วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

พันธุ์องุ่นพื้นเมืองของอิตาลี

              เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องราวของไวน์จากอิตาลีอย่างชัดเจน จึงควรทราบถึงองุ่นพันธุ์พื้นเมืองที่ใช้ทำการผลิตไวน์  ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้มาจาก สถาบันส่งเสริมการค้าและการเกษตร (Istituto di Servizi per il Mercato Agricolo Alimentare) ของประเทศอิตาลี  มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงโรม (Rome)
              องุ่นพันธุ์พื้นเมือง ที่ปลูกเพื่อทำไวน์ของประเทศอิตาลีจะปลูกกันมานานนับพันปี แต่ในปัจจุบันในหลายท้องถิ่นจะปลูกองุ่นสายพันธุ์วินิเฟร่า (V.vinifera) เช่น พันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) พันธุ์แมร์โล (Merlot) หรือพันธุ์ชาร์ดอนเน่ (Chardonnay)  เพื่อทำไวน์ที่มีรสชาติเป็นสากล (international taste)
              องุ่นพันธุ์พื้นเมือง จะมีอยู่มากกว่า 1,000 พันธุ์ แต่ที่มีบันทึกอย่างเป็นทางการจะมีประมาณ 300 พันธุ์  ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายได้แก่ พันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) พันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) พันธุ์บาร์เบร่า (Barbera) พันธุ์คอร์วิน่า (Corvina) พันธุ์โดลเชตโต้ (Dolcetto) พันธุ์มาลวาเซีย (Malvasia) พันธุ์ปริมิติโว่ (Primitivo) พันธุ์เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola) และ พันธุ์เตรบบิอาโน่ (Trebbiano)  เป็นต้น 
Nebbiolo
              พันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) มาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 13 พร้อมๆ กับพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese)  มีปลูกกันบ้างเล็กน้อยในแคว้นอื่นๆ แต่มีชื่อเรียกขานแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่   หากปลูกในบริเวณหุบเขาวัลเตลลิน่า (Valtellina Valley) ในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) จะเรียกว่า พันธุ์เคียเวนนาสก้า (Chiavennasca) ตามชื่อตำบลเคียเวนน่า (Comune di Chiavenna) ซึ่งอยู่เหนือทะเลสาบโคโม่ (Lago di Como) 
              ปลูกในแคว้นวัลเล่ ดาออสต้า (Valle d’Aosta) จะเรียกว่า พันธุ์ปิคูเทเนอร์ (Picoutener) และปลูกในตำบลโบค่า (Comune di Boca) ตำบลฟาร่า โนวาเรเซ่ (Comune di Fara Novarse) ตำบลกัตตินาร่า (Comune di Gattinara) และตำบลเกมเม่ (Comune di Ghemme) ที่อยู่ทางตอนเหนือของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) จะเรียกว่า พันธุ์สปันน่า (Spanna)
              ในหลายๆ พื้นที่ของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) อยู่ติดกับเทือกเขาแอลป์ (Alpine ranges) จึงได้รับอิทธิพลของภูมิอากาศแบบอัลไพน์ (Alpine climate) อากาศหนาวเย็นในเวลากลางคืน มีหมอกยามเช้าปกคลุมไร่องุ่นอยู่โดยทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนกันยายนซึ่งมีการเก็บเกี่ยวองุ่นและมีแดดจัดในเวลากลางวัน  ชาวปิเอมอนเตเซ่ (Piemontese) จึงเรียกองุ่นที่ปลูกได้ทั่วไปว่าพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) ซึ่งมาจากคำว่าเนบเบีย (nebbia) ในภาษาอิตาเลียน ตรงกับคำว่ามิสต์ (mist) ในภาษาอังกฤษ 
              ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีช่อไม่ใหญ่นัก ขนาดผลเล็กถึงปานกลาง ผลกลมสีน้ำเงินเข้มเกือบดำมีประกายสีม่วง เปลือกบางแต่สุกช้าสามารถเก็บไว้ได้นานและทนต่อความชื้นได้ดี เป็นองุ่นที่ให้ความเป็นกรดสูง (high acidity) มีแทนนินสูง (high tannin) และมีน้ำตาลมาก เหมาะที่จะทำไวน์ที่มีรสฝาดและระดับแอลกอฮอล์สูงกว่าปกติ  ผู้ผลิตหลายรายจะใช้เวลาการหมักไม่นานนัก แต่จะใช้เวลาเก็บบ่มไวน์ (aging) นานๆทั้งก่อนและหลังการบรรจุขวดเพื่อให้ไวน์มีรสชาตินุ่มนวล
