เกิดจากความคิดเพียงชั่วเสี้ยววินาทีขณะที่กำลังดื่มไวน์ระดับธรรมดาๆ จากแคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo) ที่ร้านอาหารอิตาเลียนแห่งหนึ่งในซอยสุขุมวิท 33 เมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2551 ซึ่งมีไม่บ่อยนักที่ผมเกิดความประทับใจต่อไวน์ดีราคาถูกของชาวอาบรุซเซเซ่ (Abruzzese) เช่นนี้ เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาผมมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับไวน์จากแคว้นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวน์ที่ทำจากองุ่นพันธุ์มอนเต้ปูลชาโน่ (Montepulciano)
แต่ทว่ากำแพงแห่งความมีอคติได้พังทลายลงไปแล้วหลังจากที่ผมได้ดื่มไวน์ มอนเตปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ คาซาเล่ เวคคิโอ (Monrepulciano d'Abruzzo Casale Vecchio) หมดไปครึ่งขวด
บนผืนแผ่นดินของประเทศอิตาลี ที่มีรูปร่างคล้ายรองเท้าบูท แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 แคว้น (region) ในแต่ละแคว้นก็จะมีไวน์ที่โดดเด่นของตัวเอง อย่างในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ก็จะมีไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) และไวน์ซูเปอร์ ทัสกัน (Super Tuscans) ในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) ที่ชาวอังกฤษออกเสียงว่า"เพียดมอนต์"ก็จะมีไวน์บาโรโล่ (Barolo) และไวน์บาร์บาเรสโก้ (Barbaresco) ส่วนในแคว้นเวเนโต้ (Veneto) ก็มีไวน์อมาโรเน่ เดลล่า วัลโปลลิเซลล่า (Amarone della Valpolicella) เป็นไวน์ธง ซึ่งไวน์เหล่านี้ผมเชื่อว่านักดื่มไวน์ชาวไทยคงจะคุ้นเคยพอสมควร แต่หากจะเอ่ยถึงไวน์จากแคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo) ขึ้นมาบ้าง ก็เชื่อว่าแทบจะไม่มีใครรู้จักกันเลย ผมจึงได้ขึ้นหัวข้อเรื่องนี้ไว้ว่า " Unsung Abruzzo"
แคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo) ตั้งอยู่ตอนกลางของคาบสมุทรอิตาลีทางฝั่งทะเลอาเดรียติค (Adriatic Sea) มีพื้นที่ประมาณ 10,800 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 1,300,000 คน (ค.ศ.2007) โดยมีเมืองลาควิลล่าเป็นเมืองหลวงของแคว้น (ขอให้ออกเสียงว่า ลา-ควิ-ล่า) โดยจะมีเมืองคิเอติ (Chieti) เมืองเปสคาร่า (Pescara) และเมืองเตราโม่ (Teramo) เป็นเมืองบริวาร ในอดีตได้ถูกครอบครองโดยกลุ่มชนหลายชนชาตินับตั้งแต่ประเทศสเปน จอมล่าอาณานิคม มาถึงอาณาจักรออสเตรีย และส่งต่อให้กับประเทศฝรั่งเศสในสมัยราชวงศ์บูร์บองส์ (Bourbons Dynasty) แต่ในที่สุดกลับคืนมาสู่อ้อมออกของประเทศอิตาลี เมื่อจุยเซ็ปเป้ การิบัลดิ (Giuseppe Garibaldi) นายทหาร 3 สัญชาติ รวมอิตาลีให้เป็นหนึ่งเดียวในปี ค.ศ.1860
