วันอังคารที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ไวน์ฟรานช่าคอร์ตา Franciacorta

ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta)

              ท่านที่คุ้นเคยกับไวน์ขาวมีฟอง (Sparkling wine) คงทราบกันดีแล้วว่าสุดยอดของไวน์ขาวมีฟอง คือไวน์แชมเปญ (Champagn) จากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งการทำไวน์ให้เกิดฟองนั้นจะต้องมีการหมักครั้งที่ 2 เพื่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (cabon di oxide)  แต่อาจจะยังไม่ทราบว่าวิธีการหมักครั้งที่ 2  ที่ใช้มีอยู่ 2 วิธี คือ วิธีดั้งเดิมของชาวฝรั่งเศสมีการหมักไวน์ในขวด (re-ferment in the bottle) ที่เรียกกันว่า เมท๊อด แชมเปนัวร์ (Methode Champenoise) เป็นกรรมวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศฝรั่งเศสและในหลายประเทศทั่วโลก  วิธีการเช่นนี้ในประเทศอิตาลีจะเรียกว่า เมท๊อด คลาสสิค (Method Classic) หรือ เมโตโด คลาสสิโก้ (Metodo Classico)
Federico Martinotti

              อีกวิธีหนึ่งของการทำไวน์ขาวให้เกิดฟอง จะเป็นการหมักครั้งที่ 2 ในถังขนาดใหญ่ปิดสนิท ส่วนมากนิยมใช้ถังเหล็กไร้สนิมที่ภายในถังปรับแรงดัน 6-7 บาร์ (bar) และมีตัวอุปกรณ์ช่วยปรับแรงดัน  วิธีนี้เรียกกันทั่วไปว่า ชาร์ม่าท์ เมท๊อด (Charmat Method) เพื่อเป็นเกียรติแก่นายยูยีน ชาร์ม่าท์ (Eugene Charmat) ชาวฝรั่งเศสผู้ซึ่งนำกรรมวิธีนี้มาใช้ในวงการอุตสาหกรรมการผลิตไวน์ตั้งแต่ปีค..1907   แต่ชาวอิตาเลียนรุ่นเก่าจะเรียกการทำไวน์ให้เกิดฟองโดยวิธีนี้ว่า เมโตโด มาร์ติน๊อตติ (Metodo Martinotti) เนื่องจากนายเฟเดริโก้ มาร์ติน๊อตติ (Federico Martinotti) ไวน์เมคเกอร์จากแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) เป็นคนแรกที่ออกแบบถังเก็บหมักไวน์เมื่อปีค..1885 

              ชาวอิตาเลียนทำการผลิตไวน์ขาวมีฟอง (Sparkling wine) หรือ วิโน่ สปูมานเต้ (Vino Spumante) มาตั้งแต่ยุคจักรวรรดิ์โรมัน (Roman Empire)  ในปัจจุบันมีการผลิตกันอย่างกว้างขวางในแคว้นภาคเหนือ (The Northern Regions) เนื่องจากมีสภาพอากาศหนาวเย็นเกือบตลอดทั้งปี ทำให้สามารถควบคุมอุณหภูมิในระหว่างการหมักไวน์ (fermenting period) ได้เป็นอย่างดี  แต่ในแคว้นภาคกลาง (The Central Regions) แคว้นภาคใต้ (The Southern Regions) หรือแคว้นที่เป็นเกาะ (The Island Regions) ก็ผลิตกันได้เช่นกันเพียงแต่คุณภาพอาจจะด้อยลงไปบ้างเนื่องจากปัจจัยที่เกี่ยวกับสภาพดินฟ้าอากาศและแตร์รัวร์ 
              เท่าที่สำรวจวิโน่ สปูมานเต้ (Vino Spumante) ที่โดดเด่นในเวลานี้ จะมีไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) และไวน์โอลเทรโป ปาเวเซ่ ปิโน่ เนโร (Oltrepo Pavese Pinot Nero) จากแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy)  ไวน์อัสติ สปูมานเต้ (Asti Spumante) จากแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) ไวน์โปรเซคโค่ (Prosecco) จากแคว้นเวเนโต้ (Venetoรวมถึงไวน์มอสกาโต้ สปูมานเต้ (Moscato Spumante) ที่มีการผลิตกันบ้างในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) และแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)   
Franciacorta Gran Cuvee Pas Opere