              องุ่นพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) ใช้ทำไวน์บาโรโล่ (Barolo) และไวน์บาร์บาเรสโก้ (Barbaresco)  สองคู่แฝดที่เป็นสุดยอดไวน์ของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) รวมถึงเป็นส่วนผสมหลักของไวน์กัตตินาร่า (Gattinara) และไวน์เกมเม่ (Ghemme) ไวน์แดงชั้นดีของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)  องุ่นพันธุ์นี้จะเข้ากันได้ดีกับพันธุ์บาร์เบร่า (Barbera) และพันธุ์โบนาร์ด้า (Bonarda)  
              มีการทดลองนำองุ่นพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) ไปปลูกในหลายแห่ง เช่น ประเทศอาเจนติน่า ประเทศอุรุกวัย ประเทศออสเตรเลีย และรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา  แต่ก็ไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
Sangiovese
              พันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในทุกๆ แคว้นตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 13  เชื่อกันว่าเป็นพันธุ์องุ่นป่า (wild native grape) ในวงศ์ซิลเวสตริส (V.silvestris) ที่ชาวเอทรุสกัน (Etruscans) เป็นผู้นำมาปลูกบนคาบสมุทรในบริเวณที่เป็นแคว้นลาซิโอ (Lazio) เมื่อ 2,000 ปีที่ผ่านมา ต่อมามีการนำมาปลูกในแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna) และได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ 
              เป็นองุ่นพันธุ์หลักของแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna) ที่ใช้ทำไวน์ซานโจเวเซ่ ดิ โรมานญ่า (Sangiovese di Romagna)  รวมถึงเป็นองุ่นพันธุ์หลักของแคว้นทัสคานี (Tuscany) ที่ใช้ทำไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) และเป็นส่วนผสมหลักในไวน์เคียนติ (Chianti)  รวมถึงเป็นส่วนผสมของไวน์ชั้นดีอีกหลายชนิด
              ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีผลคล้ายลูกเชอรี่ มีเปลือกบางสีน้ำเงินเข้มเกือบดำเมื่อสุกเต็มที่  ทำไวน์ชนิดโครงสร้างปานกลาง (medium-bodied) ให้สีที่ไม่เข้มมากนัก ให้ความเป็นกรดสูง (high acidity) มีแทนนินปานกลาง (medium tannin)   ปลูกในตำบลสคันซาโน่ (Comune di Scansano) เมืองกรอซเซโต้ (Grosseto) จะเรียกว่า พันธุ์โมเรลลิโน่ (Morellino)  หากปลูกในตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) เมืองซิเอน่า (Siena) จะเรียกว่า พันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile)   
              นอกจากปลูกได้ดีในประเทศอิตาลีแล้วยังพบว่าสามารถปลูกได้ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ในประเทศออสเตรเลีย และในประเทศอาเจนติน่า 
Barbera
              พันธุ์บาร์เบร่า (Barbera)  เป็นองุ่นแดงจากแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) ที่ปลูกกันมากเป็นอันดับสามของประเทศรองจากพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) และพันธุ์มอนเต้ปูลชาโน่ (Montepulciano)  ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีผลกลมรูปใข่สีน้ำเงินเข้ม  ใช้ทำไวน์บาร์เบร่า (Barbera) ไวน์แดงที่มีโครงสร้างปานกลาง (medium-bodied) และเป็นส่วนผสมในไวน์ชั้นเยี่ยมของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)  เป็นองุ่นที่ให้ความเป็นกรดสูง (high acidity) มีแทนนินบางเบา (light tannin)  มีฤดูเก็บเกี่ยวช้ากว่าองุ่นพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo)  นอกจากจะปลูกในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) แล้ว ยังปลูกกันได้ในหลายๆ แคว้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna) และแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) 
              นอกจากนี้ พันธุ์บาร์เบร่า ซาร์ด้า (Barbera Sarda)  ที่เป็นสายพันธุ์ย่อย (sub-variety) ก็มีการปลูกกันในแคว้นซาร์ดิเนีย (Sardinia)  
Dolcetto
