ประเทศอิตาลี (Italy) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐอิตาลี (Italian Republic) ตั้งอยู่ในทวีปยุโรปใต้ (Southern Europe) เป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย (Democratic Republic) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ.1946 แต่ก่อนหน้านั้นเป็นประเทศที่มีการปกครองในระบอบราชาธิปไตย (Monarchy) มาตั้งแต่ปีค.ศ.1861
สาธารณะรัฐอิตาลี (Italian Republic) เรียกในภาษาอิตาเลียนว่า เรปุบบลิก้า อิตาเลียน่า (Repubblica Italiana) มีเขตแดนทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศฝรั่งเศส (France) ทิศเหนือติดต่อกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) และประเทศออสเตรีย (Austria) ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดต่อกับประเทศสโลวีเนีย (Slovenia) ส่วนทางทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออก ล้อมรอบไปด้วยทะเลไทเรเนียน (Tyrrhenian Sea) ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean Sea) และทะเลอาเดรียติค (Adriatic Sea) มีพื้นที่ 301,338 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 60.68 ล้านคน (ค.ศ.2011)
แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 20 แคว้น (regions) ได้แก่
1. แคว้นอาบรุซโซ่ (Abruzzo)
2. แคว้นบาซิลิกาต้า (Basilicata)
3. แคว้นคาลาเบรีย (Calabria)
4. แคว้นคัมปาเนีย (Campania)
5. แคว้นเอมิเลีย-โรมานญ่า (Emilia-Romagna)
6. แคว้นฟริอูลิ-เวเนเซีย จูเลีย (Friuli-Venezia Giulia)
7. แคว้นลาซิโอ (Lazio)
8. แคว้นลิกูเรีย (Liguria)
9. แคว้นลอมบาร์ดี (Lombardy)
10. แคว้นมาร์เค่ (Marche)
11. แคว้นโมลิเซ่ (Molise)
12. แคว้นปิเอมอนเต้ (Piemonte)
13. แคว้นปูเยีย (Puglia)
14. แคว้นซาร์ดิเนีย (Sardinia)
15. แคว้นซิซิลี (Sicily)
16. แคว้นเตรนติโน่-อัลโต้ อาดิเจ้ (Trentino-Alto Adige)
17. แคว้นทัสคานี (Tuscany)
18. แคว้นอุมเบรีย (Umbria)
19. แคว้นวัลเล่ ดาออสต้า (Valle d’Aosta)
20. แคว้นเวเนโต้ (Veneto)
โดยที่ 5 แคว้น มีสถานะเป็นเขตปกครองพิเศษ (Special Autonomous Status) ซึ่งสามารถออกกฏหมายบังคับในท้องถิ่นของตนเอง ได้แก่ แคว้นฟริอูลิ-เวเนเซีย จูเลีย (Friuli-Venezia Giulia) แคว้นซาร์ดิเนีย (Sardinia) แคว้นซิซิลี (Sicily) แคว้นเตรนติโน่-อัลโต้ อาดิเจ้ (Trentino-Alto Adige) และ แคว้นวัลเล่ ดาออสต้า (Valle d’Aosta)
ในแต่ละแคว้น (regions) จะแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น โปรวินช่า (Provincia) โคมูเน่ (Comune) และ ฟราซิโอเน่ (Frazione) ซึ่งหมายถึง เมือง ตำบล และ หมู่บ้าน
คำว่า “Italy” หรือ “Italia” ในภาษาอิตาเลียน ใช้เป็นชื่อประเทศมาตั้งแต่ในอดีตกาล นักการศึกษาหลายกลุ่มเห็นพ้องกันว่ามาจากคำว่า“Vitello” คำในภาษาละตินที่มีความหมายว่า“Calf” ที่แปลว่า“ลูกวัว” ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานที่มีการอ้างอิงว่ากลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแคว้นคาลาเบรีย (Calabria) ได้ยึดถือ“ลูกวัว” เป็นสัญลักษณ์
พื้นที่ของประเทศแบ่งตามสภาพทางภูมิศาสตร์ได้เป็น 3 ส่วน คือ พื้นทวีป (Continent) คาบสมุทร (Peninsula) และเกาะในทะเล (Islands)
ส่วนที่เป็นพื้นทวีป (Continent) คือ พื้นที่รูปสามเหลี่ยมตอนเหนือของประเทศ เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีเทือกเขาแอลป์ที่ยาวประมาณ 1,300 กิโลเมตร ทอดเป็นส่วนโค้งตามแนวชายแดนทางทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออก โดยเริ่มจากเมืองซาโวน่า (Savona) ชายฝั่งทะเลลิกูเรียน (Ligurian Sea) แคว้นลิกูเรีย (Liguria) ไปถึงเมืองตริเอสเต้ (Trieste) แคว้นฟริอูลิ-เวเนเซีย จูเลีย (Friuli-Venezia Giulia) ชายฝั่งทะเลอาเดรียติค (Adriatic Sea)
ส่วนที่เป็นคาบสมุทร (Peninsula) คือ ส่วนที่เริ่มจากที่ราบทางตอนใต้ของเทือกเขาแอลป์ (Alpine ranges) ไปจรดตอนใต้สุดของประเทศมีความยาวประมาณ 1,035 กิโลเมตร มีรูปร่างคล้ายรองเท้าบูท (boot) หรือที่เรียกในภาษาอิตาเลียนว่า สติวาเล่ (Stivale) บนคาบสมุทรอิตาลี (Italian Peninsula) มีเทือกเขาอัปเปนไนน์ (Apennines ranges) ที่มียอดเขาสูงๆ ต่ำๆ มากมายเปรียบเสมือนกระดูกสันหลัง ยอดเขาที่รู้จักกันดีทั่วโลกคือ ภูเขาเวซูวิโอ (Vesuvio) หรือ ภูเขาเวซูวิอุส (Vesuvius) ภูเขาไฟมหันตภัยที่อยู่ทางตอนใต้ของเมืองนาโปลี (Napoli)
ส่วนที่เป็นเกาะในทะเล (Islands) จะมีเกาะซิซิลี (Sicily) และเกาะซาร์ดิเนีย (Sardinia) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ 2 เกาะ รวมถึงมีเกาะเล็กเกาะน้อยมากมายบริเวณแนวชายฝั่งทะเลและในมหาสมุทร
ย้อนเวลากลับไปในอดีตเมื่อ 8,000 ปีก่อนคริสตกาล บนคาบสมุทรอิตาลี (Italian Peninsula) จะมีกลุ่มชนเร่ร่อนอาศัยอยู่ซึ่งในยุคนั้นเรียกกันว่า ยุควัฒนธรรมเมโซลิธิค (Mesolithic Cultures) ต่อจากนั้นเป็นยุควัฒนธรรมนีโอลิธิค (Neolithic Cultures) มีอายุระหว่าง 5,000-2,000 ปีก่อนคริสตกาล ซึ่งเริ่มที่จะพบเห็นร่องรอยวัฒนธรรมของชนกลุ่มต่างๆ
ยุคทองแดงและยุคสัมฤทธิ์ (Copper and Bronze Age) มีอายุอยู่ระหว่าง 2,000-1,000 ปีก่อนคริสตกาล เริ่มมีการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ มีการประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้และอาวุธที่เป็นโลหะ
