วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2554

Italian Wines by Glance

Italian Wines by Glance


              มีข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการผลิตไวน์ทั่วโลก ระหว่างวินเทจ 2006-2009  จาก Trade Information Center แห่ง US Department of Commerce  ที่นำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนเมื่อไม่นานมานี้  ซึ่งในระหว่างวินเทจ 2006-2008  ประเทศอิตาลี (Italy) ผลิตไวน์ได้เป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยผลิตได้ 54.60 ล้านเฮ็คโตลิตร / 49.18 ล้านเฮ็คโตลิตร และ 50.47 ล้านเฮ็คโตลิตร ตามลำดับ  เป็นปริมาณที่มากกว่าการผลิตไวน์ในประเทศฝรั่งเศส (France) ที่ผลิตได้ 53.02 ล้านเฮ็คโตลิตร / 46.54 ล้านเฮ็คโตลิตร และ 42.80 ล้านเฮ็คโตลิตร ตามลำดับ 
              แต่ในวินเทจ 2009  ทั่วโลกมีผลผลิตรวม 26,759,900 พันล้านลิตร ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ลดลง ประเทศอิตาลี (Italy) ผลิตได้ 46.50 ล้านเฮ็คโตลิตร คิดเป็น 17.38 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับเสียตำแหน่งผู้นำการผลิตไปให้กับประเทศฝรั่งเศส (France) ที่ผลิตได้ 47.00 ล้านเฮ็คโตลิตร
              จากจำนวนผลผลิตไวน์อิตาเลียน จำนวน 46.50 ล้านเฮ็คโตลิตร ในวินเทจ 2009  จะมาจากเขตการผลิตไวน์ (wine regions) ที่มีอยู่ทั่วประเทศ ซึ่งมีเขตไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG appellation) 74 เขต เขตไวน์เกรดดีโอซี.(DOC appellation) มากกว่า 300 เขต  มีผู้ผลิตไวน์มากกว่า 3,000 ราย และไวน์อิตาเลียนที่ผลิตออกมามีมากกว่า 40,000 ฉลาก  หากเราดื่มวันละ 1 ฉลากโดยไม่ซ้ำกัน เราจะดื่มครบทั้งหมดภายในเวลาประมาณ 100 ปี
              ด้วยความหลากหลายของสภาพภูมิอากาศ (climate) แตร์รัวร์ (terroir) และพันธุ์องุ่น (grape varities)  ทำให้ไวน์อิตาเลียนมีความหลายหลากอย่างไม่น่าเชื่อ

              ประเทศอิตาลี (Italy) มีประชากรประมาณ 60 ล้านคน (ค.ศ.2010)  แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 แคว้น (Regions)  มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิตาลี (Italian Repubblic) เรียกในภาษาอิตาเลียนว่า เรปุบบลิก้า อิตาเลียน่า (Repubblica Italiana) เป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรปใต้ (Southern Europe) มีเขตแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศฝรั่งเศส (France)  ทิศเหนือติดต่อกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) และประเทศออสเตรีย (Austria)  ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศสโลวีเนีย (Slovenia)  ส่วนทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออก ล้อมรอบไปด้วยทะเลไทเรเนียน (Tyrrhenian Sea) ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) และทะเลอาเดรียติค (Adriatic Sea)
              มีพื้นที่ 301,318 ตารางกิโลเมตร แบ่งตามสภาพทางภูมิศาสตร์ได้เป็น 3 ส่วน คือ พื้นทวีป (Continent) คาบสมุทร (Peninsula) และเกาะในทะเล (Islands) 
              ส่วนที่เป็นพื้นทวีป (Continent) คือ พื้นที่รูปสามเหลี่ยมตอนเหนือของประเทศ เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีเทือกเขาแอลป์ (Alpine ranges) ความยาวประมาณ 1,300 กิโลเมตร ทอดเป็นส่วนโค้งตามแนวชายฝั่งทะเลลิกูเรียน (Ligurian Sea) เริ่มจากเมืองซาโวน่า (Savona) แคว้นลิกูเรีย (Liguria) ไปถึงชายฝั่งทะเลอาเดรียติค (Adriatic Sea) ที่เมืองตริเอสเต้ (Trieste) แคว้นฟริอูลิ-เวเนเซีย จูเลีย (Friuli-Venezia Giulia)  มีหิมะปกคลุมในฤดูหนาว อากาศในเวลากลางวันจะอบอุ่นด้วยแสงจากดวงอาทิตย์ ส่วนในเวลากลางคืนจะมีอากาศที่หนาวเย็น  แคว้นเตรนติโน่ อัลโต้ อดิเจ้ (Trentino-Alto Adige) อยู่ตอนบนสุดซึ่งมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงโดยเฉลี่ย 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จะผลิตไวน์ขาวได้โดดเด่นกว่าไวน์แดง พันธุ์องุ่นเขียวหลายพันธุ์ถูกนำเข้ามาปลูกในช่วงเวลาที่อยู่ใต้การปกครองของจักรวรรดิออสเตรีย (Austrian Empire)  เช่นเดียวกันกับแคว้นวัลเล่ ดาออสต้า (Valle d’Aosta) ที่ผลิตไวน์ขาวได้ดี
Zenato-Amarone della Valpolicella

              แคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) แคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) และแคว้นเวเนโต้ (Veneto)  3 แคว้นใหญ่ที่ตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันจะผลิตไวน์แดงได้ดีกว่าไวน์ขาว  ไวน์บาโรโล่ (Barolo) และไวน์บาร์บาเรสโก้ (Barbaresco) จากแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) เป็น “Classic Wine” ที่ไม่ด้อยไปกว่าไวน์จากแคว้นเบอร์กันดี (Burgundy)  ส่วนไวน์วัลเตลลิน่า สฟอร์ซาโต้ (Valtellina Sforzato) จากแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) และไวน์อมาโรเน่ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Amarone della Valpolicella) จากแคว้นเวเนโต้ (Veneto) เป็นไวน์จากองุ่นแห้งที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก          
              ส่วนที่เป็นคาบสมุทร (Peninsula) มีความยาวประมาณ 1,035 กิโลเมตร คือ ส่วนที่เริ่มจากที่ราบทางตอนใต้ของเทือกเขาแอลป์ (Alpine ranges) ไปจรดตอนใต้สุดของประเทศ สภาพทางภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาสลับกับที่ราบ  พื้นที่ส่วนนี้มีรูปร่างคล้ายรองเท้าบูทที่เรียกในภาษาอิตาเลียนว่า สติวาเล่ (Stivale) มีเทือกเขาอัปเปนไนน์ (Apennines) เป็นเสมือนกระดูกสันหลัง  มียอดเขาสูงที่รู้จักกันดีทั่วโลกคือ เวซูวิโอ (Vesuvio) หรือ เวซูวิอุส (Vesuvius) ภูเขาแห่งมหันตภัยที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองนาโปลี (Napoli)  
Casanova di Neri-Brunello di Montalcino

              แคว้นทัสคานี (Tuscany) ได้รับสมญาว่า “The Most Beautiful Region in Italy” มีความโดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกและเป็นแหล่งผลิตไวน์ที่สำคัญของประเทศ  จะผลิตไวน์แดงได้ดีในแบบฉบับของชาวอิตาเลียนดั้งเดิมอย่างไวน์เคียนติ (Chianti) และมีไวน์ระดับตำนานอย่างไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino)  รวมถึงไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) ในแบบอย่างไวน์แดงจากแคว้นบอร์โด (Bordeax-styled) ที่คนทั้งโลกต้องถวิลหา

              แคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo) ที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทะเลอาเดรียติค (Adriatic Sea) มีสภาพพื้นที่เป็นภูเขาสูงค่อนข้างทุรกันดารและมีป่าทึบ แม้ว่าจะมีพื้นที่ปลูกองุ่นไม่มากนักแต่ก็เริ่มที่จะฉายแววแห่งความรุ่งโรจน์ออกมาให้เห็นจากไวน์มอนเตปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ (Montepulciano d’Abruzzo) ของผู้ผลิตไวน์ชั้นนำ  และแคว้นอุมเบรีย (Umbria) ก็มีชื่อเสียงมานานจากไวน์ซากรานติโน่ ดิ มอนเตฟัลโก้ (Sagrantino di Montefalco)
              ในโซนภาคใต้ที่อยู่บนคาบสมุทร (Peninsula) จะมีไวน์แดงในแบบฉบับดั้งเดิมมากมายจากองุ่นพื้นเมือง เช่น ไวน์เตาราสิ (Taurasi) จากแคว้นคัมปาเนีย (Campania) หรือไวน์ปริมิติโว่ (Primitivo) จากแคว้นปูเยีย (Puglia)  และที่น่าจับตามองจะเป็นไวน์อาเยียนิโก้ เดล วุลตูเร่ (Aglianico del Vulture) จากแคว้นบาซิลิกาต้า (Basilicata)