              พันธุ์โดลเชตโต้ (Dolcetto)  เป็นองุ่นแดงจากแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)  ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีช่อยาวทรงปิรามิด ขนาดผลปานกลาง ผลกลมสีน้ำเงินเข้มเกือบดำ มีแทนนินบางเบา (light tannin) มีกลิ่นหอมที่ผสมผสานของผลไม้ (fruities) นานาชนิด  ใช้ทำไวน์โดลเชตโต้ (Dolcetto) และเป็นส่วนผสมในไวน์แดงอีกหลายชนิดของแคว้น 
              คำว่า “dolcetto”  หมายถึง “little sweet thing”  มาจากลักษณะขององุ่นที่ความหวานเล็กน้อย  เมื่อนำมาทำไวน์จะมีความนุ่มนวล อ่อนโยน มีระดับแอลกอฮอล์ไม่สูงมากนัก มักจะเก็บเกี่ยวในช่วงเวลาที่องุ่นสุกพอดี (ripe)  จะมีความหวานมากเมื่อสุกจัด (overripe)  นอกจากจะปลูกกันอย่างแพร่หลายในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) แล้ว  ยังมีปลูกกันบ้างในแคว้นลิกูเรีย (Liguriaรวมถึงยังมีการปลูกในหลายแห่ง เช่น ในประเทศฝรั่งเศส ประเทศออสเตรเลีย และในรัฐคาลิฟอร์เนีย
พันธุ์คอร์วิน่า (Corvina)  เป็นองุ่นแดงที่มีถิ่นกำเนิดในเมืองเวโรน่า (Verona) แคว้นเวเนโต้ (Veneto)  ชาวเวโรเนเซ่ (Veronese) จึงมีความภูมิใจที่จะให้เรียกองุ่นพันธุ์นี้ว่า คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) ในอดีตถูกเรียกว่าพันธุ์ริซซ่า (Rizza)  ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีช่อขนาดปานกลางรูปทรงปิรามิดช่อจะยาวกว่าพันธุ์อื่นๆ ใบขนาดปานกลางรูป 5 แฉกปลายใบเรียว สีผิวองุ่นสดสวยจะออกทางม่วงเข้มหรือน้ำเงิน ผลกลมเกลี้ยงขนาดไม่ใหญ่นักและมีเมล็ดน้อย จะปลูกได้ดีบนเนินเขาสูง   มีคุณลักษณะพิเศษจะให้สีที่เข้มข้นและให้ความนุ่มนวลในไวน์ และให้กลิ่นหอมที่ยั่วยวนใจ  ไม่ปรากฏมีการปลูกในแคว้นอื่นๆ
              เป็นส่วนผสมหลักที่ใช้ทำไวน์อมาโรเน่ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Amarone della Valpolicella) ไวน์เรโชโต้ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Recioto della Valpolicella) และไวน์วัลโปลิเชลล่า (Valpolicella) 
              พันธุ์คอร์วิโนเน่ (Corvinone)  เป็นองุ่นแดงของแคว้นเวเนโต้ (Veneto) ที่เริ่มรู้จักในปีค..1980 แต่ไม่เป็นที่แพร่หลายเท่าใดนัก  ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีผลใหญ่กว่าองุ่นพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) แต่มีใบคล้ายกัน  คนส่วนใหญ่จึงเข้าใจว่าเป็นองุ่นพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese)  แต่นักการศึกษาให้ความเห็นว่าเป็นองุ่นพันธุ์พื้นเมืองอีกพันธุ์หนึ่งที่สามารถปลูกได้ดีบนเนินเขาสูง มีผลใหญ่กลมผิวองุ่นสีน้ำเงินเฉดม่วง ช่อใหญ่รูปทรงคล้ายปิรามิด หากปลูกในระยะเวลาเดียวกันจะสุกช้ากว่าองุ่นพันธุ์อื่นๆ  ผู้ผลิตไวน์จะใช้ทดแทนองุ่นพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) ได้บางส่วน
              พันธุ์เนกราร่า (Negrara)  เป็นองุ่นแดงของแคว้นเวเนโต้ (Veneto) ที่ปลูกกันโดยทั่วไปในบริเวณวัลโปลิเชลล่า  (Valpolicella area) เขตเมืองเวโรน่า (Verona)  ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีช่อที่ไม่ค่อยเป็นรูปร่างสวยงามนัก ผลสีม่วงเข้มขนาดไม่ใหญ่  บางแห่งเรียกว่า พันธุ์เตโรโดล่า (Terodola)  ใช้เป็นส่วนผสมในไวน์บาร์โดลิโน่ (Bardolino)  แต่ผู้ผลิตไวน์บางรายจะนำไปเป็นส่วนผสมของไวน์วัลโปลิเชลล่า (Valpolicella)  ด้วย
              พันธุ์โบนาร์ด้า (Bonarda)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกกันมากในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) มีปลูกกันบ้างในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) และยังพบว่ามีปลูกกันบ้างในแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna) เป็นองุ่นอีกพันธุ์หนึ่งที่ใช้ทำไวน์แดงได้ดี ใช้เป็นส่วนผสมในไวน์วัลโปลิเชลล่า (Valpolicella) และไวน์แดงชั้นดีอีกหลายฉลากของแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) และแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)  ไม่ปรากฏมีการปลูกในแคว้นอื่นใด
