปตามแบบดั้งเดิมของแคว้นทัสคานี (Tuscany) และต้องเป็นขวดใหม่เท่านั้น  อนุญาตให้ใช้ฝาเกลียวสำหรับขนาดบรรจุน้อยกว่า 0.250 ลิตร
Chianti in Fiasco

              กฏเกณฑ์การผลิตไวน์จะมีการปรับปรุงอยู่ตลอดเวลาเพื่อคงความเป็นไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) ไว้  ดังเช่น นับตั้งแต่วินเทจ 2004  เป็นต้นไป คอนซอร์ซิโอ (Consorzio)  ตัดสินใจลดผลผลิตองุ่นต่อพื้นที่ปลูก 20 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้ได้องุ่นมีคุณภาพที่ดีขึ้น 
              แต่ก็มีข้อเสนอที่น่าสนใจจากด๊อกเตอร์คาร์โล แฟร์รินิ (Dr.Carlo Ferrini) สุดยอดไวน์เมคเกอร์แห่งแคว้นทัสคานี (Tuscany) ว่า ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) ควรใช้องุ่นพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือควรเป็นการผสมผสานระหว่างองุ่นแดงพันธุ์โคโลริโน่ (Colorino) พันธุ์มาลวาเซีย เนร่า (Malvasia nera) พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) พันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์เปอตี แวร์โด (Petit verdot)  ซึ่งสัดส่วนนี้จะคงความเป็นเอกลักษณ์ไวน์เก่าแก่ของชาวทัสกัน (Tuscan wines) ให้อยู่ตลอดไป และก็จะเป็นที่ยอมรับของตลาดไวน์ในต่างประเทศ  ซึ่งก็คงเป็นข้อเสนอที่คอนซอร์ซิโอ เดล มาร์คิโอ สตอริโค่ เคียนติ คลาสสิโก้ (Consorzio del Marchio Storico Chianti Classico) อาจจะนำไปพิจารณา
              ผู้ผลิตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Wine Producers)
              ผู้ผลิตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Wine Producers) มีอยู่มากกว่า 350 ราย  แหล่งผลิตใหญ่จะอยู่ในเขตเมืองฟลอเรนซ์ (Florence) และเมืองซิเอน่า (Siena)  เรียกได้ว่าทั้งสองเมืองนี้เป็นเมืองหลวงของไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) เลยทีเดียว  นอกนั้นจะมีการผลิตกระจัดกระจายอยู่ที่เมืองปิสโตย่า (Pistoia) เมืองอาเรซโซ่ (Arezzo) และเมืองอื่นๆ บ้าง แต่ไม่มากนัก
              บริษัท ลา มาสซ่า (La Massa) ของนายจัมเปาโล ม๊อตต้า (Giampaolo Motta) จากตำบลปันซาโน่ อิน เคียนติ (Comune di Panzano in Chianti) ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปีค.ศ.1992  เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Wine Producers) ที่มีชื่อเสียงในเขตเมืองฟลอเรนซ์ (Florence)  ทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ จอโจ้ ปริโม่ (Chianti Classico Giorgio Primo) เพียงฉลากเดียวเท่านั้น  โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 90 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับพันธุ์แมร์โล (Merlot) 10 เปอร์เซ็นต์  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) ใหม่ เป็นเวลา 18 เดือน  
              ไวน์ฉลากนี้นำชื่อเสียงมาสู่บริษัท ลา มาสซ่า (La Massa) เป็นอย่างมาก  ดังจะเห็นได้จากการที่ไวน์นี้ได้รับรางวัลทรีกลาสส์ (Three Glasses Award) จากสำนักพิมพ์กัมเบโร่ รอซโซ่ (Gambero Rosso Editore) 9 ครั้งติดต่อกัน นับจากวินเทจ 1993-2001  ทั้งนี้อาจเพราะด๊อกเตอร์คาร์โล แฟร์รินิ (Dr.Carlo Ferrini)  เข้ามาเป็นที่ปรึกษาก็เป็นได้
              ดูเหมือนว่าไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ จอโจ้ ปริโม่ (Chianti Classico Giorgio Primo) วินเทจ 2002  จะเป็นวินเทจสุดท้าย  จากนั้นจะเปลี่ยนโฉมหน้าเป็น ไวน์จอร์โจ้ ปริโม่ ไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) ฉลากใหม่  ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องอยู่ในกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดของทางการอีกต่อไปซึ่งนับว่านายจัมเปาโล ม๊อตต้า (Giampaolo Motta) เป็นนักการตลาดตัวยง  เนื่องจาก ไวน์จอร์โจ้ ปริโม่ 2003 วางขายในราคา 115 ยูโร
