“ไวน์วัลโปลิเชลล่า” เป็นไวน์แดงในเขตดีโอซี.(DOC appellation) ที่ถูกกำหนดขึ้นในปีค.ศ.1968 ใช้องุ่นพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) 45-95 เปอร์เซ็นต์ เป็นส่วนผสมหลัก แต่อนุญาตให้นำเอาพันธุ์คอร์วิโนเน่ (Corvinone) เข้ามาทดแทนได้ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผสมรองจะใช้พันธุ์รอนดิเนลล่า (Rondinella) 5-30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือให้ใช้องุ่นแดงชนิดอื่นๆ ที่ปลูกในเขตเมืองเวโรน่า (Verona) รวมกันไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ แต่พันธุ์ใดพันธุ์หนึ่งต้องไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ การผลิตไวน์จะอยู่ในการควบคุมของ คอนซอร์ซิโอ ตูเตล่า วินิ วัลโปลิเชลล่า (Consorzio Tutela Vini Valpolicella) หน่วยงานท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของรัฐบาล
“ไวน์วัลโปลิเชลล่า” ที่ผลิตจากเขตวัลโปลิเชลล่า คลาสสิก้า (Valpolicella Classica Zone) หรือที่เรียกกันว่า “Classico Zone” เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ใช้คำว่า “Valpolicella Classico” บนฉลากไวน์ หากผลิตจากเขตวัลปันเตน่า (Valpantena Zone) ต้องใช้คำว่า “Valpolicella” หรือ “Valpolicella Valpantena” จะไม่มีสิทธิ์ใช้ร่วมกับคำว่า “Classico” โดยเด็ดขาด
ดังนั้นเราจะเห็นไวน์ที่ออกสู่ตลาดในจะมีทั้ง “Valpolicella Classico” หรือ “Valpolicella” หรือ “Valpolicella Valpantena” และอาจจะมี “Valpolicella Classico Superiore” หรือ “Valpolicella Superiore” หรือ “Valpolicella Valpantena Superiore” สำหรับไวน์ที่มีคุณภาพเหนือระดับมาตรฐาน
สำหรับชนิด “Superiore” มีข้อกำหนดที่เห็นชัดเจนคือ จะต้องมีระดับแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 11.0 เปอร์เซ็นต์ และจะต้องเก็บบ่มไวน์ในถังไม้โอ๊ค เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 12 เดือน ซึ่งจะส่งผลให้ไวน์มีโครงสร้างหนาขึ้น สารประกอบฟีนอล (phenolic compound) สูงขึ้น และแอซิดิตี้ (acidity) ลดลง
บนฉลากไวน์ห้ามใช้คำว่า “extra” หรือ “fine” หรือ “scelto” หรือคำที่มีความหมายคล้ายกัน แต่สามารถใส่ชื่อผู้ผลิตหรือชื่อทางการค้าได้
“ไวน์วัลโปลิเชลล่า” ทั้งหมด ที่จะออกสู่ตลาดจะต้องกระทำภายหลังจากวันที่ 1 ธันวาคม ของปีหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งหมายความว่าไวน์จากวินเทจ 2010 จะสามารถส่งออกจำหน่ายได้นั้นต้องภายหลังจากวันที่ 1 ธันวาคม ค.ศ.2011
“ไวน์วัลโปลิเชลล่า” อีกชนิดหนึ่งซึ่งเป็นไวน์ชนิดพิเศษที่ผลิตกันออกมาจาก วัลโปลิเชลล่า แอเรีย (Valpolicella Area) ได้แก่ ไวน์วัลโปลิเชลล่า ริปาซโซ่ (Valpolicella Ripasso)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น