              ส่วน พันธุ์โบนาร์ด้า โนวาเรเซ่ (Bonarda Novarese) เป็นสายพันธุ์ย่อย ที่มีการปลูกในเมืองโนวาร่า (Novara) แคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) และนำไปปลูกในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) เท่านั้น
              พันธุ์รอนดิเนลล่า (Rondinella)  เป็นองุ่นแดงของแคว้นเวเนโต้ (Veneto) ที่รู้จักกันครั้งแรกในปีค..1882  ปลูกมากบริเวณวัลโปลิเชลล่า (Valpolicella area)  ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีช่อขนาดใหญ่รูปทรงกระบอกและผลใหญ่ ใบ 5 แฉกขนาดใหญ่ ผลกลมเกลี้ยงสีม่วงถึงดำ มีความต้านทานโรคได้ดี  ใช้เป็นส่วนผสมรองในไวน์อมาโรเน่ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Amarone della Valpolicella) ไวน์เรโชโต้ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Recioto della Valpolicella)  และไวน์วัลโปลิเชลล่า (Valpolicella)  จะให้แทนนินที่มากกว่าปกติรวมทั้งกลิ่นหอมของดอกไม้  ไม่พบว่ามีการปลูกในแคว้นอื่นใดเช่นกัน
              พันธุ์โมลินาร่า (Molinara)  เป็นองุ่นแดงของแคว้นเวเนโต้ (Veneto) ที่รู้จักกันครั้งแรกในปีค..1800  บางครั้งถูกเรียกว่าองุ่นเค็ม (salted grape) ปลูกได้ดีตามเชิงเนินเขา ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีช่อขนาดใหญ่รูปทรงกระบอกและผลใหญ่แต่ไม่แน่นช่อ  มีใบ 3 แฉกขนาดใหญ่มาก มีความต้านทานโรคได้ดี ผลกลมเกลี้ยงสีม่วงอ่อนเกือบขาว จะให้ความเป็นกรดและกลิ่นหอมที่แตกต่างออกไป  แต่เดิมเคยถูกกำหนดให้ใช้เป็นส่วนผสมรองในไวน์อมาโรเน่ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Amarone della Valpolicella) ไวน์เรโชโต้ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Recioto della Valpolicella)  และไวน์วัลโปลิเชลล่า (Valpolicella)  แต่ในปัจจุบันเป็นเพียงแค่ “optional” สำหรับผู้ผลิตเท่านั้น  ไม่ปรากฏมีการปลูกในแคว้นอื่นใด
              พันธุ์โครอาติน่า (Croatina)  เป็นองุ่นแดงที่มีปลูกกันในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) แต่มีการปลูกในแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna) และแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) บ้างเช่นกัน  เข้ากันได้ดีกับองุ่นพันธุ์โบนาร์ด้า (Bonarda) จึงทำให้ผู้ผลิตหลายรายนำมาผสมกันในการทำไวน์  มีนักการศึกษาบางกลุ่มให้ความเห็นว่าอาจเป็นองุ่นพันธุ์โบนาร์ด้า (Bonarda) ที่นำมาปลูกในบริเวณคอลลิ ปิอาเชนตินิ (Colli Piacentini area) ใกล้เมืองปิอาเชนซ่า (Piacenza) และบริเวณโอลเตรโป ปาเวเซ่ (Oltrepo Pavese area) ใกล้เมืองปาเวีย (Pavia)  ใช้เป็นส่วนผสมของไวน์แดงท้องถิ่นของแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) และใช้ผสมกับองุ่นพันธุ์โบนาร์ด้า (Bonarda) ในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)
              พันธุ์ลัมบรุสโก้ (Lambrusco)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna)  เชื่อกันว่าเป็นพันธุ์องุ่นป่าในสายพันธุ์ซิลเวสตริส (V.silvestris) เช่นเดียวกับองุ่นพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese)  ใช้ทำไวน์ลัมบรุสโก้ (Lambrusco) 2 ชนิด คือ ไวน์แดงกึ่งหวานมีฟอง หรือ วิโน่ ฟริซซานเต้ อมาบิเล่ (Vino Frizzante Amabile) มีระดับแอลกอฮอล์ 8.0 เปอร์เซ็นต์ และไวน์แดงไม่หวานมีฟอง หรือ วิโน่ ฟริซซานเต้ เซคโค่ (Vino Frizzante Secco) มีระดับแอลกอฮอล์ 11.0 เปอร์เซ็นต์ 
              พันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello)  เป็นองุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ที่ปลูกในตำบลมอลตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) แคว้นทัสคานี (Tuscany)  แต่เดิมเมื่อปีค..1870 องุ่นพันธุ์นี้จะรู้จักกันในชื่อว่าพันธุ์ซานโจเวเซ่ กรอซโซ่ (Sangiovese grosso) เนื่องจากชาวมอลตาลชิเนเซ่ (Montalcinese) ได้นำเอาองุ่นพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) มาทำการต่อกิ่งเพื่อให้มีความต้านทานต่อโรคฟิลล๊อกเซร่า (phylloxera)
              พันธุ์อาเลียนิโก้ (Aglianico)  เป็นองุ่นแดงป่าที่นำมาจากประเทศกรีซ (Greece)  นักการศึกษาให้ความเห็นว่า ชื่อของไวน์มาจาก เอลเลนิโก้ (ellenico) คำในภาษาละติน หรืออาจมาจากคำว่า เฮลเลนิค (Hellenic) ในภาษากรีก  เป็นองุ่นที่ปลูกได้ดีในดินภูเขาไฟ (Valcanic soils) และพื้นที่ที่มีแสงอาทิตย์ส่อง  หากปลูกในช่วงเวลาเดียวกันจะสุกช้ากว่าพันธุ์อื่น  พบว่ามีการปลูกมานานกว่า 2,500 ปีแล้วในแคว้นบาซิลิกาต้า (Basilicata) และแคว้นคัมปาเนีย (Campania) ใช้ทำไวน์อาเลียนิโก้ เดล วุลตูเร่ (Aglianico del Vulture) ไวน์แดงชั้นดีของแคว้นบาซิลิกาต้า (Basilicata)  และเป็นส่วนผสมหลักในไวน์เตาราซิ (Taurasi) ไวน์แดงชั้นยอดของแคว้นคัมปาเนีย (Campania) 
              พันธุ์เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola)  เป็นองุ่นแดงของแคว้นซิซิลี (Sicily) มีถิ่นกำเนิดในตำบลอโวล่า (Comune di Avola) เมืองซิราคูซ่า (Siracusa) ชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ทางทิศตะวันออกของเกาะ  จึงถูกเรียกขานกันว่า “the black grape of Avola” หรือ “Nero di Avola” 
              องุ่นพันธุ์นี้ปลูกได้ทั่วทุกพื้นที่บนเกาะ หากปลูกทางตอนเหนือของเกาะ จะเรียกว่า พันธุ์คาลาเบรเซ่ (Calabrese)  เป็นองุ่นที่ต้องมีความพิถีพิถันและความละเอียดอ่อนในการเก็บ  ต้องเก็บในช่วงเวลาที่องุ่นสุกพอดี ให้ไวน์สีแดงโกเมนเข้ม มีประกายสีม่วง   ใช้เป็นส่วนผสมในไวน์แดงชั้นดีของแคว้น เช่น ไวน์เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola) และไวน์แดงอีกหลายชนิด ไม่พบว่ามีปลูกในแคว้นอื่นใด   นักการศึกษาหลายท่านให้ความเห็นว่ามีคุณสมบัติคล้ายองุ่นพันธุ์ชิราส (Shiraz)  เมื่อนำไปทำไวน์จะเป็นไวน์ที่ดื่มง่ายแต่จะต้องการเวลาในการเก็บบ่มระยะหนึ่งและจะดียิ่งขึ้นถ้าเก็บบ่มในถังไม้โอ๊ก  สามารถเข้ากันได้ดีเมื่อต้องนำไปผสมกับองุ่นพันธุ์อื่นๆ
              พันธุ์ปริมิติโว่ (Primitivo)  เป็นองุ่นแดงที่พบในแคว้นปูเลีย (Puglia) ที่ด๊อกเตอร์คาโรล เมเรดิธ (Dr.Carole Meredith) นักวิจัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ทำการพิสูจน์แล้วว่ามี DNA เหมือนกันกับองุ่นพันธุ์ซินฟานเดล (Zinfandel) ที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา และพันธุ์พลาวัค มาลิ (Plavac Mali) ที่เป็นองุ่นชั้นดีของประเทศโครเอเทีย (Croatiaพบว่ามีการปลูกกันบ้างในแคว้นคัมปาเนีย (Campania)  ใช้ทำไวน์ปริมิติโว่ (Primitivo) ไวน์แดงที่มีโครงสร้างหนักแน่น และมีระดับแอลกอฮอล์สูง
              พันธุ์ปิเอดิรอซโซ่ (Piedirosso)  เป็นองุ่นแดงที่มีการปลูกเฉพาะในแคว้นคัมปาเนีย (Campania)  ใช้เป็นส่วนผสมในไวน์หลายชนิดของแคว้น  เป็นพันธุ์องุ่นที่มีโคนต้นสีแดงจึงเป็นที่มาของชื่อ ปิเอดิรอซโซ่ (Piedirosso)  ซึ่งมาจากคำว่า “piedi” ผสมกับคำว่า “rosso”
              พันธุ์ลาคริม่า (Lacrima)  เป็นองุ่นแดงที่พบในแคว้นมาร์เค่ (Marche) มีผลเป็นรูปไข่ (oval) มีเนื้อมาก เมื่อสุกจัดผลจะปริและมีน้ำไหลออกมา  มีถิ่นกำเนิดในตำบลมอร์โร่ ดัลบ้า (Comune di Morro d’Alba) เรียกชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า พันธุ์กาลิอ๊อปโป้ (Gaglioppo)  ใช้ทำไวน์ลาคริม่า ดิ มอร์โร่ ดัลบ้า (Lacrima di Morro d’Alba) ไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ของแคว้นมาร์เค่ (Marche) ที่เป็นทั้งไวน์แดง และไวน์แดงหวานชนิดปาซซิโต้ (Passito)  
              “lacrima” เป็นภาษาอิตาเลียน แปลว่า ‘tear” ในภาษาอังกฤษ  ชื่อของพันธุ์องุ่นได้ถูกเรียกตามลักษณะของผลที่คล้ายหยดน้ำตา