              บริษัท มาร์เคสิ อันติโนริ (Marchesi Antinori)  ของมาร์เคเซ่ ปิเอโร่ อันติโนริ (Marchese Piero Antinori) เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) เป็นผู้ผลิตไวน์รายใหญ่ของประเทศอิตาลีซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไป  ในปัจจุบันเป็นเจ้าของบริษัทผลิตไวน์หลายแห่ง เช่น บริษัท ปรูน๊อตโต้ (Prunotto) ในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) บริษัท มอนเตนิซ่า (Montenisa) ในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) บริษัท ตอร์มาเรสก้า (Tormaresca) ในแคว้นปูเยีย (Puglia) บริษัท คาสเตลโล่ เดลล่า ซาล่า (Castello della Sala) ในแคว้นอุมเบรีย (Umbria) บริษัท ลา บราสเชสก้า (Tenuta La Braccesca) บริษัท เปียน เดลเล่ วินเย่ เอสเตท (Pian delle Vigne Estate) และบริษัท กวาโด้ อัล ตาสโซ่ (Tenuta Guado al Tasso) ในแคว้นทัสคานี (Tuscany)  
              ไม่เพียงเท่านั้นบริษัท มาร์เคสิ อันติโนริ (Marchesi Antinori) ยังไปลงทุนในธุรกิจไวน์ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไว้แล้ว 
              ปัจจุบันบริษัท มาร์เคสิ อันติโนริ (Marchesi Antinori) ทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) 3 ฉลาก จาก 3 แหล่งผลิต คือ
              ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ บาเดีย อะ ปาสซินยาโน่ ริแซร์ว่า (Chianti Classico Badia a Passignano Ris.)  ผลิตจากบริษัท บาเดีย อะ ปาสซินยาโน่ (Tenuta Badia a Passignano) ซึ่งเป็นฐานการผลิตบนพื้นที่ 215 เฮ็คต้าร์ ในเขตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Zone)  โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์  แต่ในวินเทจ 1995 ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ ใช้พันธุ์คานายโยโล่ เนโร (Canaiolo nero) องุ่นเขียวพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano) และพันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า (Malvasia bianca) ซึ่งเป็นสูตรดั้งเดิมของไวน์เคียนติ (Chianti) ยุคใหม่  มีการเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique)  ไวน์มีกลิ่นวานิลลา กลิ่นใบยาสูบ และกลิ่นกาแฟคั่ว
              ฉลากไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ บาเดีย อะ ปาสซินยาโน่ ริแซร์ว่า (Chianti Classico Badia a Passignano Ris.) ตั้งแต่วินเทจ 2000 ลงไป จะเป็นฉลากไวน์ที่พิมพ์จากโรงพิมพ์ธนบัตรในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งนักสะสมไวน์ควรซื้อหามาเก็บไว้
              ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ เป๊ปโปลิ (Chianti Classico Pèppoli) ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1985  ผลิตจากบริษัท เป๊ปโปลิ (Tenuta Pèppoli) ฐานการผลิตในเขตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Zone) เช่นกัน  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะเป็นพันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์ซีร่าห์ (Syrah)  แต่ในวินเทจ 1999 ไม่มีพันธุ์ซีร่าห์ (Syrah) เข้ามาผสม  เก็บบ่มในถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาดใหญ่ เป็นเวลา 9 เดือน โดยไม่ยอมใช้ถังบาร์ริค (barrique) ซึ่งเป็นอีกคาแรคเตอร์หนึ่งของไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) จากผู้ผลิตรายนี้  ทั้งนี้เนื่องจากไม่ต้องการให้กลิ่นรุนแรงจากเฟรนช์โอ๊กมามีอิทธิพลเหนือ “aroma” ดั้งเดิมขององุ่น
              ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ มาร์เคเซ่ อันติโนริ ริแซร์ว่า (Chianti Classico Marchese Antinori Ris.) ผลิตจากบริษัท เตนูเต้ มาร์เคเซ่ อันติโนริ (Tenute Marchese Antinori) เมืองฟลอเรนซ์ (Florence)  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 90 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) 10 เปอร์เซ็นต์ มีการเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เช่นเดียวกันกับไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ บาเดีย อา ปาสซิยาโน่ ริแซร์ว่า (Chianti Cl. Badia a Passignano Ris.)
