ผมตั้งใจว่าจะเขียนถึงองุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า (Nero d’ Avola) มานานแล้ว จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เขียน เพราะได้แต่ผลัดวันประกันพรุ่งอยู่เรื่อยมา ถึงเวลานี้ไม่อาจทานทนต่อกระแสความร้อนแรงของไวน์จากเกาะซิซิลี จึงต้องรีบเขียนออกมาให้ได้ทราบกัน มิฉะนั้นแล้วผมอาจจะเป็นคนหลงยุคไปเลยก็ได้
อันที่จริงแล้วชาวซิซิเลียนรู้จักการทำไวน์มานานกว่า 3,000 ปี แต่ในอดีตที่ผ่านมาการปลูกองุ่นจะเป็นไปแบบดั้งเดิมที่สืบทอดความรู้จากการบอกเล่าของบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน ชาวซิซิเลียนทำไวน์เพื่อการดื่มในครอบครัวและเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าที่ใช้ในการดำรงชีพ การปลูกองุ่นก็ไม่ได้ดูแลกันอย่างใกล้ชิดและขาดการจัดการที่ดี ระบบการชลประทานยังมีความล้าหลัง ชาวซิซิเลียนเริ่มหันมาให้ความสำคัญต่อการปลูกองุ่นเมื่อกลางทศวรรษที่ 20 นี่เอง
บนเกาะซิซิลีมีพื้นที่ปลูกองุ่นประมาณ 133,500 เฮ็คต้าร์ พื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นดินภูเขาไฟ (Valcanic soil) พื้นที่อันอุดมสมบูรณ์เหล่านั้นไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า แต่หลังจากที่รัฐบาลแห่งชาติได้ก่อตั้งกองทุนการพัฒนาอิตาลีตอนใต้ในปีค.ศ.1950 (The Southern Italy Development Fund 1950) ทำให้การเกษตรกรรมมีการปฏิรูปอย่างจริงจังให้เห็นเป็นรูปธรรม การปลูกองุ่นจึงได้รับการพัฒนาไปสู่การเกษตรยุคใหม่ พื้นที่ถูกใช้ประโยชน์มากขึ้นและการปลูกองุ่นก็มีคุณภาพที่ดียิ่งขึ้น
และจากการที่มีการกำหนดให้เขตเชราซูโอโล่ ดิ วิตตอเรีย (Cerasuolo di Vittoria) เป็นเขตไวน์ดีโอซีจี.(DOCG Appellation) เขตแรกของแคว้นซิซิลี (Sicily ) เมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ.2005 ทำให้ไวน์เชราซูโอโล่ ดิ วิตตอเรีย (Cerasuolo di Vittoria) ไวน์แดงชั้นดีถูกยกระดับขึ้นเป็นไวน์เกรดดีโอซีจี. ทั้งนี้และทั้งนั้นเป็นผลพวงจากการที่อุตสาหกรรมการผลิตไวน์ของแคว้นนี้มีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
เกาะซิซิลี เป็นเกาะรูปสามเหลี่ยมในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) มีฐานะเป็นแคว้นๆ หนึ่งของประเทศอิตาลี ในอดีตเคยถูกเรียกว่า ตรินาเครีย (Trinacria) ซึ่งมีความหมายว่าผืนแผ่นดินที่รายรอบด้วยทะเล 3 ด้าน เนื่องจากตัวเกาะถูกล้อมรอบด้วยทะเลไทเรเนียน (Tyrrhenian Sea) ทะเลไอโอเนียน (Ionian Sea) และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) มีพื้นที่ของเกาะประมาณ 25,711 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 5 ล้าน 5 หมื่นคน (ค.ศ.2010) เมืองปาแลร์โม่ (Palermo) เป็นเมืองหลวงของแคว้น โดยมีเมืองอากริเจนโต้ (Agrigento) เมืองคัลตานิซเซตต้า (Caltanissetta) เมืองคาตาเนีย (Catania) เมืองเอนน่า (Enna) เมืองเมสซิน่า (Messina) เมืองรากูซ่า (Ragusa) เมืองซิราคูเซ่ (Syracuse) และเมืองตราปานิ (Trapani) เป็นเมืองบริวาร
พื้นที่ร้อยละ 80 ของเกาะซิซิลี เป็นภูเขาและเนินเขา มีภูเขาเอตน่า (Mt. Etna ) ที่มียอดเขาสูง 3,261 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลอยู่ทางทิศตะวันตกของเกาะ มีพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลที่อุดมสมบูรณ์บริเวณเมืองคาตาเนียและเมืองปาแลร์โม่ สำหรับเป็นที่อยู่อาศัย การปศุสัตว์ การเกษตรกรรม และการอุตสาหกรรม
จากการที่มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศที่เอื้ออำนวย มีฤดูร้อนที่ยาวนาน ทำให้การเกษตรกรรมมีบทบาทที่สำคัญของแคว้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปลูกองุ่นเพื่อการทำไวน์
องุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า เป็นองุ่นพื้นเมืองที่มีถิ่นกำเนิดในตำบลอโวล่า (Avola) ตำบลเล็กๆ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะซิซิลี ผลองุ่นเมื่อสุกเต็มที่จะมีสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ จึงถูกขนานนามว่าองุ่นดำแห่งตำบลอโวล่า (the black grape of Avola) ตรงกับคำว่า เนโร ดิ อโวล่า (Nero di Avola) ในภาษาอิตาเลียน แต่คำบุพบท (preposition) เมื่อนำหน้าคำนามที่ขึ้นต้นด้วยสระจะต้องมีการลดรูป ดังนั้นจึงต้องเขียนและออกเสียงเป็น เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola)