              พันธุ์มอนเต้ปูลชาโน่ (Montepulciano)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นมาร์เค่ (Marche) และแคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo)  มีใบ 5 แฉกขนาดกลาง ลักษณะทางกายภาพขององุ่นพันธุ์นี้มีช่อขนาดกลางรูปทรงกระบอกและผลกลมเกลี้ยงขนาดกลางสีม่วงถึงดำ  ใช้เป็นส่วนผสมหลักในไวน์รอซโซ่ โคเนโร (Rosso Conero) และไวน์รอซโซ่ ปิเชโน (Rosso Piceno)  รวมถึงใช้เป็นส่วนผสมหลักในไวน์มอนเตปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ (Montepulciano d’Abruzzo) ของแคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo)
              พันธุ์อูว่า ดิ โตรย่า (Uva di Troia)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นปูเลีย (Puglia) ที่นำมาจากประเทศกรีซ (Greece)  เชื่อกันว่าชื่อของพันธุ์องุ่นมาจากชื่อเมืองทรอย (Troy) ที่มีประวัติศาสตร์อันเก่าแก่  ใช้เป็นส่วนผสมเพียงเล็กน้อยในไวน์ของแคว้นนี้
              พันธุ์ซากรานติโน่ (Sagrantino)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในตำบลมอนเตฟัลโก้ (Montefalco) เมืองเปรูจา (Perugia) แคว้นอุมเบรีย (Umbria)  โดยเชื่อกันว่าเมล็ดพันธุ์องุ่นถูกนำมาจากทวีปเอเชียไมเนอร์ (Asia minor) โดยบาทหลวงฟรานซิส (St. Francis) เพื่อนำมาปลูกในบริเวณเนินเขามาร์ตานิ (Colli Martani) เมื่อปีค..1540  
              ต้นองุ่นพันธุ์ซากรานติโน่ (Sagrantino) อายุ 150 ปี ยังหลงเหลืออยู่ในบริเวณศาสนสถานของโบสถ์ซานตา คิเอร่า (Santa Chiara Church) ในตำบลมอนเตฟัลโก้ (Montefalco)  ใช้ทำไวน์ซากรานติโน่ ดิ มอนเตฟัลโก้ (Sagrantino di Sagrantino) ไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) ของแคว้นอุมเบรีย (Umbria) ซึ่งมีทั้งสติลไวน์ (still wine) และไวน์แดงหวานชนิดปาซซิโต้ (Passito) คล้ายกับไวน์เรโชโต้ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Recioto della Valpolicella)
              พันธุ์บราเกตโต้ (Brachetto)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกมากบริเวณเมืองอัสติ (Asti) และเมืองอเลสซานเดรีย (Alessandria) ในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)  ใช้ทำไวน์บราเกตโต้ ดัคคุย (Brachetto d’Aqui) ไวน์แดงชนิดหวานที่มีชื่อเสียงของแคว้น  ยังไม่พบว่ามีการปลูกในแคว้นอื่นๆ
              พันธุ์เวสโปลิน่า (Vespolina)  เป็นองุ่นแดงที่มีถิ่นกำเนิดในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) หากปลูกในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) จะเรียกว่า พันธุ์อูเกตต้า (Ughetta)  ผู้ผลิตส่วนใหญ่จะใช้ผสมกับองุ่นพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) และพันธุ์โบนาร์ด้า (Bonarda)  
              พันธุ์กร๊อปเปลโล่ (Groppello)  เป็นองุ่นแดงที่มีการปลูกเฉพาะในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) จะพบบริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบการ์ด้า (Lago di Garda)  มี พันธุ์กร๊อปเปลโล่ ดิ โมคาซิน่า (Groppello di mocasina) พันธุ์กร๊อปเปลโล่ ดิ ซานโต สเตฟาโน่ (Groppello di Santo Stefano) และ พันธุ์กร๊อปเปลโล่ เจนติเล่ (Groppello gentile) เป็นสายพันธุ์ย่อย 
              พันธุ์โรสเซเซ่ (Rossese)  เป็นองุ่นแดงที่มีการปลูกเฉพาะในแคว้นลิกูเรีย (Liguria) เท่านั้น โดยจะมีการปลูกบริเวณรอบๆ ตำบลโดลเช่อัคควา (Dolceacqua) ที่อยู่ทางทิศตะวันตกของของแคว้นใกล้ชายแดนติดต่อกับประเทศโมนาโค (Monaco)  ใช้ทำไวน์แดงโรสเซเซ่ ดิ โดลเช่อัคควา (Rossese di Dolceacqua)
              พันธุ์ชิลิเอโจโล่ (Ciliegiolo)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นลิกูเรีย (Liguria) เช่นเดียวกัน แต่มีการนำไปใช้เป็นส่วนผสมของไวน์แดงของแคว้นทัสคานี (Tuscany)  มีกลิ่นคล้ายผลเชอรี่สุกอย่างชัดเจนซึ่งแตกต่างจากองุ่นพันธุ์อื่นๆ