              แต่ที่เป็นสุดยอดของวิโน่ สปูมานเต้ (Vino Spumante) ในเวลานี้ที่ทุกคนยอมรับคือ  ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) จากแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy)       
              ทั้งนี้ทั้งนั้นเป็นเพราะการผลิตไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) จะมีข้อกำหนดที่เคร่งครัดจากสภาการค้าแห่งเมืองเบรสชา (The Brescian Chamber of Commerce)  ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) จะต้องใช้ผลผลิตองุ่นไม่เกิน 10 ตัน ต่อพื้นที่ปลูก 1 เฮ็คต้าร์ 
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) 100 ลิตร จะต้องใช้องุ่นไม่เกิน 153.85 กิโลกรัม  หรือร้อยละ 65 ของน้ำหนักผลองุ่นสด 
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) จะต้องมีการหมักครั้งที่ 2 ในขวดแบบ เมโตโด คลาสสิโก้ (Metodo Classico) ที่อุณหภูมิไม่เกิน 18 องศาเซลเซียส  และมีแรงดันในขวดต่ำกว่าหรือเท่ากับ 4.5 บาร์ 
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) ต้องมีระดับแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่า 9.5 เปอร์เซ็นต์ 
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) จะไม่อนุญาตให้แสดงข้อความ เมโตโด คลาสสิโก้ (Metodo Classico) หรือ วิโน่ สปูมานเต้ (Vino Spumante) บนฉลากไวน์ 
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) ที่ส่งออกจำหน่ายจะต้องภายหลังจากการกำจัดตะกอนยีสต์ที่คอขวด ไม่น้อยกว่า 2 เดือน
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) จะได้รับอนุญาตให้ผลิตเฉพาะบริเวณ 19 ชุมชน ในเมืองเบรสชา (Brescia) เท่านั้น     
             