สภาพทางภูมิศาสตร์ของแคว้นอาบรุซโซ่ เป็นภูเขาสูงสลับกับป่าไม้ มีฝนตกโดยเฉลี่ย 40 นิ้วต่อปี อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 13 องศาเซลเซียส มีหิมะปกคลุมในหน้าหนาวบนเทือกเขาอัปเปนไนน์ (Appennine)
ซึ่งทอดยาวจากทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเหมาะแก่การท่องเที่ยว การเล่นสกี การปีนเขา การเดินป่าและล่าสัตว์ กล่าวกันว่าในแคว้นนี้จะมีสัตว์ป่าที่หายากหลายชนิด เช่น
หมีอัปเปนไนน์สีน้ำตาล เลียงผาอาบรุซโซ่ ที่มีแผงคอสีขาวสลับดำ แมวป่าอับเปนไนน์ รวมทั้งสุนัขป่าและสุนัขจิ้งจอกก็มีอยู่มาก
มีพื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 33,250 เฮกตาร์ มีผลผลิตไวน์รวมประมาณ 4,200,000 เฮกโตลิตร ซึ่ง 3 ใน 4 จะขายทั่วประเทศและส่งออกไปต่างประเทศ ไวน์แดงที่พอจะมีชื่อเสียงของแคว้นนี้ก็เห็นจะมีไวน์ มอนเต้ปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ (Montepulciano d'Abruzzo) ไวน์เกรด DOC ที่ผลิตกันอย่างแพร่หลายเกือบทั้งแคว้น และไวน์มอนเต้ปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ คอลลิเน่ เตรามาเน่ (Montepulciano d'Abruzzo Colline Teramane) ไวน์เกรด DOCG ที่ผลิตกันบ้างไม่มากนัก นอกนั้นก็จะมีไวน์คอนโตรแกร์ร่า (Controguerra) ไวน์เกรด DOC ที่เป็นทั้ง still wine และไวน์หวาน (passito) รวมถึงมีไวน์เกรด IGT ที่ใช้องุ่นพันธุ์คาเบอร์เนต์ โซวิญยอง (Cabernet Sauvignon) พันธุ์แมร์โลต์ (Merlot) และพันธุ์ปิโน เนโร (Pinot Nero or Pinot Noir) ส่วนไวน์ขาวก็จะมีไวน์เตรบบิอาโน่ ดาบรุซโซ่ (Trebbiano d'Abruzzo) ไวน์เกรด DOC ซึ่งผลิตเคียงคู่ไปกับไวน์ Montepulciano d'Abruzzo โดยเอาองุ่นพันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano Toscano) มาจากแคว้นทัสคานี
แต่ที่ชาวอาบรุซเซเซ่ ภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งคือไวน์ Montepulciano d'Abruzzo และไวน์ Montepulciano d'AbruzzoColline Teramane ไวน์เกรด DOCG เพียงหนึ่งเดียวของแคว้น
ตามกฎเกณฑ์การผลิตไวน์ที่อยู่ในการควบคุมดูแลของคอนซอร์ซิโอ ดิ ตูเตล่า เดอิ วินิ ดาบรุซโซ่ (Consorzio di Tutela dei Vini d'Abruzzo) ไวน์ Montepulciano d'Abruzzo จะต้องใช้องุ่นพันธุ์ Montepulciano ไม่น้อยกว่า 85% ส่วนไวน์ Montepulciano d'Abruzzo Colline Teramane จะใช้องุ่นพันธุ์นี้ ไม่น้อยกว่า 90% ซึ่งไวน์เหล่านี้ นำเข้ามาในเมืองไทยไม่มากนัก
ผู้ผลิตไวน์ในแคว้นอาบรุซโซ่ กระจายตัวอยู่ตามเมืองคิเอติ เมืองเปสคาร่า และเมืองเตราโม่ มีผลิตกันบ้างในเมืองลาควิล่า ผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีก็มีอยู่น้อยราย ที่พอจะเป็นที่ยอมรับอยู่บ้างก็คือ บริษัท วาเลนตินี (Azienda Agricola Valentini) แห่งเมืองเปสคาร่า บริษัท มาสชาเรลลิ (Azienda Agricola Masciarelli) และบริษัท ฟาร์เนเซ่ วินิ (Farnese Vini Srl.) แห่งเมืองคิเอติ