              พันธุ์โปลเลร่า เนร่า (Pollera nera)  เป็นองุ่นแดงที่มีการปลูกเฉพาะในแคว้นลิกูเรีย (Liguria) และแคว้นคัมปาเนีย (Campania)  จะใช้เป็นส่วนผสมในไวน์แดงระดับมาตรฐานทั่วไป
              พันธุ์คาลาเบรเซ่ (Calabrese)  เป็นองุ่นพันธุ์เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola) ที่ปลูกทางตอนเหนือของแคว้นซิชิลี (Sicily) มีคุณสมบัติคล้ายองุ่นพันธุ์ชิราส (Shirazมีปลูกในแคว้นคาลาเบรีย (Calabria) ด้วยเช่นกัน
              พันธุ์เฟรอิซ่า (Freisa)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) มีปลูกกันบ้างในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) 
              พันธุ์อาเลอาติโก้ (Aleatico)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกกันทั่วไปแทบทุกแคว้น  ใช้เป็นส่วนผสมของไวน์แดงชนิดหวานของแคว้นทัสคานี (Tuscany) แคว้นลาซิโอ (Lazio) และแคว้นปูเลีย (Puglia)
              พันธุ์ปิโน เนโร (Pinot nero)  เป็นองุ่นแดงพันธุ์ปิโน นัวร์ (Pinot noir) ที่นำมาจากประเทศฝรั่งเศส  ใช้ทำไวน์แดงชั้นดีของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) แคว้นมาร์เค่ (Marche) และแคว้นวัลเล่ ดาออสต้า (Valle d’Aostaปลูกได้ทั่วไปทั้งประเทศ
              พันธุ์มาลวาเซีย (Malvasia)  เป็นพันธุ์องุ่นที่ปลูกกันมากที่สุดในประเทศอิตาลี  มีทั้งองุ่นแดงและองุ่นเขียว ใช้เป็นส่วนผสมในไวน์ชั้นดีของหลายๆ แคว้น  สันนิษฐานว่านำมาจากประเทศกรีซ (Greece) เมื่อ 2,000 ปีที่ผ่านมา               
              พันธุ์มาลวาเซีย ดิ คาซอร์โซ่ (Malvasia di Casorzo)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) เพียงแคว้นเดียว 
              พันธุ์มาลวาเซีย เนร่า ดิ บาซิลิกาต้า (Malvasia nera di Basilicata) พันธุ์มาลวาเซีย เนร่า ดิ บรินดิสิ (Malvasia nera di Brindisi) และ พันธุ์มาลวาเซีย เนร่า ดิ เลชเช่ (Malvasia nera di Lecce)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นปูเลีย (Puglia)
              พันธุ์มาลวาเซีย โรซ่า (Malvasia rosa)  เป็นองุ่นแดงที่ปลูกในแคว้นเตรนติโน่-อัลโต้ อาดิเจ้ (Trentino-Alto Adige)
              พันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า (Malvasia bianca)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany) แคว้นลาซิโอ (Lazio) และแคว้นอุมเบรีย (Umbria)  
              พันธุ์มาลวาเซีย ดิ ซาร์เดนญ่า (Malvasia di Sardegna)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นซาร์ดิเนีย (Sardinia)
              พันธุ์มาลวาเซีย ดิ สเคียราโน่ (Malvasia di Schierano)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) 
              พันธุ์มาลวาเซีย เดล ลาซิโอ (Malvasia del Lazio) และ พันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า ดิ คันเดีย (Malvasia bianca di Candia)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นลาซิโอ (Lazio)
              พันธุ์มาลวาเซีย เบียงค่า ดิ บาซิลิกาต้า (Malvasia bianca di Basilicata)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นบาซิลิกาต้า (Basilicata)             
              พันธุ์มาลวาเซีย ดิ ลิปาริ (Malvasia di Lipari)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในหมู่เกาะลิปาริ (Lipari Islands) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแคว้นซิซิลี (Sicily)
              พันธุ์มาลวาเซีย อิสเตรียน่า (Malvasia Istriana)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นฟริอูลิ-เวเนเซีย จูเลีย (Friuli-Venezia Giulia)  
              พันธุ์บาร์เบร่า เบียงค่า (Barbera bianca)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna) และแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) 