              เพื่อให้มองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น จึงขอนำเข้าสู่กระบวนการผลิตวิโน่ สปูมานเต้ (Vino Spumante) ของไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) ซึ่งเป็นกระบวนการผลิตแบบ เมโตโด คลาสสิโก้ (Metodo Classico)
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) จะมีองุ่นพันธุ์ชาร์ดอนเน่ (Chardonnay) เป็นส่วนผสมหลัก ใช้องุ่นพันธุ์ปิโน่ เบียงโค่ (Pinot bianco) และองุ่นพันธุ์ปิโน่ เนโร (Pinot nero) บ้างไม่มากนัก  ผู้ผลิตบางรายจะใช้องุ่นพันธุ์ชาร์ดอนเน่ (Chardonnay) 100 เปอร์เซ็นต์  ส่วนไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า โรเซ่ (Rose’) หรือที่เรียกว่า โรซาโต้ (Rosato) ในภาษาอิตาเลียน จะต้องใช้องุ่นพันธุ์ปิโน่ เนโร (Pinot nero) เป็นส่วนผสม ไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์
              ในขั้นตอนแรกของการผลิต ผลองุ่นจะถูกบีบอย่างเบาๆ พอให้ผิวแตกทั้งนี้เพราะต้องการน้ำองุ่นที่มีความสดใสนำไปทำไวน์พื้นฐาน (base wine)  จากนั้นนำเอาน้ำองุ่นไปหมัก (ferment) จนกระทั่งน้ำตาลถูกเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์อย่างสมบูรณ์โดยไม่มีน้ำตาลเหลืออยู่ในไวน์พื้นฐานเลย  น้ำไวน์ที่ได้จะนำไปกรองให้ใสอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะเรียกน้ำไวน์นั้นว่า คูเว่ (Cuvee’)
              คูเว่ (Cuvee’) จะถูกเติมด้วยน้ำเชื่อม (syrup) และเชื้อยีสต์  ซึ่งเป็นตัวการที่จะทำให้การหมักครั้งที่ 2 เกิดขึ้น  หลังจากนั้นนำเอาคูเว่ (Cuvee’) ไปบรรจุลงในขวดไวน์ ปิดฝาขวดด้วยฝาปิดชั่วคราว เก็บเรียงซ้อนกันในแนวนอนในสถานที่เก็บที่ไม่มีแสงสว่างและรักษาอุณหภูมิของสถานที่เก็บให้อยู่ระหว่าง 11-13 องศาเซลเซียส  ซึ่งขั้นตอนนี้จะมีความสำคัญมากเพราะจะมีความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ  เชื้อยีสต์จะเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นแอลกอฮอล์และก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์  โดยจะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 18 เดือน
              เชื้อยีสต์ที่ตกตะกอนจะต้องกำจัดทิ้งไปด้วยวิธีการที่เรียกว่า ริดดลิ่ง โปรเซส (riddling process)  โดยเอาขวดไวน์วางเอียงลงบนรูหรือขาตั้งที่จัดทำไว้ เพื่อให้ตะกอนยีสต์ภายในขวดมารวมกันที่คอขวดซึ่งต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน  ระหว่างนั้นจะต้องหมุนขวดบ่อยๆ เพื่อให้ตะกอนยีสต์ลงไปกองที่คอขวด
              จากนั้นจะใช้วิธีการ ดิสกอร์จเม้นท์ (disgorgement) เพื่อนำเอาตะกอนยีสต์ออกจากขวด  โดยคอขวดจะถูกนำไปจุ่มลงในสารประกอบเยือกแข็ง (Freezing  Mixture) จนตะกอนยีสต์ตกผลึกกลายเป็นน้ำแข็ง 
              ขั้นตอนต่อไปจับขวดให้ตั้งขึ้น  แรงดันก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ในขวดจะค่อยๆดันผลึกตะกอนยีสต์ให้ดันฝาปิดชั่วคราวหลุดออกจากปากขวด  น้ำไวน์ในขวดจะไหลออกมาบ้างซึ่งต้องเติมลงไปใหม่โดยใช้คูเว่ (Cuvee’) ที่ไม่เติมน้ำเชื่อมหรืออาจเติมน้ำเชื่อมลงไปด้วยแล้วแต่ประเภทของไวน์   สำหรับไวน์โรเซ่ (Rose’) จะเติมคูเว่ (Cuvee’) เกรดรีเสิร์ฟ (reserve) ที่มาจากองุ่นพันธุ์ปิโน่ เนโร (Pinot nero) ซึ่งมีเฉดสีแดงมากกว่า ทำให้ไวน์มีสีเข้มขึ้นอีกเล็กน้อย  
              การเติมไวน์ที่พร่องนี้ จะเรียกว่า โดสเซจ (Dosage)             
              ในขั้นตอนสุดท้ายจะปิดขวดด้วยจุกค๊อก (cork) รัดด้วยลวดโลหะเส้นเล็กๆ รอบปากขวด และหุ้มฟอล์ย (foil) ปิดด้วยฉลากแสดงเกรดดีโอซีจี.(DOCG label) ที่ออกให้โดยกระทรวงเกษตรแห่งสาธารณรัฐอิตาลี (Italian Ministry of Agricultural)  เก็บไว้ไม่น้อยกว่า 2 เดือน ในสถานที่มืดมิด ควบคุมอุณหภูมิระหว่าง 15-18 องศาเซลเซียส และมีความชื้นสัมพัทธ์คงที่  ทั้งนี้เพื่อจะทำให้ไวน์มีความเสถียร
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) ที่ระบุวินเทจจะเรียกว่า มิลเลสิมาโต้ (millesimato) กำหนดให้ใช้องุ่นที่เก็บเกี่ยวในปีที่ระบุบนฉลาก  จะมีคุณภาพสูงกว่าไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) ที่ไม่ระบุวินเทจ (non-vintage)  การหมักครั้งที่ 2 ในขวด จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 30 เดือน
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) ที่ไม่ระบุวินเทจ (non-vintage) กำหนดให้ใช้องุ่นจากฤดูกาลเก็บเกี่ยวที่ห่างกันไม่เกิน 2 ปี มาผสมผสานกัน  การหมักครั้งที่ 2 ในขวด จะใช้เวลาไม่น้อยกว่า 18 เดือน
              การผลิตไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) จะแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ตามปริมาณน้ำตาลที่เหลืออยู่หลังการหมัก (residual sugar)  ได้แก่
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า เดมิเซค (Franciacorta Demi-sec)  มีน้ำตาล 33-55 กรัมต่อลิตร 
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า เซค (Franciacorta Sec)  มีน้ำตาล 17-35 กรัมต่อลิตร 
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า เอ๊กซ์ตร้า ดราย (Franciacorta Extra Dry) มีน้ำตาล 12-20 กรัมต่อลิตร
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า บรูท (Franciacorta Brut)  มีน้ำตาลต่ำกว่า 15 กรัมต่อลิตร 
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า เอ๊กซ์ตร้า บรูท (Franciacorta Extra Brut)  มีน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อลิตร
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า ชนิดไม่หวาน (Franciacorta Pas Dose หรือ Dosage Zero หรือ Nature)  มีน้ำตาลไม่เกิน 3 กรัมต่อลิตร  ห้ามเติมน้ำเชื่อมในระหว่างการเติมไวน์ที่พร่องในขวดอย่างเด็ดขาด
              แต่ในปีค..1995 สมาคมไวน์แห่งฟรานช่าคอร์ต้า ขึ้นทะเบียนไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า ซาเตน (Franciacorta Saten) ให้เป็นเครื่องหมายการค้าที่ผู้ผลิตสามารถระบุบนฉลากไวน์ได้  มีน้ำตาล 12-15 กรัมต่อลิตร
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) เป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) ชนิดแรกของแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) ถูกกำหนดให้เป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) เมื่อปีค..1967  และถูกยกระดับขึ้นเป็นไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) เมื่อวันที่ 1 กันยายน 1995 
Franciacorta Cuvee Annamaria Clementi