บริษัท วาเลนตินิ ผู้ผลิตจากตำบลลอเรโต้ อาปรูนิโต้ (Loreto Aprunito) เมืองเปสคาร่า เป็นบูติคไวน์เนอรี่ (boutique winery) ที่ผลิตไวน์ปีละ 40,000 ขวดเท่านั้น จะมีไวน์ Montepulciano d'Abruzzo เกรด DOC ที่โด่งดังมาตั้งแต่ปีค.ศ.1988 ใช้องุ่นพันธุ์ Montepulciano 100% ราคาขายปลีกที่ประเทศอิตาลีประมาณ 40-45 ยูโร ถือเป็นไวน์ชั้น "เทพ"เลยทีเดียว แต่น่าเสียดายยังไม่มีผู้นำเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย
บริษัท มาสซาเรลลิ ผู้ผลิตจากตำบลซาน มาร์ติโน่ ซุลล่า มาร์รุชชิน่า (San Martino sulla Marruccina) เมืองคิเอติ ผลิตไวน์ปีละ 1,200,000 ขวด ไวน์ตัวเด่นจะเป็นไวน์มอนเต้ปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ มาริน่า ชเวติค (Montepulciano d'Abruzzo Marina Cvetic) และไวน์มอนเต้ปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ เชราซูโอโล่ วิลล่า เกมม่า (Montepulciano d'Abruzzo Cerasuolo Villa Gemma) ที่ผมซื้อมาจากสนามบินโรม ฟูมิชิโน่ (Rome Fiumicino Airport) เมื่อปลายปีค.ศ.2006 ในราคาขวดละ 28 ยูโร ไวน์เกรด DOC ทั้งสองฉลากนี้เป็นเสมือนไวน์คู่แฝดที่อยู่ในระดับแนวหน้าของแคว้นซึ่งใช้องุ่นพันธุ์ Mpntepulciano 100% แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเมื่อผมเปิดดื่มหลังจากที่กลับถึงเมืองไทยเพียงหนึ่งสัปดาห์ ไวน์กลับไม่โดดเด่นดังคาดหวัง ซึ่งอาจเป็นเพราะการรอนแรมอย่างอ่อนล้าในเครื่องบินจากเมืองโบโลญญ่า มาต่อเครื่องที่กรุงโรม กว่าจะถึงประเทศไทยก็ใช้เวลานานกว่า 16 ชั่วโมง ทำให้ไวน์ไม่ได้แสดงศักยภาพที่แท้จริงออกมา
บริษัท ฟาร์เนเซ่ วินิ ผู้ผลิตจากตำบลออร์โตน่า (Ortona) ผลิตไวน์ปีละ 11 ล้านขวด แม้ว่าจะทำไวน์ในแบบ mass products แต่ผู้ผลิตรายนี้ก็ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพไวน์เป็นอย่างยิ่ง ทำให้ไวน์ Montepulciano d'Abruzzo Colline Teramane Opi Ris. ไวน์เกรด DOCG โดยใช้องุ่นพันธุ์ Montepulciano 100% และทำไวน์ Montepulciano d'Abruzzo Casale Vecchio ไวน์เกรด DOC โดยใช้องุ่นพันธุ์ Montepulciano 100% เช่นกัน ความเป็นมาของบริษัท ฟาร์เนเซ่ วินิ ได้ถูกเล่าขานมากันตั้งแต่ปีค.ศ.1538 เมื่อเจ้าหญิงมาร์เกริต้า ดอสเตรีย (Margherita d'Austria) พระธิดาของจักรพรรดิ์คาร์โลที่ 5 แห่งราชวงศ์แฮพส์เบอร์ก (House of Hapsburg) เข้าพิธีอภิเษกกับ อ๊อตตาวิโอ ฟาร์เนเซ่ (Ottavio Farnese) ผู้เป็น Duke of Parma และได้เสด็จมาประทับในประเทศอิตาลีอย่างถาวรในปีค.ศ.1567
