“ไวน์วัลโปลิเชลล่า” เป็นไวน์ที่ทำรายได้มากที่สุดของแคว้นเวเนโต้ (Veneto ) ทำการผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (mass product) ในพื้นที่ที่เรียกกันว่า วัลโปลิเชลล่า แอเรีย (Valpolicella Area) โดยเริ่มต้นจากบริเวณทิศเหนือของเมืองเวโรน่า (Verona ) ไปจนถึงทะเลสาบการ์ด้า (Lago di Garda)
คำว่า “วัลโปลิเชลล่า” มีข้อสมมติฐานที่กล่าวอ้างกันอย่างหลากหลาย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีเหตุผลสนับสนุนและมีความเป็นไปได้แทบทั้งสิ้น
สมมติฐานแรก มาจากชื่อของหุบเขา วัลเล่ย์ ปรูวินิอาโน่ (valley pruviniano) หรือวัลเล่ย์ เวริอาโก้ (valley veriago) ที่อยู่ในบริเวณวัลโปลิเชลล่า แอเรีย (Valpolicella Area) ซึ่งต่อมาในปีค.ศ.1177 กษัตริย์เฟรเดริค ที่ 1 (Frederick I) แห่งเยอรมันนี ผู้มาเป็นจักรพรรดิ์บาร์บารอซซ่า (Barbarossa) แห่งจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire ) ให้เปลี่ยนชื่อเป็น วัล โปเลซาล่า (val polesala) แต่สมมติฐานนี้นักการศึกษายังมีข้อโต้แย้งอยู่
สมมติฐานที่สอง มาจาก วัล ปูลลิชินู (val pullicinu) ที่แปลว่า เม็ดทรายและก้อนกรวดที่ถูกน้ำพัดพา สันนิษฐานว่าหมายถึงตำบลเปสคันติน่า (Comune di Pescantina) ในเขตวัลโปลิเชลล่า คลาสสิก้า (Valpolicella Classica) ที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำอาดิเจ้ (Adige river)
สมมติฐานที่สาม มาจาก โพลิเซลอส (polyzelos) คำในภาษากรีก ที่แปลว่า หุบเขาที่พระเจ้าประทานมาให้ (very blessed valley) ตรงกับคำว่า ปูลเชลล่า (pulcella) ในภาษาละติน
สมมติฐานที่สี่ มาจาก วัล โปลิเชลเล่ (val policellae) คำในภาษาละติน ซึ่งหมายถึงหุบเขาที่เรียงซ้อนกันหลายชั้น (valley of many cellars) ในความหมายนี้จะตรงตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ของ “วัลโปลิเชลล่า แอเรีย” ที่เป็นเนินเขาและหุบเขาน้อยใหญ่มากมาย สมมติฐานนี้จึงมีความเป็นไปได้สูงทีเดียว
“วัลโปลิเชลล่า แอเรีย” เป็นพื้นที่การผลิตไวน์ที่กว้างใหญ่ไพศาล แบ่งออกเป็น 2 เขต ได้แก่ เขตวัลโปลิเชลล่า คลาสสิก้า (Valpolicella Classica Zone) และเขตวัลปันเตน่า (Valpantena Zone)
เขตวัลโปลิเชลล่า คลาสสิก้า (Valpolicella Classica Zone) หรือที่เรียกกันว่า “Classico Zone” จะประกอบด้วย 5 ชุมชน ที่อยู่ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเวโรน่า (Verona) คือ ตำบลฟูมาเน่ (Comune di Fumane) ตำบลมาราโน่ (Comune di Marano) ตำบลซาน ปิเอโตร อิน คาเรียโน่ (Comune di San Pietro in Cariano) ตำบลซาน ตัมโบรโจ้ ดิ วัลโปลิเชลล่า (Comune di San’t Ambrogio di Valpolicella) และตำบลเนกราร์ (Comune di Negrar) รวมถึงพื้นที่บางส่วนของตำบลเกรซซาน่า (Comune di Grezzana) ตำบลบาร์โดลิโน่ (Comune di Bardolino) ตำบลเปสคิเอร่า เดล การ์ด้า (Comune di Peschiera del Garda) ตำบลซอมม่าคัมปานย่า (Comune di Sommacampagna) และรอบนอกของเมืองเวโรน่า (Provincia di Verona) ที่ได้รับการรับรองให้เป็นส่วนหนึ่งของ “Classico Zone”
เขตวัลปันเตน่า (Valpantena Zone) จะประกอบด้วย 6 ชุมชน ที่อยู่ทางทิศเหนือของเมืองเวโรน่า (Verona) คือ ตำบลแชร์โร่ เวโรเนเซ่ (Comune di Cerro Veronese) ตำบลควินโต วัลปันเตน่า (Comune di Quinto Valpantena) ตำบลซานตา มาเรีย อิน สเตลเล่ (Comune di Santa Maria in Stelle) ตำบลสตัลลาเวน่า (Comune di Stallavena) ตำบลอัซซาโก้ (Comune di Azzago) และตำบลโรมานยาโน่ (Comune di Romagnano) รวมถึงอีก 9 ชุมชน ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองเวโรน่า (Verona) ที่เคยเป็นเขตเวโรน่า