              ผู้ผลิตไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) ที่โดดเด่น  คือ บริษัทเบลลาวิสต้า (Bellavista) มีไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า กรอง คูเว่ ปาส์ โอเปเร่ (Franciacorta Gran Cuvee Pas Opere) เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างกว้างขวาง พอหาซื้อได้ในเมืองมิลาน ในราคาประมาณ 80 ยูโร   ส่วนบริษัทคาซ่า เดล บอสโก้ (Ca’ del Bosco)  จากหมู่บ้านแอร์บุสโก้ (Erbusco) มีไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า คูเว่ แอนนามาเรีย เคลเมนติ (Franciacorta Cuvee Annamaria Clementi) เป็นไวน์ตัวเก่ง หาซื้อได้ในราคาประมาณ 70 ยูโร 
              ไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) จากผู้ผลิตรายใหญ่ทั้ง 2 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นไวน์ฟรานช่าคอร์ต้า (Franciacorta) ที่มีวินเทจ หรือที่เรียกว่า มิลเลสิมาโต้ (Millesimato)

วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Italian Wines by Glance

Italian Wines by Glance


              มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการผลิตไวน์ทั่วโลก ระหว่างวินเทจ 2006-2009  จาก Trade Information Center แห่ง US Department of Commerce  ที่นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้  ซึ่งในระหว่างวินเทจ 2006-2008  ประเทศอิตาลี (Italy) ผลิตไวน์ได้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยผลิตได้ 54.60 ล้านเฮ็คโตลิตร / 49.18 ล้านเฮ็คโตลิตร และ 50.47 ล้านเฮ็คโตลิตร ตามลำดับ  เป็นปริมาณที่มากกว่าการผลิตไวน์ในประเทศฝรั่งเศส (France) ที่ผลิตได้ 53.02 ล้านเฮ็คโตลิตร / 46.54 ล้านเฮ็คโตลิตร และ 42.80 ล้านเฮ็คโตลิตร ตามลำดับ 
              แต่ในวินเทจ 2009  ทั่วโลกมีผลผลิตรวม 26,759,900 พันล้านลิตร ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดลง ประเทศอิตาลี (Italy) ผลิตได้ 46.50 ล้านเฮ็คโตลิตร คิดเป็น 17.38 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับเสียตำแหน่งผู้นำการผลิตไปให้กับประเทศฝรั่งเศส (France) ที่ผลิตได้ 47.00 ล้านเฮ็คโตลิตร
              จากจำนวนผลผลิตไวน์อิตาเลียน จำนวน 46.50 ล้านเฮ็คโตลิตร ในวินเทจ 2009  จะมาจากเขตการผลิตไวน์ (wine regions) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีเขตไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG appellation) 74 เขต เขตไวน์เกรดดีโอซี.(DOC appellation) มากกว่า 300 เขต  มีผู้ผลิตไวน์มากกว่า 3,000 ราย และไวน์อิตาเลียนที่ผลิตออกมามีมากกว่า 40,000 ฉลาก  หากเราดื่มวันละ 1 ฉลากโดยไม่ซ้ำกัน เราจะดื่มครบทั้งหมดภายในเวลาประมาณ 100 ปี
              ด้วยความหลากหลายของสภาพภูมิอากาศ (climate) แตร์รัวร์ (terroir) และพันธุ์องุ่น (grape varities)  ทำให้ไวน์อิตาเลียนมีความหลายหลากอย่างไม่น่าเชื่อ