Three Musketeers from Sicily
              ส่วนที่เป็นเกาะในทะเล (Islands) จะมีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายบริเวณแนวชายฝั่งและในมหาสมุทร  มีเกาะซิซิลี (Sicily Island) และเกาะซาร์ดิเนีย (Sardinia Island) เป็นเกาะใหญ่ที่มีประชากรอาศัยอยู่มากซึ่งทั้งสองเกาะนี้มีการทำไวน์มาตั้งแต่สมัยโบราณ  องุ่นแดงพันธุ์เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola) จะโดดเด่นอยู่บนเกาะซิซิลี (Sicily Island) ส่วนองุ่นแดงพันธุ์คันโนนาอู (Cannonau) เป็นองุ่นพันธุ์หลักของชาวซาร์ดิเนียน (Sardinian)

              องุ่นพันธุ์พื้นเมือง (native grape varities) หรือที่เรียกในภาษาอิตาเลียนว่า อาวต๊อคโตนิ (autoctoni) มีมากกว่า 1,000 ชนิด เป็นหนึ่งในหลายองค์ประกอบที่ทำให้ไวน์อิตาเลียนมีความหลากหลาย
              องุ่นแดงพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) เป็นองุ่นพื้นเมืองพันธุ์หลักของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) ทำไวน์บาโรโล่ (Barolo) และไวน์บาร์บาเรสโก้ (Barbaresco) ให้โด่งดังไปทั่วโลก  หากนำไปปลูกในแคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy) ถูกเรียกว่า พันธุ์เคียเวนนาสก้า (Chiavennasca) ใช้ทำไวน์วัลเตลลิน่า สฟอร์ซาโต้ (Valtellina Sforzato)
              องุ่นแดงพันธุ์บาร์เบร่า (Barbera) เป็นองุ่นพื้นเมืองของแคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte) อีกชนิดหนึ่งที่เป็นเสมือนผู้ช่วยพระเอก เป็นตัวช่วยปรับแต่งสมดุลให้กับองุ่นแดงพันธุ์เนบบิโอโล่ (Nebbiolo) ในไวน์ลังเก้ เนบบิโอโล่ (Lange Nebbiolo)
              องุ่นแดงพันธุ์คอร์วิน่า เวโรเนเซ่ (Corvina Veronese) เป็นองุ่นพื้นเมืองพันธุ์หลักของแคว้นเวเนโต้ (Veneto) นำมาทำไวน์วัลโปลิเชลล่า (Valpolicella) ที่แตกหน่อออกไปเป็นไวน์อมาโรเน่ เดลล่า วัลโปลิเชลล่า (Amarone della Valpolicella)
Avignonest-Vino nobile di Montepulciano
              องุ่นแดงพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) ปลูกกันอย่างแพร่หลายในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ในแคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna) และในแคว้นอื่นๆ เกือบทั้งประเทศ  เป็นองุ่นแดงที่มีสายพันธุ์ย่อยมากกว่า 100 ชนิด  ใช้เป็นส่วนผสมหลักของไวน์เคียนติ (Chianti) และไวน์ซานโจเวเซ่ ดิ โรมานญ่า (Sangiovese di Romagna)  หากปลูกในตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) ถูกเรียกว่าพันธุ์ปรุนโยโล่ เจนติเล่ (Prugnolo gentile) ใช้เป็นส่วนผสมหลักของไวน์วิโน่ โนบิเล่ ดิ มอนเต้ปูลชาโน่ (Vino Nobile di Montepulciano)  หากปลูกในตำบลสคันซาโน่ (Comune di Scansano) ถูกเรียกว่าพันธุ์โมเรลลิโน่ (Morellino) ใช้เป็นส่วนผสมหลักของไวน์โมเรลลิโน่ ดิ สคันซาโน่(Morellino di Scasano) และปลูกในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) จะเรียกว่าพันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) ใช้ทำไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino)