ในปีค.ศ.1582 ซึ่งเป็นบั้นปลายแห่งชีวิตของเจ้าหญิงมาร์เกริต้า ดอสเตรีย ได้ทรงจ่ายเงิน 52,000 ดูกัต (Ducat) ซื้อที่ดินมากมายในตำบลออร์โตน่า เมืองคิเอติ แคว้นอาบรุซโซ่ เพื่อสร้าง คาสเตลโล่ คาลโดร่า (Castello Caldora) ปราสาทหลังใหญ่ที่มีความหรูหราที่สุดในยุคนั้น ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งและปราสาทหลังนี้ได้รับการบูรณะให้เป็นบริษัท ฟาร์เนเซ่ วินิ ในปัจจุบัน
ไวน์ Montepulciano d'Abruzzo Casale Vecchio ของบริษัท Farnese Vino Srl. ที่ผมประทับใจ เป็นไวน์จากวินเทจ 2006 จัดอยู่ในกลุ่มไวน์ที่คุ้มค่าที่สุด แม้ว่าไวน์ยังใหม่อยู่มาก แต่ทว่าความอ่อนวัย มิได้ทำให้คุณค่าของตัวเองลดลงเลย ซึ่งเมื่อผมเข้าไปดูในเว็บไซต์ของผู้ผลิตรายนี้ก็ทราบว่าได้ทำออกมาให้พร้อมดื่มในเวลานี้ และยังสามารถเก็บไว้ได้อีก 3-4 ปีอีกด้วย
จากแสงไฟที่สว่างพอสมควร ทำให้มองเห็นไวน์มีสีแดงทับทิมเข้มลึก ขอบสีม่วงปรากฎให้เห็นอยู่ชัดเจนตามประสาไวน์อายุ 2 ขวบ กลิ่นหอมหวานของเชอรี่เด่นชัด เจือปนมาด้วยกลิ่นบางเบาของกุหลาบแดง โครงสร้างของไวน์อวบอูม (full-bodied) เป็นผลมาจากไวน์ถูกเก็บบ่มในถังไม้โอ๊คเป็นเวลา 8 เดือน สัมผัสแรกของปลายลิ้นทำให้รู้สึกได้ว่า ไวน์ยั้งคงมีความหวานเล็กน้อย แต่ก็ยังมีความสมดุลดีอยู่ เมื่อกลั้วอยู่ในโพรงปากก็ให้ความรู้สึกของรสชะเอมและมีความเผ็ดร้อนเล็กน้อย มีอาฟเตอร์เทสท์ ให้รู้สึกได้บ้างเมื่อกลืนลงไปในลำคอ แต่หลังจากนั้นอีกประมาณ 20 นาที เมื่อไวน์อุ่นขึ้น เนื้อไวน์จะบางลงเล็กน้อยและรู้สึกได้ถึงไอเค็มจากทะเลอาเดรียติค จนผมต้องนำไวน์ไปเข้าตู้แช่ไวน์อีกครั้ง
ด้วยความสงสัยว่า Casale Vecchio ขวดนี้จะมีความเสถียรหรือไม่ หลังจากนั้นอีกหนึ่งสัปดาห์ ผมจึงพิสูจน์อีกครั้งที่ร้านอาหารอิตาเลียนในโรงแรมระดับ 5 ดาว หัวถนนลาดพร้าว ในครั้งนี้มีการเตรียมการอย่างดีโดยผมนำไวน์ไปฝากแช่ไว้ในตู้แช่ไวน์ก่อนถึงเวลาดื่มประมาณ 3 ชั่วโมง เพื่อให้อุณหภูมิของไวน์อยู่ในระดับที่เหมาะสม คราวนี้ผมลองเปิดไวน์ทิ้งไว้เพียงแค่ 15 นาที ก็รู้สึกว่าไวน์มีโครงสร้างที่อวบอูมเช่นเดิม ไอเค็มไม่ปรากฏ กลิ่นหอมหวานของเชอรี่ยังออกมาดังครั้งก่อน ไวน์มีความสมดุลมากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 ชั่วโมง ไวน์ก้นขวดก็ยังคงรักษาระดับความสมดุลได้ดี นั่นเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยพบมาก่อนในไวน์ระดับราคาต่ำกว่าพันบาทเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็น "Unsung Abruzzo" ที่ไม่เคยพบมาก่อนอย่างแท้จริง
ที่มา : ตัดตอนมาจากนิตยสาร Wine Today September 2008
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น