              บริษัท คาสเตลโล่ ดิ อาม่า (Castello di Ama) ของนางลอเรนซ่า เซบาสติ (Lorenza Sebasti) และนายมาร์โค ปัลลันติ (Marco Pallanti) ที่ก่อตั้งในปีค.ศ.1972  มีฐานการผลิตอยู่ในตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองซิเอน่า (Siena) ในบริเวณที่เรียกกันว่าคาสเตลโล่ ดิ โบรลิโอ้ (Castello di Brolio)  ใช้พื้นที่ปลูกองุ่นเพียงแค่ 90 เฮ็คต้าร์ จากพื้นที่รวมทั้งหมด 250 เฮ็คต้าร์ บนที่สูง 500 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล  ผู้ผลิตรายนี้ได้รับการยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นหนึ่งในผู้ผลิตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) ที่ดีที่สุด และได้รับเลือกให้เป็น ผู้ผลิตไวน์แห่งปี 2004 (Winery of the Year 2004) จากสำนักพิมพ์ กัมเบโร่ รอซโซ่ (Gambero Rosso Editore)   
              เป็นผู้ผลิตไวน์ที่มุ่งมั่นในการทำไวน์เคียนติ (Chianti) อย่างจริงจัง  ในอดีคเคยทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ แบร์ติงก้า (Chianti Classico Bertinga) ที่โด่งดังไปทั่วแคว้น จากนั้นก็ทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ วินเยโต้ เบลลาวิสต้า (Chianti Classico Vigneto Bellavista) ตามออกมาในวินเทจ 1978  ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง  แต่ในระยะหลังจะหยุดผลิตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ แบร์ติงก้า (Chianti Classico Bertinga)  โดยเริ่มผลิตไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ วินเยโต้ ลา คาซุสช่า (Chianti Classico Vigneto La Casuccia) และไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ คาสเตลโล่ ดิ อาม่า (Chianti Classico Castello di Ama)                
              ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ วินเยโต้ เบลลาวิสต้า (Chianti Classico Vigneto Bellavista) ผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1978  เป็นไวน์ธงของผู้ผลิตรายนี้ที่มีราคาแพงมากทีเดียว ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ ใช้พันธุ์มาลวาเซีย เนร่า (Malvasia nera)  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 14 เดือน
              ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ วินเยโต้ ลา คาซุสช่า (Chianti Classico Vigneto La Casuccia)  ผลิตตามออกมาในวินเทจ 1985  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ ใช้พันธุ์แมร์โล (Merlot)  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 12 เดือน
              ส่วนไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ คาสเตลโล่ ดิ อาม่า (Chianti Classico Castello di Ama) เป็นน้องใหม่ที่ผลิตออกมาเพื่อตลาดระดับกลาง  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 12 เดือน
              บริษัท บาโรเน่ ริคาโซลิ (Barone Ricasoli)  เป็นผู้ผลิตไวน์แห่งตำนานของไวน์เคียนติ (Chianti) จากตำบลกาโยเล่ อิน เคียนติ (Comune di Gaiole in Chianti)  จากประวัติความเป็นมาที่มีการบันทึกไว้ตระกูลริคาโซลิ (Ricasoli family) ได้เข้าครอบครองพื้นที่นี้ตั้งแต่ปีค.ศ.1141  และคนในตระกูลได้สืบทอดการทำไวน์มาหลายชั่วอายุคน  ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ บาโรเน่ ฟรานเซสโก้ ริคาโซลิ (Barone Francesco Ricasoli) ทายาทรุ่นที่ 32 ของตระกูล  
              ทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico)  ออกสู่ตลาด 3 ฉลาก คือ ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ โบรลิโอ้ (Chianti Classico Brolio) ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ คาสเตลโล่ ดิ โบรลิโอ้ (Chianti Classico Castello di Brolio) และไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ ร๊อคค่า กุชชาร์ด้า ริแซร์ว่า (Chianti Classico Rocca Guicciarda Ris.)