              องุ่นแดงพันธุ์มอนเต้ปูลชาโน่ (Montepulciano) เป็นองุ่นพื้นเมืองพันธุ์หลักของแคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo) ใช้เป็นส่วนผสมหลักของไวน์มอนเต้ปูลชาโน่ ดาบรุซโซ่ (Montepulciano d’Abruzzo) ซึ่งชื่อพันธุ์องุ่นชนิดนี้ได้สร้างความสับสนให้กับแฟนไวน์อิตาเลียนมากทีเดียว  คงต้องขอย้ำกันอีกครั้งหนึ่งว่าองุ่นแดงพันธุ์มอนเต้ปูลชาโน่ (Montepulciano) อยู่ในแคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo)  ส่วนตำบลมอนเต้ปูลชาโน่ (Comune di Montepulciano) อยู่ในแคว้นทัสคานี (Tuscany)
              องุ่นแดงพันธุ์ปริมิติโว่ (Primitivo) เป็นองุ่นพื้นเมืองพันธุ์หลักของแคว้นปูเยีย (Puglia) ใช้ทำไวน์ปริมิติโว่ (Primitivo) และเป็นส่วนผสมในไวน์แดงหลายชนิดของแคว้นภาคใต้
              องุ่นแดงพันธุ์เนโร ดาโวล่า (Nero d’Avola) มีถิ่นกำเนิดในแคว้นซิซิลี (Sicily) ใช้เป็นส่วนผสมหลักของซิซิเลียนไวน์ (Sicilian wines) แทบทุกชนิด
              นอกจากองุ่นพันธุ์พื้นเมือง (native grape varities) ที่ปลูกกันอย่างแพร่หลายแล้ว พันธุ์องุ่นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (International grape varities) ก็มีการปลูกและนำมาทำไวน์ชั้นดีเกรดไอจีที.(IGT) อย่างหลากหลายเช่นเดียวกัน  องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) ปลูกได้ดีในแคว้นทัสคานี (Tuscany) ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมหลักใน “SuperTuscan Wines” ชั้นดีหลายฉลาก เช่น ไวน์โบลเกริ ซาสซิคาย่า (Bolgheri Sassicaia) และไวน์โซลาย่า (Solaia) เป็นต้น
'W' Dedicato a Walter ที่ทำจาก Cabernet Franc 100%
              องุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) และพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) ปลูกได้ดีบริเวณที่มีอากาศเฉพาะถิ่น (micro-climate) ในแนวชายฝั่งทะเลมาเรมม่า (Maremma Coastal) เมืองลิวอร์โน่ (Livorno) ซึ่งสามารถทำไวน์ชนิด “single variety” ได้อย่างวิเศษเหลือเชื่อ เช่น ไวน์มาสเซโต้ (Masseto) ที่ใช้พันธุ์แมร์โล (Merlot) ล้วนๆ หรือไวน์เดดิกาโต้ อะ วอลเตอร์ (Dedicato A Walter) ที่ทำจากพันธุ์คาเบอร์เน่ ฟรอง (Cabernet franc) 100 เปอร์เซ็นต์  ส่วนองุ่นแดงพันธุ์ซีร่าห์ (Syrah) ปลูกได้ดีในแคว้นนี้เช่นกัน
              พันธุ์องุ่นที่มีถิ่นกำเนิดจากต่างประเทศ (International grape varities) ยังสามารถปลูกได้ดีในหลายแคว้น  องุ่นแดงพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวินยอง (Cabernet sauvignon) ยังคงทำไวน์เกรดซิชิเลีย ไอจีที.(Sicilia IGT) ได้ดีในแคว้นซิซิลี (Sicily) และใช้เบลนด์กับองุ่นแดงพันธุ์คอร์วิน่า (Corvina) ทำไวน์เกรดเวโรเนเซ่ ไอจีที.(Veronese IGT) ในแคว้นเวเนโต้ (Veneto)  รวมถึงองุ่นแดงพันธุ์แมร์โล (Merlot) ที่สามารถทำไวน์ชนิด “single variety” ในแคว้นเวเนโต้ (Veneto) และแคว้นมาร์เค่ (Marche)
              นี่เป็นภาพรวมกว้างในปัจจุบันของไวน์อิตาเลียน ซึ่งเป็นพื้นฐานที่ควรรู้สำหรับแฟนไวน์ตัวจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น