              ประเทศอิตาลี (Italy) มีประชากรประมาณ 60 ล้านคน (ค.ศ.2010)  แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 แคว้น (Regions)  มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิตาลี (Italian Repubblic) เรียกในภาษาอิตาเลียนว่า เรปุบบลิก้า อิตาเลียน่า (Repubblica Italiana) เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรปใต้ (Southern Europe) มีเขตแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศฝรั่งเศส (France)  ทิศเหนือติดต่อกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) และประเทศออสเตรีย (Austria)  ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศสโลวีเนีย (Slovenia)  ส่วนทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออก ล้อมรอบไปด้วยทะเลไทเรเนียน (Tyrrhenian Sea) ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) และทะเลอาเดรียติค (Adriatic Sea)
              มีพื้นที่ 301,318 ตารางกิโลเมตร แบ่งตามสภาพทางภูมิศาสตร์ได้เป็น 3 ส่วน คือ พื้นทวีป (Continent) คาบสมุทร (Peninsula) และเกาะในทะเล (Islands) 
              ส่วนที่เป็นพื้นทวีป (Continent) คือ พื้นที่รูปสามเหลี่ยมตอนเหนือของประเทศ เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีเทือกเขาแอลป์ (Alpine ranges) ความยาวประมาณ 1,300 กิโลเมตร ทอดเป็นส่วนโค้งตามแนวชายฝั่งทะเลลิกูเรียน (Ligurian Sea) เริ่มจากเมืองซาโวน่า (Savona) แคว้นลิกูเรีย (Liguria) ไปถึงชายฝั่งทะเลอาเดรียติค (Adriatic Sea) ที่เมืองตริเอสเต้ (Trieste) แคว้นฟริอูลิ-เวเนเซีย จูเลีย (Friuli-Venezia Giulia)  มีหิมะปกคลุมในฤดูหนาว อากาศในเวลากลางวันจะอบอุ่นด้วยแสงจากดวงอาทิตย์ ส่วนในเวลากลางคืนจะมีอากาศที่หนาวเย็น  แคว้นเตรนติโน่ อัลโต้ อดิเจ้ (Trentino-Alto Adige) อยู่ตอนบนสุดซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงโดยเฉลี่ย 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จะผลิตไวน์ขาวได้โดดเด่นกว่าไวน์แดง พันธุ์องุ่นเขียวหลายพันธุ์ถูกนำเข้ามาปลูกในช่วงเวลาที่อยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)  เช่นเดียวกันกับแคว้นวัลเล่ ดาออสต้า (Valle d’Aosta) ที่ผลิตไวน์ขาวได้ดี
Zenato-Amarone della Valpolicella

              แคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) แคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) และแคว้นเวเนโต้ (Veneto)  3 แคว้นใหญ่ที่ตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันจะผลิตไวน์แดงได้ดีกว่าไวน์ขาว  ไวน์บาโรโล่ (Barolo) และไวน์บาร์บาเรสโก้ (Barbaresco) จากแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) เป็น “Classic Wine” ที่ไม่ด้อยไปกว่าไวน์จากแคว้นเบอร์กันดี (Burgundy)  ส่วนไวน์วัลเตลลิน่า สฟอร์ซาโต้ (Valtellina Sforzato) จากแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) และไวน์อมาโรเน่ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Amarone della Valpolicella) จากแคว้นเวเนโต้ (Veneto) เป็นไวน์จากองุ่นแห้งที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก          
              ส่วนที่เป็นคาบสมุทร (Peninsula) มีความยาวประมาณ 1,035 กิโลเมตร คือ ส่วนที่เริ่มจากที่ราบทางตอนใต้ของเทือกเขาแอลป์ (Alpine ranges) ไปจรดตอนใต้สุดของประเทศ สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาสลับกับที่ราบ  พื้นที่ส่วนนี้มีรูปร่างคล้ายรองเท้าบูทที่เรียกในภาษาอิตาเลียนว่า สติวาเล่ (Stivale) มีเทือกเขาอัปเปนไนน์ (Apennines) เป็นเสมือนกระดูกสันหลัง  มียอดเขาสูงที่รู้จักกันดีทั่วโลกคือ เวซูวิโอ (Vesuvio) หรือ เวซูวิอุส (Vesuvius) ภูเขาแห่งมหันตภัยที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองนาโปลี (Napoli)  
Casanova di Neri-Brunello di Montalcino

              แคว้นทัสคานี (Tuscany) ได้รับสมญาว่า “The Most Beautiful Region in Italy” มีความโดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกและเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่สำคัญของประเทศ  จะผลิตไวน์แดงได้ดีในแบบฉบับของชาวอิตาเลียนดั้งเดิมอย่างไวน์เคียนติ (Chianti) และมีไวน์ระดับตำนานอย่างไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino)  รวมถึงไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) ในแบบอย่างไวน์แดงจากแคว้นบอร์โด (Bordeax-styled) ที่คนทั้งโลกต้องถวิลหา

              แคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo) ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอาเดรียติค (Adriatic Sea) มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงค่อนข้างทุรกันดารและมีป่าทึบ แม้ว่าจะมีพื้นที่ปลูกองุ่นไม่มากนักแต่ก็เริ่มที่จะฉายแววแห่งความรุ่งโรจน์ออกมาให้เห็นจากไวน์มอนเตปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ (Montepulciano d’Abruzzo) ของผู้ผลิตไวน์ชั้นนำ  และแคว้นอุมเบรีย (Umbria) ก็มีชื่อเสียงมานานจากไวน์ซากรานติโน่ ดิ มอนเตฟัลโก้ (Sagrantino di Montefalco)
              ในโซนภาคใต้ที่อยู่บนคาบสมุทร (Peninsula) จะมีไวน์แดงในแบบฉบับดั้งเดิมมากมายจากองุ่นพื้นเมือง เช่น ไวน์เตาราสิ (Taurasi) จากแคว้นคัมปาเนีย (Campania) หรือไวน์ปริมิติโว่ (Primitivo) จากแคว้นปูเยีย (Puglia)  และที่น่าจับตามองจะเป็นไวน์อาเยียนิโก้ เดล วุลตูเร่ (Aglianico del Vulture) จากแคว้นบาซิลิกาต้า (Basilicata)

Three Musketeers from Sicily
              ส่วนที่เป็นเกาะในทะเล (Islands) จะมีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายบริเวณแนวชายฝั่งและในมหาสมุทร  มีเกาะซิซิลี (Sicily Island) และเกาะซาร์ดิเนีย (Sardinia Island) เป็นเกาะใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากซึ่งทั้งสองเกาะนี้มีการทำไวน์มาตั้งแต่สมัยโบราณ  องุ่นแดงพันธุ์เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola) จะโดดเด่นอยู่บนเกาะซิซิลี (Sicily Island) ส่วนองุ่นแดงพันธุ์คันโนนาอู (Cannonau) เป็นองุ่นพันธุ์หลักของชาวซาร์ดิเนียน (Sardinian)