อีสต์ (Verona East Zone) คือ ตำบลซาน มาร์ติโน่ บวน อัลแบร์โก้ (Comune di San Martino Buon Albergo) ตำบลลาวานโย่ (Comune di Lavagno) ตำบลเมซซาเน่ ดิ ซอตโต้ (Comune di Mezzane di Sotto) ตำบลเตรนยาโน่ (Comune di Tregnago) ตำบลอิลลาสิ (Comune di Illasi) ตำบลโคโลนโยล่า อาย คอลลิ (Comune di Colognola ai Colli) ตำบลคาซซาโน่ ดิ ตรามินย่า (Cazzano di Tramigna) ตำบลซาน เมาโร ดิ ซาลิเน่ (Comune di San Mauro di Saline) และตำบลมอนเตคเคีย ดิ โครซาร่า (Montecchia di Crosara)
แต่เดิมทีพันธุ์องุ่นที่นำมาทำ “ไวน์วัลโปลิเชลล่า” จะเป็นพันธุ์องุ่นพื้นเมืองทั้งสิ้น ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะใช้องุ่นพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) พันธุ์รอนดิเนลล่า (Rondinella) และพันธุ์โมลินาร่า (Molinara) ซึ่งชาวเวโรเนเซ่ (Veronese) บอกว่าเป็นส่วนผสมที่ลงตัวที่สุด ผู้ผลิตบางรายจะนำเอาองุ่นพันธุ์เนกราร่า (Negrara) พันธุ์โครอาติน่า (Croatina) หรือพันธุ์อื่นๆ มาผสมด้วย ผู้ผลิตบางรายจะไม่ใช้องุ่นพันธุ์โมลินาร่า (Molinara)
ต่อมาในปีค.ศ.1942 มีนักการศึกษาจากหลายสถาบันให้ความเห็นว่าองุ่นพันธุ์คอวิโนเน่ (Covinone) มีคุณลักษณะพิเศษที่ดีบางประการที่ผู้ผลิตไวน์ควรจะนำเข้ามาเป็นส่วนผสม
องุ่นพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) ในอดีตถูกเรียกว่าพันธุ์ริซซ่า (Rizza) จะมีขนาดช่อขนาดปานกลางรูปทรงปิรามิด ช่อจะยาวกว่าองุ่นพันธุ์อื่นๆ ใบขนาดปานกลางรูป 5 แฉก ปลายใบเรียว สีผิวองุ่นสดสวยจะออกทางม่วงเข้มหรือน้ำเงิน ผลกลมเกลี้ยง ขนาดไม่ใหญ่นักและมีเมล็ดน้อย จะปลูกได้ดีบนเนินเขาสูง เป็นองุ่นที่มีถิ่นกำเนิดในเมืองเวโรน่า (Verona ) ปัจจุบันปลูกกันทั่วไปบริเวณทิศตะวันออกของวัลโปลิเชลล่า แอเรีย (Valpolicella Area) โดยมีคุณลักษณะพิเศษจะให้สีที่เข้มข้นในไวน์ ให้ความนุ่มนวลและให้กลิ่นหอมที่ยั่วยวนใจ
องุ่นพันธุ์รอนดิเนลล่า (Rondinella) เป็นพันธุ์องุ่นที่ถูกเปิดเผยอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปีค.ศ.1882 ปลูกกันมากทางทิศตะวันตกของของวัลโปลิเชลล่า แอเรีย (Valpolicella Area) มีช่อขนาดใหญ่รูปทรงกระบอกและผลใหญ่กว่าพันธุ์คอร์วิน่า (Corvina) ใบรูป 5 แฉก ขนาดใหญ่แตกต่างจากใบของพันธุ์คอร์วิน่า (Corvina) อย่างชัดเจน มีความต้านทานโรคได้ดี ผลกลมเกลี้ยงสีม่วงถึงดำ ให้แทนนินที่มากกว่าปกติรวมทั้งกลิ่นหอมของดอกไม้นานาชนิด
องุ่นพันธุ์โมลินาร่า (Molinara) เป็นพันธุ์องุ่นที่รู้จักกันครั้งแรกในปีค.ศ.1800 บางครั้งถูกเรียกว่าองุ่นเค็ม (salted grape) ปลูกได้ดีตามเชิงเขา มีช่อขนาดใหญ่รูปทรงกระบอกและผลใหญ่ ใบ 3 แฉกขนาดใหญ่มาก มีความต้านทานโรคได้ดี ผลกลมเกลี้ยงสีม่วงอ่อนเกือบซีด ให้ความเป็นกรดสูงและมีกลิ่นหอมที่แตกต่างออกไป
องุ่นพันธุ์คอร์วิโนเน่ (Corvinone) เป็นพันธุ์องุ่นที่ปลูกกันไม่แพร่หลายเท่าใดนัก คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเป็นองุ่นพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) เริ่มเป็นที่รู้จักในปีค.ศ.1980 ปลูกได้ดีบนเนินเขาสูง มีผลใหญ่กลมผิวองุ่นสีน้ำเงินเฉดม่วง มีช่อใหญ่รูปทรงคล้ายปิรามิด ใบคล้ายกับพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) หากปลูกในระยะเวลาเดียวกันจะสุกช้ากว่า
ส่วนพันธุ์อื่นๆ ที่จะนำมาใช้เป็นส่วนผสมเพียงเล็กน้อยใน “ไวน์วัลโปลิเชลล่า” เช่น พันธุ์เนกราร่า (Negrara) พันธุ์โครอาติน่า (Croatina) พันธุ์ฟอร์เซลลิน่า (Forsellina) พันธุ์ดินดาเรลล่า (Dindarella) หรือ พันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น