ยุคเหล็ก (Iron age) มีอายุอยู่ระหว่าง 1,000-750 ปีก่อนคริสตกาล ในยุคนี้จะมีกลุ่มชนหลายกลุ่มอพยพมาตั้งถิ่นฐานบนคาบสมุทร
ช่วงเวลาสำคัญที่คาบเกี่ยวกับยุคเหล็ก (Iron age) จะเป็น ยุควัฒนธรรมวิลล่าโนวานส์ (Villanovans Cultures) ระหว่าง 900-500 ปีก่อนคริสตกาล เกิดขึ้นบริเวณตอนเหนือและตะวันตกของคาบสมุทร
ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันจะเป็น ยุคการตั้งถิ่นฐานใหม่ของชาวกรีก (Greek Colonization) ระหว่าง 775-500 ปีก่อนคริสตกาล เกิดขึ้นบริเวณตอนใต้ของคาบสมุทรอิตาลี (Italian Peninsula) และบนเกาะซิซิลี (Sicily) และ ยุควัฒนธรรมเอทรุสกัน (Etruscan Cultures) ระหว่าง 750-90 ปีก่อนคริสตกาล เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเลไทเรเนียน (Tyrrhenian Sea)
แต่ที่เป็นรากฐานของประเทศอิตาลี (Italy) ในปัจจุบันคือ ยุคการปกครองระบอบกษัตริย์ (The Kingships) ยุคการปกครองระบอบสาธารณรัฐ (The Republics) และ ยุคการปกครองระบอบจักรวรรดินิยม (The Empire)
ยุคการปกครองระบอบกษัตริย์ (The Kingships) ระหว่างปีที่ 753-509 ก่อนคริสตกาล รวมระยะเวลา 244 ปี
เป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “The Seven Kings of Rome” เริ่มต้นจาก กษัตริย์โรมิวลุส (King Romulus) ผู้สถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (The Absoluted Monarchy) ขึ้นในกรุงโรม (Rome) และสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์องค์แรกในปีที่ 753 ก่อนคริสตกาล
ในช่วงเวลานั้นชาวโรมัน (Romans) มีประชากรประมาณ 15,000 คน มีความเป็นอยู่ที่ดี มีวิหารแห่งจูปิเตอร์ (Basilica of Jupiter) ที่ถูกสร้างบนเนินเขาคาปิโตลิเน่ (Capitoline Hills) เป็นศูนย์รวม มีสภาโรมัน (Roman Forum) เป็นที่ประชุมทางการเมือง
หลังจากสิ้นสุดรัชสมัยของกษัตริย์โรมิวลุส (King Romulus) ในปีที่ 715 ก่อนคริสตกาล กรุงโรม (Rome) ก็ถูกสืบทอดอำนาจโดย กษัตริย์นูม่า ปอมปิลิอุส (King Numa Pompilius) จนถึงปีที่ 673 ก่อนคริสตกาล
กษัตริย์ตุลลุส โฮสติลิอุส (King Tullus Hostilius) ขึ้นครองราชย์ในระหว่างปีที่ 673-642 ก่อนคริสตกาล และตามมาด้วย กษัตริย์อันคุส มาร์ชิอุส (King Ancus Marcius) ระหว่างปีที่ 641-617 ก่อนคริสตกาล
กษัตริย์ตาร์ควินิอุส ปริสคุส (King Tarquinius Priscus) ผู้สร้างสนามกีฬาเซอร์คุส แม็กซิมุส (Circus Maximus) ในกรุงโรม (Rome) ขึ้นครองราชย์ในระหว่างปีที่ 616-579 ก่อนคริสตกาล
กษัตริย์แซร์วิอุส ตุลลิอุส (King Servius Tullius) ผู้ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ผู้สร้างท่อส่งน้ำในกรุงโรม (Aqueduct of Rome) และผู้ดำริให้สร้างกำแพงแซร์เวียน (Servian Wall) รอบกรุงโรม (Rome) ขึ้นครองราชย์ในระหว่างปีที่ 578-534 ก่อนคริสตกาล
กษัตริย์ตาร์ควินิอุส (King Tarquinius) ขึ้นครองราชย์ในะหว่างปีที่ 533-510 ก่อนคริสตกาล เป็นกษัตริย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นทรราชผู้ทำให้ชาวโรมัน (Romans) รวมตัวกันล้มล้างระบอบการปกครอง
ยุคการปกครองระบอบสาธารณรัฐ (The Republics) ระหว่างปีที่ 508-27 ก่อนคริสตกาลรวมระยะเวลา 482 ปี
ในปีที่ 509 ก่อนคริสตกาล ชาวโรมัน (Romans) รวมตัวกันโค่นล้มระบอบกษัตริย์ (The Kingships) และเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ (The Republics) โดยยังคงมีสภาโรมัน (Roman Forum) เป็นที่ประชุมทางการเมืองอยู่เช่นเดิม
สภาโรมัน (Roman Forum) เลือกคอนซูล (Consuls) ขึ้นมา 2 คนเป็นผู้ปกครอง มีคณะผู้พิพากษาเป็นผู้ดูแลด้านกระบวนการยุติธรรม รวมถึงมีคณะเควสเตอร์ (Questors) เป็นผู้ดูแลด้านการค้าและทรัพย์สมบัติของกรุงโรม
ในปีที่ 71 ก่อนคริสตกาล สภาโรมัน (Roman Forum) เลือก ยาอุส ปอมเปอุส มานยุส (Gnaeus Pompeius Magnus) หรือที่รู้จักกันในชื่อว่า ปอมเปย์ (Pompey) และ มาร์คุส ลิชินิอุส ครัซซุส (Marcus Licinius Crassus) ขึ้นเป็นคอนซูล (Consuls) ของกรุงโรม ซึ่งบุคคลทั้งสองมีความพยายามที่จะลดบทบาทของวุฒิสภา (The Senate) โดยต้องการให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงมากขึ้น ความคิดของสอง “คอนซูล” สอดคล้องกับความคิดของ ไกอุส จูลิอุส เซซ่าร์ (Gaius Julius Caesar)
ในปีที่ 59 ก่อนคริสตกาล ไกอุส จูลิอุส เซซ่าร์ (Gaius Julius Caesar) หรือ จูเลียส ซีซ่าร์ (Julius Caesar) ได้รับเลือกให้เป็น “คอนซูล” ทำให้เป็นครั้งแรกที่กรุงโรมมีผู้ปกครอง 3 คน ที่เรียกกันว่า ตริอุมวิราเต้ (Triumvirate)
มาร์คุส ลิชินิอุส ครัซซุส (Marcus Licinius Crassus) เสียชีวิตในการสู้รบที่ซีเรีย (Syria) ในปีที่ 53 ก่อนคริสตกาล และ ปอมเปย์ (Pompey) ถูกสังหารในปีที่ 48 ก่อนคริสตกาล ทำให้ ไกอุส จูลิอุส เซซ่าร์ (Gaius Julius Caesar) เป็นผู้ปกครองกรุงโรมแต่เพียงผู้เดียว
แต่ในที่สุดก็ถูกกลุ่มขุนนางในวุฒิสภา (The Senate) ร่วมกันลอบสังหารในเดือนมีนาคมของปีที่ 44 ก่อนคริสตกาล ทำให้สภาโรมัน (Roman Forum) เลือก มาร์คุส อันโตนิอุส (Marcus Antonius) มาร์คุส เอมิลิอุส เลปิดิอุส (Marcus Aemilius Lepidus) และ ออคตาเวียน (Octavian) เป็นผู้ปกครองกรุงโรม ที่เรียกกันว่า ตริอุมวิราเต้ยุคใหม่ (Triumvirate Nuove)
ในปีที่ 43 ก่อนคริสตกาล กลุ่มตริอุมวิราเต้ยุคใหม่ (Triumvirate Nuove) เกิดความขัดแย้งและแย่งชิงอำนาจกันเอง ในที่สุด ออคตาเวียน (Octavian) ก็ได้เป็นผู้ปกครองแต่เพียงผู้เดียวในปีที่ 31 ก่อนคริสตกาล