              องุ่นพันธุ์พื้นเมือง (native grape varities) หรือที่เรียกในภาษาอิตาเลียนว่า อาวต๊อคโตนิ (autoctoni) มีมากกว่า 1,000 ชนิด เป็นหนึ่งในหลายองค์ประกอบที่ทำให้ไวน์อิตาเลียนมีความหลากหลาย
              องุ่นแดงพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) เป็นองุ่นพื้นเมืองพันธุ์หลักของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) ทำไวน์บาโรโล่ (Barolo) และไวน์บาร์บาเรสโก้ (Barbaresco) ให้โด่งดังไปทั่วโลก  หากนำไปปลูกในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) ถูกเรียกว่า พันธุ์เคียเวนนาสก้า (Chiavennasca) ใช้ทำไวน์วัลเตลลิน่า สฟอร์ซาโต้ (Valtellina Sforzato)
              องุ่นแดงพันธุ์บาร์เบร่า (Barbera) เป็นองุ่นพื้นเมืองของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) อีกชนิดหนึ่งที่เป็นเสมือนผู้ช่วยพระเอก เป็นตัวช่วยปรับแต่งสมดุลให้กับองุ่นแดงพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) ในไวน์ลังเก้ เนบบิโอโล่ (Lange Nebbiolo)
              องุ่นแดงพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) เป็นองุ่นพื้นเมืองพันธุ์หลักของแคว้นเวเนโต้ (Veneto) นำมาทำไวน์วัลโปลิเชลล่า (Valpolicella) ที่แตกหน่อออกไปเป็นไวน์อมาโรเน่ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Amarone della Valpolicella)
Avignonest-Vino nobile di Montepulciano
              องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ปลูกกันอย่างแพร่หลายในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ในแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna) และในแคว้นอื่นๆ เกือบทั้งประเทศ  เป็นองุ่นแดงที่มีสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 100 ชนิด  ใช้เป็นส่วนผสมหลักของไวน์เคียนติ (Chianti) และไวน์ซานโจเวเซ่ ดิ โรมานญ่า (Sangiovese di Romagna)  หากปลูกในตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) ถูกเรียกว่าพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) ใช้เป็นส่วนผสมหลักของไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano)  หากปลูกในตำบลสคันซาโน่ (Comune di Scansano) ถูกเรียกว่าพันธุ์โมเรลลิโน่ (Morellino) ใช้เป็นส่วนผสมหลักของไวน์โมเรลลิโน่ ดิ สคันซาโน่(Morellino di Scasano) และปลูกในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) จะเรียกว่าพันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) ใช้ทำไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino)
              องุ่นแดงพันธุ์มอนเต้ปูลชาโน่ (Montepulciano) เป็นองุ่นพื้นเมืองพันธุ์หลักของแคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo) ใช้เป็นส่วนผสมหลักของไวน์มอนเต้ปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ (Montepulciano d’Abruzzo) ซึ่งชื่อพันธุ์องุ่นชนิดนี้ได้สร้างความสับสนให้กับแฟนไวน์อิตาเลียนมากทีเดียว  คงต้องขอย้ำกันอีกครั้งหนึ่งว่าองุ่นแดงพันธุ์มอนเต้ปูลชาโน่ (Montepulciano) อยู่ในแคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo)  ส่วนตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) อยู่ในแคว้นทัสคานี (Tuscany)
              องุ่นแดงพันธุ์ปริมิติโว่ (Primitivo) เป็นองุ่นพื้นเมืองพันธุ์หลักของแคว้นปูเยีย (Puglia) ใช้ทำไวน์ปริมิติโว่ (Primitivo) และเป็นส่วนผสมในไวน์แดงหลายชนิดของแคว้นภาคใต้
              องุ่นแดงพันธุ์เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola) มีถิ่นกำเนิดในแคว้นซิซิลี (Sicily) ใช้เป็นส่วนผสมหลักของซิซิเลียนไวน์ (Sicilian wines) แทบทุกชนิด
              นอกจากองุ่นพันธุ์พื้นเมือง (native grape varities) ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายแล้ว พันธุ์องุ่นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (International grape varities) ก็มีการปลูกและนำมาทำไวน์ชั้นดีเกรดไอจีที.(IGT) อย่างหลากหลายเช่นเดียวกัน  องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) ปลูกได้ดีในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมหลักใน “SuperTuscan Wines” ชั้นดีหลายฉลาก เช่น ไวน์โบลเกริ ซาสซิคาย่า (Bolgheri Sassicaia) และไวน์โซลาย่า (Solaia) เป็นต้น
'W' Dedicato a Walter ที่ทำจาก Cabernet Franc 100%
              องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) ปลูกได้ดีบริเวณที่มีอากาศเฉพาะถิ่น (micro-climate) ในแนวชายฝั่งทะเลมาเรมม่า (Maremma Coastal) เมืองลิวอร์โน่ (Livorno) ซึ่งสามารถทำไวน์ชนิด “single variety” ได้อย่างวิเศษเหลือเชื่อ เช่น ไวน์มาสเซโต้ (Masseto) ที่ใช้พันธุ์แมร์โล (Merlot) ล้วนๆ หรือไวน์เดดิกาโต้ อะ วอลเตอร์ (Dedicato A Walter) ที่ทำจากพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) 100 เปอร์เซ็นต์  ส่วนองุ่นแดงพันธุ์ซีร่าห์ (Syrah) ปลูกได้ดีในแคว้นนี้เช่นกัน
              พันธุ์องุ่นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (International grape varities) ยังสามารถปลูกได้ดีในหลายแคว้น  องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) ยังคงทำไวน์เกรดซิชิเลีย ไอจีที.(Sicilia IGT) ได้ดีในแคว้นซิซิลี (Sicily) และใช้เบลนด์กับองุ่นแดงพันธุ์คอร์วิน่า (Corvina) ทำไวน์เกรดเวโรเนเซ่ ไอจีที.(Veronese IGT) ในแคว้นเวเนโต้ (Veneto)  รวมถึงองุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) ที่สามารถทำไวน์ชนิด “single variety” ในแคว้นเวเนโต้ (Veneto) และแคว้นมาร์เค่ (Marche)
              นี่เป็นภาพรวมกว้างในปัจจุบันของไวน์อิตาเลียน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ควรรู้สำหรับแฟนไวน์ตัวจริง

วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2554

ไวน์ รีวิว : ไวน์อัลบาน่า ดิ โรมานญ่า เซคโค่ (Albana di Romagna Secco)

          ไวน์ฉลากนี้คือ ไวน์อัลบาน่า ดิ โรมานญ่า เซคโค่ (Albana di Romagna Secco) ของบริษัท โรมันดิโอล่า (Romandiola) แห่งแคว้นเอมิเลีย โรมานญ่า(Emilia Romagna) ทำจากองุ่นพื้นเมืองพันธุ์อัลบาน่า (Albana) 100 % เป็นไวน์ที่ผมเคยมองข้ามไป ทั้งๆ ที่เคยผ่านสายตาเมื่อครั้งอยู่ที่ไปเมืองโบโลญญ่า (Bologna) มาได้ดื่มครั้งแรกที่เมืองไทยนี่เอง เมื่อบริษัท เท็กซีก้า (Texica) นำเข้ามาจำหน่าย


           ไวน์ขาวตัวนี้ค่อนข้างจะแตกต่างไปจากไวน์ขาวอิตาเลียนจากองุ่นพันธุ์ปิโน กริโจ้ (Pinot grigio) หรือพันธุ์ปิโน เบียงโค่ (Pinot bianco) ที่ light-bodied เมื่ออยู่ในปากเราจะมีความรู้สึกเหมือนกับว่ามีเนื้อมีหนังให้เราขบเคี้ยวได้ ซึ่งตรงกับคำศัพท์ที่เรียกว่า "chewy" และมีแอซิดที่ดีมาก เหมาะกับอากาศอบอ้าวยามบ่ายในบ้านเราเวลานี้เป็นอย่างยิ่ง ดื่มได้กับอาหารไทยที่มีรสชาติเข้มข้นพอควรแต่ไม่เผ็ด หรือจะสั่งพิซซ่ามารับประทานกับไวน์ขาวตัวนี้ก็ได้เลย ครับ