              พันธุ์มอสกาโต้ เบียงโค่ (Moscato bianco)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกกันทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแคว้นภาคเหนือ ใช้ทำไวน์มอสกาโต้ ดัสติ (Moscato d’Asti) ไวน์อัสติ สปูมานเต้ (Asti Spumante) และไวน์โลอาซโซโล (Loazzolo) ของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)
              พันธุ์เตรบบิอาโน่ (Trebbiano)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกกันมากที่สุด โดยปลูกกันอย่างแพร่หลายไปทั่วประเทศ  ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าแหล่งกำเนิดมาจากที่ใด แต่ในประเทศฝรั่งเศสเรียกว่าพันธุ์อูยิ บลอง (Ugli blanc)  แบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ โดยมีชื่อเรียกตามพื้นที่ปลูก เช่น
              พันธุ์เตรบบิอาโน่ ดิ ลูกาน่า (Trebbiano di Lugana)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) 
              พันธุ์เตรบบิอาโน่ ดิ โซอาเว่ (Trebbiano di Soave)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นเวเนโต้ (Veneto)
              พันธุ์เตรบบิอาโน่ จาลโล่ (Trebbiano giallo)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นลาซิโอ (Lazio)
              พันธุ์เตรบบิอาโน่ โมเดเนเซ่ (Trebbiano Modenese) และ พันธุ์เตรบบิอาโน่ โรมานโยโล่ (Trebbiano Romagnolo)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna)        
              พันธุ์เตรบบิอาโน่ สโปเลติโน่ (Trebbiano Spoletino)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นอุมเบรีย (Umbria)
              พันธุ์เตรบบิอาโน่ ตอสกาโน่ (Trebbiano toscano)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกในแคว้นทัสคานี (Tuscany)
              พันธุ์โตไก ฟริอูลาโน่ (Tocai Friulano)  เป็นองุ่นเขียวที่พบในแคว้นฟริอูลิ-เวเนเซีย จูเลีย (Friuli-Venezia Giulia) ซึ่งมิใช่เป็นพันธุ์โตไก (Tokai) จากแคว้นอัลซาส (Alsace) หรือพันธุ์โตกาอิ (Tokaji) จากประเทศฮังการี  เดิมทีชาวท้องถิ่นเรียกองุ่นพันธุ์นี้ว่าพันธุ์โตไก (Tokai)  แต่ทางประชาคมเศรษฐกิจแห่งทวีปยุโรป (EEC - European Economic Community) บังคับให้เพิ่มคำว่าฟริอูลาโน่ (Friulano) เพื่อที่จะได้แยกแยะกันอย่างชัดเจนว่าเป็นพันธุ์องุ่นจากถิ่นฟริอูลิ (Friuli)  ใช้เป็นส่วนผสมหลักของไวน์ฟริอูลิ ลาติซาน่า (Friuli Latisana) และใช้เป็นส่วนผสมในไวน์คอลลิ โอเรียนตาลิ เดล ฟริอูลิ (Colli Orientali del Friuli)
              พันธุ์เกรโก้ (Greco)  เป็นองุ่นเขียวที่พบในแคว้นคัมปาเนีย (Campania) เชื่อว่านำมาจากประเทศกรีซ (Greece)  ชื่อพันธุ์องุ่นจึงเรียกจะเรียกตามต้นกำเนิด เช่นเดียวกับองุ่นพันธุ์เกรเคตโต้ (Grechetto) และพันธุ์เกรคานิโก้ (Grecanico)  ใช้เป็นส่วนผสมของไวน์เกรโก้ ดิ ตูโฟ่ (Greco di Tufo) ไวน์ขาวชั้นเลิศเกรดดีโอซีจี.(DOCG) ของแคว้น
              พันธุ์อัลบาน่า (Albana)  เป็นองุ่นเขียวที่ปลูกกันมาตั้งแต่สมัยจักรวรรดิ์โรมันเรืองอำนาจ  ปลูกมากในแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna)  มีสภาพความเป็นกรดสูง มีเนื้อปานกลาง  ใช้ทำไวน์อัลบาน่า ดิ โรมานญ่า (Albana di Romagna) ไวน์ขาวเกรดดีโอซีจี.(DOCG) ของแคว้น
             
              นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งขององุ่นพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวอิตาเลียนยังคงรักษาไว้ให้เป็นมรดกแห่งชาติ และรักษาไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ยึดถือเป็นแบบอย่าง  และเชื่อว่าองุ่นพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้จะยังคงยืนยงอยู่ต่อไปอีกตราบนานเท่านานบนผืนแผ่นดินแห่งนี้..แผ่นดินที่มีชื่อว่า ประเทศอิตาลี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น