ยุคการปกครองระบอบจักรวรรดินิยม (The Empire) ระหว่างปีที่ 27 ก่อนคริสตกาล จนถึงปีค.ศ.1453 รวมระยะเวลา 1,480 ปี
การปกครองแบบจักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) เกิดขึ้นบนคาบสมุทรอิตาลี (Italian Peninsula) เมื่อปีที่ 27 ก่อนคริสตกาล ซึ่งการปกครองในรูปแบบนี้จะมีองค์จักรพรรดิ (The Emperor) หรือที่เรียกกันว่า ออกุสตุส (Augustus) เป็นศูนย์รวมแห่งอำนาจ ซึ่งองค์จักรพรรดิ (The Emperor) หลายองค์ต่างก็สืบทอดอำนาจมาจากบรรพบุรุษในนามแห่งราชวงศ์ (Dynasty)
ราชวงศ์จูลิโอ-คลอเดียน (Julio-Claudian Dynasty)
หลังจากที่ ออคตาเวียน (Octavian) ได้เป็นผู้ปกครองกรุงโรม (Rome) แต่เพียงผู้เดียวในปีที่ 31 ก่อนคริสตกาล ก็ได้เปลี่ยนการปกครองระบอบสาธารณรัฐ (The Republics) ไปเป็นการปกครองในระบอบจักรวรรดินิยม (The Empire) โดยมีวุฒิสภา (The Senate) เป็นผู้บริหารราชการแผ่นดิน และในปีที่ 27 ก่อนคริสตกาล ได้ก่อตั้งราชวงศ์จูลิโอ-คลอเดียน (Julio-Claudian Dynasty) และสถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิองค์แรกแห่งกรุงโรม โดยการยอมรับของสภาโรมัน (Roman Forum) มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ไกอุส จูลิอุส เซซ่าร์ ออกุสตุส (Gaius Julius Caesar Augustus) แต่คนทั่วไปจะเรียกกันว่า “จักรพรรดิออคตาเวียน” หรือ “ออกุสตุส” ซึ่งมีความหมายว่า “บุคคลที่น่าเคารพบูชา”
ราชวงศ์แนร์วาน-อันโตเนียน (Nervan-Antonian Dynasty)
วันที่ 18 กันยายน ค.ศ.96 จักรพรรดิโดมิเตียน (Domitian) แห่งราชวงศ์ฟลาเวียน (Flavian Dynasty) ถูกฆาตรกรรม ในวันเดียวกันนั้นสภาโรมัน (Roman Forum) แต่งตั้งให้ มาร์คุส คอชเชอิอุส แนร์ว่า (Marcus Cocceius Nerva) เป็นจักรพรรดิ ซึ่งการแต่งตั้งในครั้งนี้เป็นการคัดเลือกผู้สืบทอดอำนาจโดยใช้ความรู้ความสามารถมากกว่าที่จะเป็นการสืบทอดอำนาจทางสายโลหิต
จักรพรรดิมาร์คุส คอชเชอิอุส แนร์ว่า (Marcus Cocceius Nerva) เป็นจักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์แนร์วาน-อันโตเนียน (Nervan-Antonian Dynasty) ในช่วงเวลานี้ได้รับการจารึกว่าเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมากที่สุดของชาวโรมัน พลเมืองมีความเป็นอยู่อย่างสงบ กองทัพมีความเข้มแข็ง ผู้ปกครองมีคุณธรรม และจักรวรรดิโรมันแผ่ขยายไปยังทวีปเอเชีย ทวีปยุโรปตะวันออกและทวีปยุโรปเหนือ รวมถึงทวีปอัฟริกาเหนือ ยุคนี้นักประวัติศาสตร์เรียกว่า แพกซ์ โรมาน่า (Pax Romana) หรือ สันติสุขของชาวโรมัน (Peace of Roman) ที่โลกรู้จัก
เมื่อ “จักรพรรดิแนร์ว่า” เสียชีวิตในปีค.ศ.98 จักรพรรดิมาร์คุส อุลปิอุส แนร์ว่า ตรายานุส (Marcus Ulpius Nerva Traianus) ได้สืบทอดอำนาจอย่างยาวนานจนถึงปีค.ศ.117 ช่วงเวลานี้จักรวรรดิโรมันแผ่ขยายไปในทวีปยุโรปตะวันออก ถึงเมืองดาเชีย (Dacia) ซึ่งปัจจุบันคือประเทศโรมาเนีย (Romania) ส่วนทางทวีปเอเชียแผ่ขยายไปถึงดินแดนเมโสโปเตเมีย (Mesopotemia) และดินแดนในกลุ่มอราเบีย (Arabia) นับว่าเป็นช่วงเวลาที่จักรวรรดิโรมันยิ่งใหญ่มากที่สุด
หลังจากนั้น จักรพรรดิปูบลิอุส เอลิอุส อาเดรียนุส (Publius Aelius Hadrianus) เข้ามาสืบทอดอำนาจระหว่างปีค.ศ.117-138 ตามด้วย จักรพรรดิอันโตนิอุส ปิอุส (Antonius Pius) ระหว่างปีค.ศ.138-161
จักรวรรดิโรมัน (Roman Empire) ระหว่างปี ค.ศ. 96-117 ในสมัยจักรพรรดิแนร์ว่า (Nerva) |
ในปีค.ศ.161 จักรพรรดิมาคุส ออเรลิอุส (Marcus Aurelius) และ จักรพรรดิลูชิอุส ออเรลิอุส เวรุส (Lucius Aurelius Verus) ขึ้นครองราชย์ร่วมกัน แต่จักรพรรดิลูชิอุส ออเรลิอุส เวรุส (Lucius Aurelius Verus) เสียชีวิตด้วยกาฬโรคในเดือนมีนาคม ค.ศ.169 ทำให้จักรพรรดิมาคุส ออเรลิอุส (Marcus Aurelius) ครองอำนาจไปจนถึงปีค.ศ.180 โดยมี จักรพรรดิจักรพรรดิลูชิอุส ออเรลิอุส คอมโมโดุส อันโตนินุส (Lucius Aurelius Commodus Antoninus) เป็น Co-Emperor ตั้งแต่ปีค.ศ.177
จักรพรรดิลูชิอุส ออเรลิอุส คอมโมโดุส อันโตนินุส (Lucius Aurelius Commodus Antoninus) ถูกฆาตรกรรมในปีค.ศ.192 จึงเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์แนร์วาน-อันโตเนียน (Nervan-Antonian Dynasty) ส่งผลให้ในปีค.ศ.193 เป็นปีที่มีการช่วงชิงอำนาจกันอย่างหนักโดยมีจักรพรรดิขึ้นครองอำนาจถึง 5 องค์ เป็นปีที่เรียกว่า “The Year of the Five Emperors” ซึ่งช่วงเวลานี้อำนาจของจักรวรรดิโรมันเริ่มเสื่อมถอย
ราชวงศ์เซเวราน (Severan Dynasty)
ในปีค.ศ.193 มีการช่วงชิงอำนาจกันระหว่างบุคคลหลายกลุ่ม เริ่มจาก จักรพรรดิปูบลิอุส เอลวิอุส แปร์ติแน๊กซ์ (Publius Helvius Pertinax) ผู้ควบคุมกองกำลังทหารในกรุงโรม (Praetorian Guard) สถาปนาตนเองขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 มกราคม ค.ศ.193 แต่ก็ถูกฆาตรกรรมโดยกองกำลังทหารของตนเองในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.193
ในวันเดียวกันนั้น จักรพรรดิมาร์คุส ดิดิอุส เซเวรุส จูลิอานุส (Marcus Didius Severus Julianus) ก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยได้รับการสนับสนุนจากกองกำลังทหารในกรุงโรม (Praetorian Guard) แลกเปลี่ยนกับเงินเดือนทหารที่เพิ่มขึ้น 10 ตัว
ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีผู้สำเร็จราชการในดินแดนที่เป็นอาณานิคมต่างก็สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดินอกกรุงโรม โดยมี จักรพรรดิไกอุส เปสเชนนิอุส ไนเจอร์ (Gaius Pescennius Niger) ผู้สำเร็จราชการในซีเรีย (Syria) ประกาศตนเป็นจักรพรรดิในระหว่างปีค.ศ.193-194