              ที่โด่งดังที่สุดคือไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ คาสเตลโล่ ดิ โบรลิโอ้ (Chianti Classico Castello di Brolio) ที่ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ประมาณ 90-96 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือจะนำเอาพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) และพันธุ์แมร์โล (Merlot) เข้ามาผสมด้วย แต่บางวินเทจก็จะไม่มีพันธุ์แมร์โล (Merlot)  เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 18 เดือน 
              และที่น่าสนใจก็คือ ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ ริแซร์ว่า ร๊อคค่า กุชชาร์ด้า (Chianti Classico Ris. Rocca Guicciarda) ฉลากสีฟ้าสดใสมีลวดลายสีทองขอบฉลากและรอบโลโก้  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 20 เดือน
              บริษัท ฟัตตอเรีย ดิ เฟลซิน่า (Fattoria di Felsina) ของนายจุยเซปเป้ มาซโซโคลิน (Giuseppe Mazzocolin) จากตำบลคาสเตลนูโอโว เบราร์เดงก้า (Comune di Castelnuovo Berardenga)  เป็นผู้ผลิตที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญในการปลูกองุ่นพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ซึ่งถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุคน  ดังจะเห็นได้ว่าไวน์ของผู้ผลิตรายนี้จะใช้แต่องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) เท่านั้น
              ทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ รันช่า ริแซร์ว่า (Chianti Classico Rancia Ris.) ที่เริ่มผลิตครั้งแรกจากวินเทจ 1983  ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) และถังไม้โอ๊กขนาด 550 ลิตร เป็นเวลา 18 เดือน  นอกจากนั้นไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ เบราร์เดงก้า ริแซร์ว่า (Chianti Classico Berardenga Ris.) ที่ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 16 เดือน ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก
              บริษัท คาสเตลโล่ ดิ โวลปาย่า (Castello di Volpaia)  ของตระกูลมาสเคโรนิ (Mascheroni family) จากตำบลรัดด้า อิน เคียนติ (Comune di Radda in Chianti) ซึ่งมีนายริคคาร์โด โกตาเรลล่า (Riccardo Cotarella) เป็นที่ปรึกษาด้านการผลิตไวน์  มีไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) ที่ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือเป็นพันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์ซีร่าห์ (Syrah) เก็บบ่มในถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak)  ขนาดใหญ่เป็นเวลา 14 เดือน  และไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ ริแซร์ว่า (Chianti Classico Ris.) ที่ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังถังสลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak) ขนาดใหญ่ เป็นเวลา 24 เดือน  เป็นไวน์ระดับกลางที่น่าสนใจมาก
              แต่ที่หลายคนจับตามองคือ ไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ โคลตัสซาล่า ริแซร์ว่า (Chianti Classico Coltassala Ris.) ที่ใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์ เก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) เป็นเวลา 30 เดือน