ในช่วงทศวรรษที่ 80 การปลูกองุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า บนเกาะซิซิลีมีปริมาณลดลงอย่างน่าตกใจเนื่องจากผู้ปลูกองุ่นส่วนหนึ่งเริ่มปลูกองุ่นจากต่างประเทศ (international grapes) ที่ให้ผลกำไรสูงกว่า เช่น พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง และพันธุ์แมร์โล แต่บัดนี้องุ่นพันธุ์นี้ได้กลายเป็นที่ต้องการของผู้ผลิตไวน์มากมาย
วิธีการปลูกองุ่นแผนใหม่ (the modernized viniculture) และการเก็บเกี่ยวองุ่นในตอนกลางคืนถูกนำมาใช้บนเกาะ รวมถึงวิธีการทำไวน์ (vinification) ของผู้ผลิตบางรายที่นำผลองุ่นไปเก็บไว้ในห้องเย็น ทำให้องุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า มีความโดดเด่นขึ้นมาอีกมาก จากสภาพอากาศที่ค่อนข้างร้อนกว่าแคว้นอื่นๆและมีฝนในปริมาณที่เหมาะสมของเกาะซิซิลี จึงทำให้ผลองุ่นมีน้ำตาลสูง เมื่อนำไปทำไวน์จึงมีระดับแอลกอฮอล์ค่อนข้างสูงที่น่าจะถูกใจนักดื่มไวน์ชาวไทย
ไวน์ลิตร้า (Litra) ไวน์เกรดไอจีที.(IGT) ของบริษัท ซานต้า อนาสตาเซีย (Santa Anastasia) ผู้ผลิตจากเมืองปาแลร์โม่ ใช้องุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า 10 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับองุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง ได้อย่างลงตัวที่สุด ไวน์ตัวนี้เทียบเท่ากับไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) ชั้นดีของแคว้นทัสคานี ได้เลย
ส่วนไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) จากหลายๆ ผู้ผลิต เช่น ไวน์ฟาโร ปาลาริ (Faro Palari) ของบริษัท ปาลาริ (Palari) เมืองเมสซิน่า (Messina ) เป็นไวน์ที่เอาแบบอย่างไวน์ของแคว้นเบอร์กันดี เคยใช้องุ่นพื้นเมืองพันธุ์เนเรลโล่ มาสคาเลเซ่ (Nerello mascalese) เป็นตัวชูโรง แต่บัดนี้ก็ใช้องุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า เป็นส่วนผสมถึง 15 เปอร์เซ็นต์
นอกจากนี้ไวน์มาร์ซาล่า (Marsala ) ซึ่งเป็นไวน์ปรุงแต่ง (fortified wine) เคยใช้องุ่นพันธุ์กริลโล่ (Grillo) และพันธุ์คาตาร์รัตโต้ (Catarratto) เป็นส่วนผสมหลัก แต่ในปัจจุบันผู้ผลิตหลายรายใช้องุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า เป็นส่วนผสมประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์
ไวน์ตัวเด่นที่ใช้องุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า ล้วนๆ ก็ยังมีไวน์ฮาร์โมนิอุม (Harmonium) ไวน์เกรดไอจีที.(IGT) ของบริษัท ฟิร์เรียโต้ (Firriato) ผู้ผลิตรายใหญ่จากเมืองตราปานิ (Trapani ) เป็นไวน์ที่มีความสมดุลดีมาก มีรสชาตินุ่มนวลเปรียบเสมือนกับฟังดนตรีจากวงฮาร์โมนี (Harmony) ที่แสนเสนาะหู รวมไปถึงไวน์ซากาน่า (Sagana) ไวน์เกรดไอจีที.(IGT) ที่เป็นสุดยอดไวน์แดงของบริษัท คูสุมาโน่ (Cusumano) ซึ่งไวน์เหล่านี้กำลังจะได้รับการยกระดับให้เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC)
ผมคุ้นเคยกับชาวอิตาเลียนหลายคนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย พวกเขาเหล่านั้นต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไวน์จากองุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า เหมาะกับอาหารไทยรสจัดทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นอาหารปรุงจากเนื้อสัตว์ที่มีรสเผ็ดหรืออาหารของชาวอิสานบางชนิดที่ไม่ใช้เนื้อสัตว์ และที่สำคัญอย่างยิ่งไวน์อิตาเลียนที่ใช้องุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า ยังเป็นไวน์ที่คุ้มค่า (good valued) มากที่สุดในเวลานี้
หลายท่านคุ้นเคยกับไวน์เคียนติ (Chianti) จากแคว้นทัสคานี (Tuscany ) อีกหลายท่านรู้จักไวน์บาโรโล่ (Barolo) จากแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) และหลายท่านเคยดื่มไวน์อมาโรเน่ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Amarone della Valpolicella) จากแคว้นเวเนโต้ (Veneto ) แต่ทุกท่านอาจจะยังไม่เคยได้ลิ้มลองไวน์ที่ใช้องุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า จากเกาะใหญ่ปลายรองเท้าบูทแห่งนี้
ผมมั่นใจว่าไวน์จากองุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า ที่ถูกขนานนามว่าสิงห์ดำแห่งเกาะซิซิลี จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของท่านที่ชื่นชอบไวน์อิตาเลียน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น