จักรพรรดิเดชิมุส คลอดิอุส เซปติมุส อัลบินุส (Decimus Clodius Septimius Albinus) ผู้สำเร็จราชการในคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberian Peninsula) ประกาศตนเป็นจักรพรรดินอกกรุงโรมเช่นกัน
และ จักรพรรดิลูชิอุส เซปติมุส เซเวรุส (Lucius Septimius Severus) ผู้สำเร็จราชการในคาบสมุทรบอลข่าน (Balkan Peninsula) ได้รับการสนับสนุนจากอาณานิคมทางทวีปยุโรปตะวันออก ยกกองกำลังเข้าสู่กรุงโรมยึดอำนาจมาจาก “จักรพรรดิมาร์คุส ดิดิอุส เซเวรุส จูลิอานุส” และสถาปนาราชวงศ์เซเวราน (Severan Dynasty) พร้อมกับขึ้นครองราชย์ในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ.193
จากนั้นก็ทำการกวาดล้างกองกำลังของ “จักรพรรดิไกอุส เปสเชนนิอุส ไนเจอร์” ในซีเรีย (Syria) ส่วน “จักรพรรดิเดชิมุส คลอดิอุส เซปติมุส อัลบินุส” จากคาบสมุทรไอบีเรีย (Iberian Peninsula) ยอมให้การสนับสนุน ทำให้ “จักรพรรดิลูชิอุส เซปติมุส เซเวรุส” เป็นจักรพรรดิโรมันแต่เพียงผู้เดียว จนกระทั่งในปีค.ศ.198 แต่งตั้งให้ จักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส อันโตนินุส (Marcus Aurelius Antoninus) บุตรชายคนโตเป็น “Co-Emperor” เป็นผู้สืบทอดอำนาจ
และตามมาด้วยจักรพรรดิอีก 4 องค์ โดยสิ้นสุดลงที่ จักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส เซเวรุส อเล็กซานเดอร์ (Marcus Aurelius Severus Alexander) ถูกฆาตรกรรมในปีค.ศ.235
ในระหว่างปีค.ศ.235-285 เป็นช่วงเวลาที่กรุงโรมและอาณาจักรโรมันถูกสืบทอดการปกครองในระบอบจักรวรรดินิยม (The Empire) จากจักรพรรดิ 22 องค์ โดยไม่มีการก่อตั้งราชวงศ์ เป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “The Crisis of The Third Century” ซึ่งอำนาจของจักรวรรดิโรมันเริ่มสั่นคลอน จนกระทั่ง จักรพรรดิดิโอเคลเตียน (Diocletian) ขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ.284
“จักรพรรดิดิโอเคลเตียน” ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยการสนับสนุนจากกองกำลังทหารในคาบสมุทรบอลข่าน (Balkan Peninsula) ซึ่งในเวลานั้น จักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส คารินุส (Marcus Aurelius Carinus) ครองราชย์อยู่ในกรุงโรม
แต่ในที่สุดก็เดินทัพเข้าสู่กรุงโรมโดยไม่มีเสียงคัดค้านใดๆ จากสภาโรมัน (Roman Forum)
หลังจากเอาชนะ “จักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส คารินุส” จากสงครามที่แม่น้ำมาร์กุส (The Battle of Margus) ในเดือนกรกฏาคม ค.ศ.285
“จักรพรรดิดิโอเคลเตียน” เป็นผู้มีบทบาทสำคัญต่อการปกครองในระบอบจักรวรรดินิยม (The Empire) ที่มีจักรพรรดิ 4 องค์ ในเวลาเดียวกัน ที่เรียกว่า “The Rule of Four” หรือ “Tetrarchy” และเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโฉมหน้าของจักรวรรดิโรมันในปีค.ศ.286 โดยแบ่งแยกออกเป็นจักรวรรดิโรมันตะวันตก (The Western Roman Empire) และจักรวรรดิโรมันตะวันออก (The Eastern Roman Empire)
จักรวรรดิโรมันตะวันตก (The Western Roman Empire)
“จักรวรรดิโรมันตะวันตก” เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิโรมัน โดยในระหว่างปีค.ศ.286-402 มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองเมดิโอลานุม (Mediolanum) หรือเมืองมิลาน (Milan) ในปัจจุบัน แต่ในระหว่างปีค.ศ.402-476 ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองราเวนน่า (Ravenna)
“Tetrarchy” หรือ “The Rule of Four”
“จักรพรรดิดิโอเคลเตียน” ได้รับการสถาปนาจากเหล่าทหารให้เป็นจักรพรรดิในวันที่ 20 พฤศจิกายน ค.ศ.284 ได้มองเห็นว่าจักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) มีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล การที่จะมีผู้ปกครองเพียงคนเดียวก็เป็นภาระที่หนักเกินไป จึงมีความคิดที่จะแบ่งอาณาจักรออกเป็น 2 ส่วน ดังนั้นในปีค.ศ.285 จึงแต่งตั้งให้ จักรพรรดิแม๊กซิเมียน (Maximian) ให้อยู่ในตำแหน่ง “Caesar” มีอำนาจรองลงไปจากตนเอง ในปีต่อมาแต่งตั้งให้เป็น Co-Emperor และมอบหมายให้ปกครอง “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” มีเมืองหลวงอยู่ที่ เมืองเมดิโอลานุม (Mediolanum) ส่วนตนเองปกครอง “จักรวรรดิโรมันตะวันออก” มีเมืองหลวงอยู่ที่ เมืองนิโคเมเดีย (Nicomedia) บนคาบสมุทรอนาโตเลีย (Anatolia Peninsula) โดยมีเส้นแบ่งเขตแดนอยู่ที่คาบสมุทรบอลข่าน (Balkan Peninsula)
นักประวัติศาสตร์จะเรียกการปกครองในช่วงเวลานี้ว่า “The Rule of Two” หรือ “Diarchy”
ต่อมาจักรพรรดิทั้งสองมีความเห็นร่วมกันว่าควรจะมีผู้ปกครองจักรวรรดิเข้ามาแบ่งเบาภาระ ดังนั้นในปีค.ศ.293 “จักรพรรดิดิโอเคลเตียน” จึงแต่งตั้งให้ กาเลริอุส มักซิมิอานุส (Galerius Maximianus) เป็น “Caesar” และ “จักรพรรดิแม๊กซิเมียน” แต่งตั้งให้ คอนสแตนติอุส คลอรุส (Constantius Chlorus) เป็น “Caesar” ซึ่งเป็นการเริ่มต้นของการปกครองแบบ “The Rule of Four” หรือ “Tetrarchy”
ในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ.305 “จักรพรรดิดิโอเคลเตียน” และ “จักรพรรดิแม๊กซิเมียน” ก้าวลงจากบัลลังก์ พร้อมกับแต่งตั้งให้ “Caesar” ทั้งสองขึ้นครองตำแหน่งจักรพรรดิ และในวันเดียวกันนั้นจักรพรรดิองค์ใหม่ทั้งสอง ได้แต่งตั้งให้ มักซิมินุส ดาย่า (Maximinus Daia) และ ฟลาวิอุส วาเลริอุส เซเวรุส (Flavius Valerius Severus) อยู่ในตำแหน่ง “Caesar” ซึ่งนักประวัติศาสตร์กล่าวว่าเป็นการปกครองแบบ “The Second Tetrarchy”
