ไม่น่าเชื่อว่าฝรั่งมังค่าตาน้ำข้าวจะเชื่อถือเรื่อง "ฮวงจุ้ย" ซึ่งเป็นศาสตร์โบราณของจีนด้วยเหมือนกัน
เพราะตั้งแต่พ้นยุคกลางของยุโรป ชาวตะวันตกก็จะเชื่อถือเรื่องราวที่สามารถใช้หลักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้เป็นหลัก
ประกอบกับความทะนงตัวในฐานะ "เจ้าอาณาจักร" ที่ได้ส่งกองทัพเรือไล่ล่าดินแดนใหม่ๆ ในช่วงครึ่งสหัสวรรษที่ผ่านมา
ทำให้เกิดการดูถูกศาสตร์ของชาวตะวันออกหน้ากลมๆ ผิวเหลืองๆ อย่างเราๆ ท่านๆ อยู่ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม นางโซเลเน เกโนต์ และนายโดมินิค ผู้เป็นสามี เจ้าของไร่องุ่น "ไคอารอสสา" ที่ตั้งอยู่ตอนกลางของอิตาลี
กลับยอมรับว่าตนเองและสามีเชื่อว่าศาสตร์ฮวงจุ้ยของจีนนั้นช่วยให้รสชาติไวน์ที่ผลิตจากองุ่นในไร่ให้รสชาติที่ดีขึ้น
นายหญิงแห่งไร่องุ่นในเขตวัล ดี เซซินา ใกล้กับทะเลเมดิเตอเรเนียน อธิบายว่า
"เราสร้างโรงผลิตไวน์ตามหลักฮวงจุ้ยทำให้เราเชื่อมโยงกลมกลืนกับธรรมชาติ
โดยเลือกพื้นที่ซึ่งมีพลังธรรมชาติไหลเวียนมากที่สุด ในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่างยอดเขากับพื้นดินบริเวณหุบเขา"
โรงผลิตไวน์แห่งนี้ยังใช้สีที่เป็นตัวแทนของธาตุธรรมชาติตามหลักฮวงจุ้ยของจีน โดยใช้สีแดงซึ่งเป็นตัวแทนของธาตุไฟหรือดวงอาทิตย์ บริเวณภายนอกอาคาร
และใช้สีเหลืองซึ่งเป็นตัวแทนของธาตุดินทาภายในโรงงาน
ขณะที่ผู้ผลิตรายอื่นพยายามค้นคว้าวิธีการต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ในการเสริมรสชาติไวน์ให้ดีขึ้น แต่เจ้าของไร่องุ่นแห่งนี้กลับมีแนวคิดสวนกระแส
โดยมุ่งผลิตไวน์ที่มีความเป็นธรรมชาติมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่มีการใช้สารแทนนิน (สารจากเปลือกไม้หรือผลไม้ ให้รสฝาด) หรือเอนไซม์ใดๆ ในการผลิตไวน์
ทั้งยังหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีทุกชนิด ไม่เว้นแม้แต่ยาฆ่าหญ้า การทำงานในไร่องุ่นแห่งนี้เน้นการใช้แรงงานคน ด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่มีการใช้เครื่องจักรทุกชนิดเข้าช่วย
เป็นการตอกย้ำจุดยืนของการผลิตไวน์ที่ให้สัมผัสแห่งธรรมชาติอย่างแท้จริง
ไวน์ที่เป็นผลผลิตจากไร่องุ่นแห่งนี้เกิดจากองุ่นพันธุ์เดียวกันกับที่ปลูกในแค้วนบอร์โดซ์
แหล่งผลิตไวน์โลกเก่าอันดับหนึ่งของโลกที่เติบโตและออกผลงอกงามในพื้นที่ขนาด 39 เอเคอร์ (101 ไร่)
ทำให้ครอบครัวเกโนต์สามารถผลิตไวน์คุณภาพดีที่อาศัยหลักฮวงจุ้ยในการเสริมรสชาติและคุณภาพ ประมาณ 7 หมื่นขวดต่อปี
โดย 70% เป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ
นายเกโนต์อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่าหลักฮวงจุ้ยช่วยให้คนงานทำงานในโรงผลิตไวน์ที่ทั้งกว้าง มีพื้นที่โล่ง และแสงสว่างธรรมชาติเพียงพอ อย่างมีความสุขมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
"แสงสว่างยังนำพลังบวกเข้ามาให้แก่พวกเราด้วย" นายหญิงแห่งไร่องุ่นกล่าวต่อท้ายสามีอย่างมีความสุข
ที่มา : http//www.komchadluek.net
วันพฤหัสบดีที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2554
วันพฤหัสบดีที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2554