              บริษัท คาสเตลลาเร่ ดิ คาสเตลลิน่า (Castellare di Castellina)  ของนายเปาโล ปาเนราอิ (Paolo Panerai) จากตำบลคาสเตลลิน่า อิน เคียนติ (Comune di Castellina in Chianti) ที่ขยายฐานการผลิตออกไปยังเมืองกรอซเซโต้ (Grosseto) และแคว้นซิซิลี (Sicily)  ทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ วินย่า อิล ปอจจาเล่ ริแซร์ว่า (Chianti Classico Vigna il Poggiale Ris.) โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 75 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือใช้องุ่นพื้นเมืองอีก 4 พันธุ์ ได้รับการยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นไวน์ที่ผสมผสานองุ่นพื้นเมือง 5 พันธุ์ (Cinque Autoctoni ชิงเกว้ อาวตอคโตนิ) ได้อย่างยอดเยี่ยม  นับว่าเป็นไวน์ที่น่าจับตามอง
              ผู้ผลิตไวน์รายนี้ยังมีไวน์ธงที่รู้จักกันดีอย่างไวน์อิ โซดิ ดิ ซาน นิคโคโล๊ะ (I Sodi di San Niccolo’) ไวน์เกรดตอสกาน่า ไอจีที. (Toscana IGT) ที่ใช้เวลาเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) อย่างยาวนานอีกด้วย
              นอกจากผู้ผลิตไวน์ชั้นนำเหล่านี้ ยังมีผู้ผลิตไวน์อีกหลายรายที่ทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) ได้ดี เช่น บริษัท คาสเตลโล่ ดิ ฟอนเต้รูโตลิ (Castello di Fonterutoli)  ทำไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ คาสเตลโล่ ดิ ฟอนเต้รูโตลิ (Chianti Classico Castello di Fonterutoli) โดยใช้องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 100 เปอร์เซ็นต์  ถูกยกให้เทียบชั้นกับไวน์ระดับเปรมิเย่ ครูส์ (Premier Crus) ของฝรั่งเศสเลยทีเดียว
              มีข้อมูลที่น่าสนใจของไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) ที่คอนซอร์ซิโอ เดล มาร์คิโอ สตอริโค่ เคียนติ คลาสสิโก้ (Consorzio del Marchio Storico Chianti Classico) ได้เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนเกี่ยวกับวินเทจที่ดีของไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico) ตั้งแต่วินเทจ 1995-2005  ซึ่งที่จัดอยู่ในระดับ 5 ดาว จะมาจากวินเทจ 1995 / 1997 / 1999 และ 2001  ส่วนระดับ 4 ดาว จะมาจากวินเทจ 1996 / 1998 / 2000 / 2003 และ 2004 
              ความสัมพันธ์ระหว่าง คอนซอร์ซิโอ วิโน่ เคียนติ คลาสสิโก้ (Consorzio Vino Chianti Classico) และคอนซอร์ซิโอ วิโน่ เคียนติ (Consorzio Vino Chianti) ดูจะไม่ราบรื่นเท่าใดนัก  ผู้ผลิตไวน์ในกลุ่มไวน์เคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Wine Producers) มองว่าผู้ผลิตไวน์ในกลุ่มไวน์เคียนติ (Chianti Wine Producers) ทำไวน์เคียนติ (Chianti) ราคาถูกเพื่อการค้าเท่านั้นทำให้ภาพพจน์ไวน์ของชาวทัสกัน (Tuscan wines) ตกต่ำ 
              ขณะที่ผู้ผลิตไวน์ในกลุ่มเคียนติ (Chianti Wine Producers) มองว่าผู้ผลิตไวน์ในกลุ่มเคียนติ คลาสสิโก้ (Chianti Classico Wine Producers) ยกระดับไวน์ของตนเองโดยฉกฉวยโอกาสจากคำว่า คลาสสิโก้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น