ราชวงศ์คอนสแตนติเนียน (Constantinian Dynasty)
ในปลายปีค.ศ.305 “จักรพรรดิคอนสแตนติอุส คลอรุส” ได้ยกกองกำลังไปปราบกลุ่มชาวสก๊อต (Scottish tribes) ซึ่งรวมตัวกันต่อต้านจักรวรรดิโรมัน ที่เกาะบริตานเนีย (Britannia) โดยมี คอนสแตนติน ที่ 1 (Constantine I) ผู้เป็นบุตรชายติดตามไปด้วย และสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อองค์จักรพรรดิถึงแก่กรรมที่ ค่ายทหารเอบอราคุม (Eboracum) ในแคว้นนอร์ท ยอร์คไชร์ (North Yorkshire) ในวันที่ 25 กรกฏาคม ค.ศ.306 เหล่าทหารชาวกอล (Gauls) และชาวบริเตน (Britains) ซึ่งมีความจงรักภักดีต่อองค์จักรพรรดิจึงสนับสนุนให้ คอนสแตนติน ที่ 1 (Constantine I) เป็นจักรพรรดิของ “จักรวรรดิโรมันตะวันตก”
จักรวรรดิโรมันตะวันตก (The Western Roman Empire) ศูนย์กลางแห่งอำนาจจะอยู่ที่
เมืองเมดิโอลานุม (Mediolanum) ระหว่างปีค.ศ.286-402
และเมืองราเวนน่า (Ravenna) ระหว่างปีค.ศ.402-476
หลังจากที่ จักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 1 ขึ้นครองอำนาจแห่ง “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” แทนบิดา ทำให้ “ฟลาวิอุส วาเลริอุส เซเวรุส” ไม่พอใจเนื่องจากตนเองอยู่ในตำแหน่ง “Caesar” แต่ความขัดแย้งสิ้นสุดลงในปีต่อมาเมื่อ “ฟลาวิอุส วาเลริอุส เซเวรุส” ถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของราชวงศ์คอนสแตนติเนียน (Constantinian Dynasty)
“จักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 1” เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถในด้านการเมือง การสงคราม และเป็นผู้ร่วมลงนามในกฏบัตรแห่งเมืองมิลาน (Edict of Milan) ในปีค.ศ.313 โดยยินยอมให้ประชาชนในจักรวรรดิโรมันสามารถเลือกนับถือศาสนาได้โดยเสรี ซึ่งในช่วงเวลานั้นศาสนาคริสต์ได้เริ่มแพร่หลายเข้ามาสู่ทวีปยุโรป และได้กลายเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจักรวรรดิโรมันที่นับถือศาสนาคริสต์ (Christianity)
จักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) ได้กลับมารวมเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งในปีค.ศ.324 เมื่อ “จักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 1” มีชัยชนะเหนือ จักรพรรดิวาเลริอุส ลิชินิอานุส ลิชินิอุส (Valerius Licinianus Licinius) แห่ง “จักรวรรดิโรมันตะวันออก” และให้เมืองนิโคเมเดีย (Nicomedia) เป็นฐานอำนาจของจักรวรรดิ แต่ก็รวมกันได้เพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น
ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นนิรันดร์เกิดขึ้นอีกเมื่อองค์จักรพรรดิมีดำริย้ายเมืองหลวงจากเมืองนิโคเมเดีย (Nicomedia) ไปอยู่ที่เมืองไบเซนติอุม (Byzantium) โดยต้องการให้เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้และความรุ่งโรจน์ของจักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire)
หลังจากการบูรณะเป็นเวลา 6 ปี “เมืองไบเซนติอุม” ก็กลายเป็นฐานอำนาจแห่งใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น คอนสแตนติโนโปลิส (Constantinopolis) หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม “คอนสแตนติโนเปิล”
“จักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 1” เสียชีวิตในปีค.ศ.337 ตำแหน่งจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) ได้ถูกสืบทอดร่วมกันโดยบุตรชายทั้งสาม คือ จักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 2 (Constantine II) ในปีค.ศ.337-340 จักรพรรดิคอนสแตนติอุส ที่ 2 (Constantius II) ในปีค.ศ.337-361 และ จักรพรรดิคอนสแตนส์ (Constans) ในปีค.ศ.337-350
“จักรวรรดิโรมันตะวันตก” ฟื้นขึ้นมาอีกครั้งในปีค.ศ.350 เมื่อ “เวตรานิโอ” หนึ่งในผู้บัญชาการกองกำลังของจักรพรรดิคอนสแตนส์ (Constans) สถาปนาตนเองขึ้นเป็น “Caesar” ของจักรวรรดิโรมันตะวันตก (The Western Roman Empire) หลังจากที่จักรพรรดิคอนสแตนส์ (Constans) ถูกสังหารโดย มาเยนติอุส (Magnentius) ผู้บัญชาการกองกำลัง “the Imperial Guards” ผู้ซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อราชวงศ์คอนสแตนติเนียน (Constantinian Dynasty) และในอีก 2-3 เดือนต่อมา “เวตรานิโอ” ก็ได้รับการยอมรับให้เป็น Co-Empire จากจักรพรรดิคอนสแตนติอุส ที่ 2 (Constantius II) โดยให้เงินก้อนใหญ่สร้างกองกำลังเพื่อต่อต้าน มาเยนติอุส (Magnentius) ซึ่งถือได้ว่าเป็นจักรพรรดิเฉพาะกาล เท่านั้น และก็ได้สละตำแหน่งจักรพรรดิในปลายปีค.ศ.350
ต่อมาในปีค.ศ.355 “จักรพรรดิคอนสแตนติอุส ที่ 2” แต่งตั้ง ฟลาวิอุส คลอดิอุส จูลิอานุส (Flavius Claudius Julianus) ให้เป็น “Caesar” เพื่อแบ่งเบาภาระการปกครองใน “จักรวรรดิโรมันตะวันตก”
ต่อมาในปีค.ศ.360 “ฟลาวิอุส คลอดิอุส จูลิอานุส” ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นจักรพรรดิโดยเหล่าทหาร ทำให้เกิดความขัดแย้งกับจักรพรรดิคอนสแตนติอุส ที่ 2 (Constantius II)
แต่ทว่าสงครามระหว่างองค์จักรพรรดิทั้งสองยังมิได้เกิดขึ้น “จักรพรรดิคอนสแตนติอุส ที่ 2” ก็มาด่วนเสียชีวิตในปลายปีค.ศ.361 ทำให้ “จักรพรรดิฟลาวิอุส คลอดิอุส จูลิอานุส” ได้ปกครองทั้งสองจักรวรรดิจนถึงกลางปีค.ศ.363 และ จักรพรรดิโจเวียน (Jovian) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการกองกำลังทหารก็ได้รับการสถาปนาจากเหล่าทหารให้เป็นจักรพรรดิ จนกระทั่งเสียชีวิตในปีค.ศ.364 ก็เป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์คอนสแตนติเนียน (Constantinian Dynasty)
ราชวงศ์วาเลนติเนียน (Valentinian Dynasty)
สูญญากาศของอำนาจแห่งจักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) เกิดขึ้นเพียงแค่ 9 วัน จักรพรรดิวาเลนติเนียน ที่ 1 (Valentinian I) ได้ก่อตั้งราชวงศ์วาเลนติเนียน (Valentinian Dynasty) และขึ้นครองราชย์ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ค.ศ.364 ในอีก 1 เดือนต่อมาได้แต่งตั้ง ฟลาวิอุส จูลิอุส วาเลนส์ (Flavius Julius Valens) ผู้เป็นน้องชายให้เป็น Co-Emperor ครอบครอง “จักรวรรดิโรมันตะวันออก” ส่วนตนเองครอบครอง “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” ต่อมาในเดือนสิงหาคม ค.ศ.367 ก็แต่งตั้งให้ กราเตียน (Gratian) บุตรชาย เป็น “Caesar” และก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิเมื่อปีค.ศ.375 หลังจากการเสียชีวิตของ “จักรพรรดิวาเลนติเนียน ที่ 1” ซึ่ง “จักรพรรดิกราเตียน” ครองราชย์อยู่ 8 ปี ก็เสียชีวิตจากการก่อกบฏของทหาร
จักรพรรดิวาเลนติเนียน ที่ 2 (Valentinian II) เป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์วาเลนติเนียน (Valentinian Dynasty) โดยการแต่งตั้งจากกองทหารจากแคว้นปันโนเนีย (Pannonian Army) เมื่อปีค.ศ.375 ให้เป็น Co-Emperor ของ “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” ร่วมกับ “จักรพรรดิกราเตียน” จนกระทั่งเสียชีวิตในปีค.ศ.392 จากการถูกบังคับให้ฆ่าตัวตาย
ราชวงศ์เธโอโดเซียน (Theodosian Dynasty)
ในช่วงเวลาระหว่างปีค.ศ.393-423 ค.ศ.455 “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” ถูกปกครองโดยจักรพรรดิ 4 องค์ จากราชวงศ์เธโอโดเซียน (Theodosian Dynasty) แห่ง “จักรวรรดิโรมันตะวันออก” โดยสิ้นสุดลงที่จักรพรรดิวาเลนติเนียน ที่ 3 (Valentinian III)
The Last Emperors of The Western Roman Empire
จากการเสียชีวิต “จักรพรรดิวาเลนติเนียน ที่ 3” ในปีค.ศ.455 ฟลาวิอุส เปโตรนิอุส มักซิมุส (Flavius Petronius Maximus) ได้สถาปนาตนเองขึ้นเป็นจักรพรรดิแห่ง “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” แต่ก็เป็นได้เพียงแค่ช่วงเวลาไม่มากนักก็เสียชีวิตจากการทำร้ายโดยฝูงชน
ในปีเดียวกัน เอปาร์คิอุส อาวิตุส (Eparchius Avitus) ผู้เคยเป็น “Magister Militium” หรือ “The Master of Soldiers” ของ “จักรพรรดิฟลาวิอุส เปโตรนิอุส มักซิมุส” ก็ได้รับการสนับสนุนจากกษัตริย์เธโอเดริค ที่ 2 (Theoderic II) ของชาววิสิโกธ (Visigoths) ให้เป็นจักรพรรดิ และเสียชีวิตในปีต่อมา
หลังจากนั้น มีจักรพรรดิผู้สืบทอดอำนาจอีก 7 องค์ คือ
จักรพรรดิมายอเรียน (Majorian) ครองราชย์ระหว่างปีค.ศ.457-461
จักรพรรดิลิบิอุส เซเวรุส (Libius Severus) ครองราชย์ระหว่างปีค.ศ.461-465
จักรพรรดิอันเธมิอุส (Anthemius) ครองราชย์ระหว่างปีค.ศ.467-472
จักรพรรดิโอไลบริอุส (Olybrius) ครองราชย์ในปีค.ศ.472
จักรพรรดิไกลเชริอุส (Glycerius) ครองราชย์ระหว่างปีค.ศ.473-474
จักรพรรดิจูลิอุส เนโปส (Julius Nepos) ครองราชย์ระหว่างปีค.ศ.474-475
จักรพรรดิโรมูลุส ออกุสตุส (Romulus Augustus) ครองราชย์ระหว่างปีค.ศ.475-476
เหตุการณ์ในช่วงเวลาของ “จักรพรรดิโรมูลุส ออกุสตุส” ซึ่งครองราชย์ด้วยวัยเพียง 12 ชันษา จากการสถาปนาของ ฟลาวิอุส โอเรสเตส (Flavius Orestes) ผู้เป็นบิดา ซึ่งเป็นไปโดยพฤตินัย (de facto) เท่านั้น เนื่องจากในเวลานั้น “จักรพรรดิจูลิอุส เนโปส” ยังคงเป็นของจักรพรรดิที่ลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองดัลมาเทีย (Dalmatia) โดยมีสาเหตุจากความขัดแย้งกับ “ฟลาวิอุส โอเรสเตส”
“ฟลาวิอุส โอเรสเตส” ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง “Magister Militium” ผู้มีอำนาจบังคับบัญชากองกำลังทหารได้พยายามเสริมฐานอำนาจด้วยการสร้างเงินเหรียญ (solidi) ขึ้นใช้แทนเงินตราเพื่อจ่ายให้กับทหารรับจ้างกลุ่มบาร์บาเรียน (Barbarian Mercenaries) ที่ในเวลานั้นเป็นกองกำลังหลักของ “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” ขณะเดียวกันได้ปฏิเสธที่จะให้ที่ดินทำกินบนคาบสมุทรอิตาลีแก่ทหารรับจ้างกลุ่มนั้นตามที่ถูกร้องขอ
ความไม่พอใจของทหารรับจ้างกลายเป็นชนวนเหตุให้มีการก่อกบฏ
ในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.476 โอโดอาเซอร์ (Odoacer) ผู้บัญชาการกองทหารรับจ้างกลุ่มนั้นได้ก่อการกบฏต่อจักรพรรดิ โดยนำกองกำลังบุกเข้าไปยึดเมืองราเวนน่า (Ravenna) และสถาปนาตนเองเป็นกษัตริย์ในวันเดียวกันนั้นเอง
“ฟลาวิอุส โอเรสเตส” หนีไปยังเมืองปิอาเชนซ่า (Piacenza) พร้อมกับผู้ติดตามกลุ่มเล็กๆ แต่ก็ถูกจับกุมและถูกประหารในทันที
ในเดือนกันยายน ค.ศ.476 “จักรพรรดิโรมูลุส ออกุสตุส” ก็ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยโอโดอาเซอร์ (Odoacer)
ซึ่งถือว่าเป็นการสิ้นสุดลงอย่างแท้จริงของ “จักรวรรดิโรมันตะวันตก”
แต่นักประวัติศาสตร์บางกลุ่มก็มีข้อโต้แย้งในประเด็นของจักรพรรดิองค์สุดท้าย เนื่องจาก “จักรพรรดิจูลิอุส เนโปส” ผู้ที่ลี้ภัยยังคงมีชีวิตอยู่จนกระทั่งถูกฆาตรกรรมในเดือนมิถุนายน ค.ศ.480
จักรวรรดิโรมันตะวันออก (The Eastern Roman Empire)
“จักรวรรดิโรมันตะวันออก” เป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจของจักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) ในระหว่างศตวรรษที่ 4-15 ถูกปกครองโดยจักรพรรดิหลายองค์จากหลายราชวงศ์ โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople)
จุดเริ่มต้นได้เกิดขึ้นในปีค.ศ.286 โดย “จักรพรรดิดิโอเคลเตียน” ได้แต่งตั้งให้ “จักรพรรดิแม๊กซิเมียน” เป็น Co-Emperor มีฐานะเทียบเท่าจักรพรรดิ และมอบหมายให้ปกครอง “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” ส่วนตนเองปกครอง “จักรวรรดิโรมันตะวันออก” มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองนิโคเมเดีย (Nicomedia)
ในปีค.ศ.293 “จักรพรรดิดิโอเคลเตียน” แต่งตั้งให้ กาเลริอุส (Galerius) เป็น “Caesar” และแต่งตั้งให้เป็นจักรพรรดิ ในพฤษภาคม ค.ศ.305 เพื่อสืบทอดอำนาจ
“จักรพรรดิกาเลริอุส” ครองราชย์จนถึงปีค.ศ.311 ก็เสียชีวิต และ มักซิมินุส ดาย่า (Maximinus Daia) ผู้เป็นหลานชายก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นจักรพรรดิ หลังจากที่อยู่ในตำแหน่ง “Caesar” เมื่อปีค.ศ.305
“จักรพรรดิแห่งจักรวรรดิโรมันตะวันออก” ที่มีบทบาทสำคัญอีกองค์หนึ่งคือ จักรพรรดิลิชินิอุส (Licinius) ผู้ได้รับการแต่งตั้งจาก “จักรพรรดิกาเลริอุส” ให้เป็นจักรพรรดิ ในปีค.ศ.311 หลังการเสียชีวิตของ “จักรพรรดิกาเลริอุส” โดยครอบครอง “จักรวรรดิโรมันตะวันออก” ร่วมกับ “จักรพรรดิมักซิมินุส ดาย่า” แต่จักรพรรดิทั้งสองเกิดความขัดแย้งกันจนในที่สุด “จักรพรรดิลิชินิอุส” สามารถโค่นล้ม “จักรพรรดิมักซิมินุส ดาย่า” ในปีค.ศ.313 โดยการสนับสนุนของจักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 1 (Constantine I) แห่ง “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” แต่ในที่สุด “จักรพรรดิลิชินิอุส” ก็ถูกกำจัดในปีค.ศ.324
ราชวงศ์คอนสแตนติเนียน (Constantinian Dynasty)
ในปลายปีค.ศ.330 “จักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 1” ผู้ซึ่งครอบครองจักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) แต่เพียงผู้เดียวได้ย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่เมืองไบเซนติอุม (Byzantium) และเปลี่ยนชื่อเป็น คอนสแตนติโนโปลิส (Constantinopolis) หรือที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในนาม “คอนสแตนติโนเปิล”
“จักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 1” เสียชีวิตในปีค.ศ.337 ตำแหน่งจักรพรรดิของจักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) ได้ถูกสืบทอดร่วมกันโดยบุตรชายทั้งสาม คือ จักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 2 (Constantine II) ในปีค.ศ.337-340 จักรพรรดิคอนสแตนส์ (Constans) ในปีค.ศ.337-350 และจักรพรรดิคอนสแตนติอุส ที่ 2 (Constantius II) ในปีค.ศ.337-361 ทำให้จักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) กลายเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งโดยการปกครองของ จักรพรรดิจูเลียน (Julian) ในปีค.ศ.361-363 และจักรพรรดิโจเวียน (Jovian) ในปีค.ศ.363-364
ราชวงศ์วาเลนติเนียน (Valentinian Dynasty)
จักรพรรดิวาเลนติเนียน ที่ 1 (Valentinian I) ก่อตั้งราชวงศ์วาเลนติเนียน (Valentinian Dynasty) และขึ้นครองราชย์ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ.364 หลังจากการเสียชีวิตของ “จักรพรรดิโจเวียน”
จักรวรรดิโรมัน (The Roman Empire) ถูกแบ่งแยกเป็นสองส่วนอีกครั้งในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ.364 เมื่อ “จักรพรรดิวาเลนติเนียน ที่ 1” แต่งตั้ง จักรพรรดิวาเลนส์ (Valens) ผู้เป็นน้องชายให้เป็นจักรพรรดิแห่ง “จักรวรรดิโรมันตะวันออก” ซึ่ง “จักรพรรดิวาเลนส์” ครอบราชย์อย่างยาวนานจนกระทั่งเสียชีวิตในสงครามแห่งอาเดรียโนเปิล (The Battle of Adrianople) เมื่อปีค.ศ.378
ราชวงศ์เธโอโดเซียน (Theodosian Dynasty)
หลังจากว่างเว้นจากการมีองค์จักรพรรดิเป็นเวลา 5 เดือน ในเดือนมกราคม ค.ศ.379 จักรพรรดิเธโอโดซิอุส ที่ 1 (Theodosius I) ผู้บัญชาการกองกำลังในคาบสมุทรบอลข่าน (Balkan Peninsula) ได้รับแต่งตั้งจากจักรพรรดิกราเตียน (Gratian) แห่ง “จักรวรรดิโรมันตะวันตก” จึงถือว่าราชวงศ์เธโอโดเซียน (Theodosian Dynasty) ก่อกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่บัดนั้น
ในเดือนมกราคม ค.ศ.395 จักรพรรดิอาร์คาดิอุส (Arcadius) บุตรชายคนโตก็ขึ้นครองราชย์จนถึงปีค.ศ.408 หลังจากการเสียชีวิตของ “จักรพรรดิเธโอโดซิอุส ที่ 1” จากนั้นก็สืบทอดอำนาจอย่างยาวนานถึง 42 ปี โดยจักรพรรดิเธโอโดซิอุส ที่ 2 (Theodosius II) จนถึงปีค.ศ.450 และจักรพรรดิมาร์เชียน (Marcian) ผู้เป็นสมาชิกวุฒิสภา และเป็นน้องเขยของ “จักรพรรดิเธโอโดซิอุส ที่ 2” ครองราชย์ต่อจนถึงปีค.ศ.457 ก็เป็นการสิ้นสุดราชวงศ์เธโอโดเซียน (Theodosian Dynasty)
นับจากนั้นเป็นต้นมา “จักรวรรดิโรมันตะวันออก” ก็มีการสืบทอดอำนาจโดยจักรพรรดิจาก 13 ราชวงศ์ จักรพรรดิองค์สุดท้ายคือ จักรพรรดิคอนสแตนติน ที่ 11 (Constantine XI) จากราชวงศ์ปาลาโยโลกัน (Palaiologan Dynasty) ที่เสียชีวิตไปพร้อมกับการล่มสลายของกรุงคอนสแตนติโนเปิล (Constantinople) และ “จักรวรรดิโรมันตะวันออก” ในปีค.ศ.1453
ยุครวมชาติ (Italian Unification)
หลังจากการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันตก ปีค.ศ.476 ทำให้ชุมชนใหญ่บนคาบสมุทรอิตาลีต่างก็ตั้งตนเป็นอิสระ ในรูปแบบของการเป็นนครรัฐ (City-States) ซึ่งมีมากกว่า 14 นครรัฐ เช่น นครรัฐปิซ่า (Pisa City State) นครรัฐซิเอน่า (Siena City State) นครรัฐเจนัว (Genoa City State) และนครรัฐฟลอเรนซ์ (Florence City State) เป็นต้น
ในปีค.ศ.1453 เกิดการล่มสลายของจักรวรรดิโรมันตะวันออก ส่งผลให้นครรัฐใหญ่ที่อยู่นอกคาบสมุทรอิตาลี เช่น ฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษ ต่างก็เข้ามาแสวงหาประโยชน์บนคาบสมุทรอิตาลีโดยการเข้ามาให้การสนับสนุนนครรัฐต่างๆ ทำให้เกิด “Italian Wars” หลายครั้งหลายหนในระหว่างปีค.ศ.1494-1559
ในระหว่างปีค.ศ.1559-1814 ดินแดนบนคาบสมุทรอิตาลีเกือบทั้งหมดก็ถูกครอบครองโดยชนชาติอื่น เริ่มจากราชวงศ์แฮปส์เบิร์ก (Habsburg Dynasty) จากสเปน ระหว่างปีค.ศ.1559-1713
ราชวงศ์แฮปส์เบิร์ก (Habsburg Dynasty) จากออสเตรีย ระหว่างปีค.ศ.1773-1796
ราชวงศ์แฮปส์เบิร์ก (Bourbons Dynasty) จากฝรั่งเศส ระหว่างปีค.ศ.1796-1814
ในปีค.ศ.1815 เริ่มมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะบุคคลเพื่อจะรวมเอานครรัฐต่างๆ บนคาบสมุทรอิตาลีให้เป็นเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งก็สามารถผลักดันอิทธิพลของราชวงศ์แฮปส์เบิร์ก (Habsburg Dynasty) ให้ออกไปจากคาบสมุทรอิตาลี
และในที่สุดคณะบุคคลซึ่งนำโดยนายจุยเซ็ปเป้ การิบัลดิ (Giuseppe Garibaldi) ก็ได้ประกาศรวมนครรัฐต่างๆ ให้เป็นราชอาณาจักรอิตาลี (Kingdom of Italy) เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ค.ศ.1861
ยุคราชาธิปไตย (Monarchy)
ในระหว่างปีค.ศ.1861-1946 เป็นยุคราชอาณาจักรอิตาลี (Kingdom of Italy) การปกครองระบบราชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขภายใต้รัฐธรรมนูญ โดยมี กษัตริย์วิคเตอร์ เอมมานูเอล ที่ 2 (Victor Emmanuel II) เป็นกษัตริย์พระองค์แรก ซึ่งครองราชย์ระหว่างปีค.ศ.1861-1878 ซึ่งระหว่างปีค.ศ.1861-1864 มีเมืองหลวงอยู่ที่เมืองโตริโน่ (Torino) หลังจากนั้นย้ายไปอยู่ที่เมืองฟลอเรนซ์ (Florence) จนถึงปีค.ศ.1871 และได้ย้ายไปยังกรุงโรม (Rome) ตั้งแต่ปีค.ศ.1871 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
ในระหว่างปีค.ศ.1878-1900 กษัตริย์อุมแบร์โต้ ที่ 1 (Umberto I) ขึ้นครองราชย์
กษัตริย์วิคเตอร์ เอมมานูเอล ที่ 3 (Victor Emmanuel III) ครองราชย์ระหว่างปีค.ศ.1900-1946
กษัตริย์อุมแบร์โต้ ที่ 2 (Umberto II) เป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชอาณาจักรอิตาลี (Kingdom of Italy) ขึ้นครองราชย์ในปีค.ศ.1946 และถูกกดดันให้มีการทำประชามติเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศมาเป็นระบอบสาธารณรัฐโดยมีประธานาธิบดี (The President) เป็นผู้นำสูงสุด
ยุคสาธารณรัฐอิตาลี (Italian Republic)
หลังจากปีค.ศ.1946 ประเทศอิตาลี (Italy) มีการปกครองในระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย (Democracy Repubblic) ในระบบรัฐสภา (Parliamentary) ที่มีพรรคการเมือง (Political Party)
ประธานาธิบดี (President) ดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศโดยได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาร่วมกับผู้แทนภูมิภาค (Regional Representatives) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี มีอำนาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา หากประธานาธิบดีไม่อาจสรรหานายกรัฐมนตรี รัฐสภาก็สามารถให้ความเห็นชอบได้
นายกรัฐมนตรี (Prime Minister) ดำรงตำแหน่งโดยมาจากการเลือกตั้งทั่วไป ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นผู้จัดตั้งคณะรัฐบาล (Council of Ministers) โดยได้รับความเห็นชอบจากประธานาธิบดี ตำแหน่งนี้บางครั้งเรียกว่า President of the Council of Ministers มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี
อำนาจนิติบัญญัติมาจากรัฐสภาซึ่งประกอบด้วย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (Chamber of Deputies) และ สมาชิกวุฒิสภา (Senates) โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง ซึ่งทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั่วไป การบัญญัติกฎหมายจะต้องได้รับความเห็นชอบจากทั้ง 2 สภา
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จะกระทำพร้อมกันทุกๆ 5 ปี วาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มีจำนวน 630 ที่นั่ง โดย 475 ที่นั่งจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง และอีก 155 ที่นั่งจะมาจากการเลือกตั้งแบบสัดส่วนจากแคว้นต่างๆ (regional proportion representation) ผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้งจะต้องมีอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป
ส่วนวุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 326 ที่นั่ง โดย 315 ที่นั่งมาจากการเลือกตั้งทั่วไป (popular vote) จาก 20 แคว้น (regions) และอีก 11 ที่นั่งจะแต่งตั้งจากบุคคลชั้นนำของสังคมเป็นวุฒิสมาชิกตลอดชีพ (ปัจจุบันมี 7 คน)
นี่คือสภาพปัจจุบันของประเทศอิตาลี (Italy) ที่ควรรู้เป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพื่อเป็นพื้นฐานในการเข้าถึงเรื่องราวของ “ ไวน์จากอิตาลี ” ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น