From the Earth to the Sky
From the Earth to the Sky
ผมเคยอ่านบทประพันธ์ของนักเขียนชื่อดังคนหนึ่งของฟ้าเมืองไทย มีข้อความตอนหนึ่งที่ท่านได้เขียนไว้อย่างน่าฟังว่า “การปั้นดินให้เป็นดาวนั้นยากนัก แต่การปั้นก้อนดินแล้วขว้างไปให้ถึงดวงดาวนั้นยากยิ่งกว่า” ซึ่งประโยคนี้ผมจำได้ขึ้นใจ และขอเอามาใช้กับนายจาโคโม เนริ (Giacomo Neri) หนุ่มชาวอิตาเลียนผู้เพียรพยายามที่จะสร้างสรรค์ผลงานของตนเองให้ก้าวขึ้นมาอยู่ในแถวหน้าของผู้ผลิตไวน์แห่งแคว้นทัสคานี(Tuscany)
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นอีกมุมหนึ่งในด้านการงานและชีวิตส่วนตัวของนายจาโคโม เนริ (Giacomo Neri) เจ้าของบริษัท คาซาโนว่า ดิ เนริ (Azienda Agricola Casanova di Neri) แห่งตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) เมืองซิเอน่า (Siena) ที่ไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะชนในเมืองไทยหรือที่อื่นใดมาก่อน ซึ่งฉากหลังของการสนทนาคือ “ลา สกาล่า” ห้องอาหารชื่อดังในโรงแรมสุโขทัย
..
ผมพบกับ “จาโคโม” เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2552 เมื่อหนุ่มใหญ่วัย 44 ปี เดินทางมาพักผ่อนกับครอบครัวในประเทศไทย แต่สองปีก่อนหน้านั้นเราได้เคยติดต่อกันโดยทาง e-mail เมื่อผมต้องการภาพประกอบเรื่องราวที่ผมเขียนถึงไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้(Brunello di Montalcino Cerretalto) วินเทจ 2001 ซึ่งเป็นไวน์ 100 พ้อยต์ ของนิตยสารไวน์สเปคเตเตอร์ (Wine Spectator Magazine)
...การสนทนาครั้งนี้เป็นการประสานงานของคุณทามาร่า เดมิโอ (Tamara Demio) แห่งบริษัท จี.โฟร์ประเทศไทย จำกัด (G Four Thailand Co.,Ltd.) ผู้นำเข้าไวน์รายใหญ่รายหนึ่งในประเทศไทย “จาโคโม” มีเชื้อสายของชาวทัสกัน (Tuscans) อย่างแท้จริง เขาเกิดเมื่อปีค.ศ.1965 ที่เมืองอาเรซโซ่ (Arezzo) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองซิเอน่า (Siena) เขาเติบโตมาท่ามกลางไอดินและกลิ่นไวน์ในชนบทแห่งแคว้นทัสคานี (Tuscany) ในช่วงเวลาที่นายโจวานนิ เนริ (Giovanni Neri) ผู้เป็นบิดาได้อพยพครอบครัวมาสร้าง“บ้านหลังใหม่ของเนริ” หรือ “คาซาโนว่า ดิ เนริ” บนที่ดินผืนเล็กๆ ในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) เมื่อปีค.ศ.1971 บุคลิกที่ดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัยทำให้ดูน่ายำเกรง แต่จากความสุภาพเป็นกันเองและใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มอยู่เกือบตลอดเวลา ทำให้เราสนิทสนมกันอย่างรวดเร็วราวกับว่าได้รู้จักกันมาแต่ชาติปางก่อน
...ผมเริ่มคำถามแรกด้วยการขอทราบชีวิตวัยเด็ก ซึ่ง “จาโคโม” หัวเราะเบาๆ ก่อนที่จะพรรณาอย่างยืดยาวว่า เขาเติบโตมาในชนบทและมีชีวิตที่อิสระโดยที่บิดาไม่ได้กำหนดอนาคตหรือตั้งกฏเกณฑ์ใดๆ ไว้เลย โดยยอมให้เลือกเส้นทางเดินของชีวิตด้วยตัวเองเพียงแต่คอยให้คำชี้แนะในทิศทางที่ถูกต้อง จากการที่เห็นบิดาและเพื่อนบ้านใกล้เคียงมีอาชีพเกี่ยวกับการทำไวน์ ทำให้เขามีความฝันในว่าสักวันหนึ่งจะต้องเป็นคนทำไวน์ และนั่นก็เป็นแรงจูงใจให้เข้ารับการศึกษาด้านการทำไวน์ (Eonology) จากมหาวิทยาลัยแห่งเมืองซิเอน่า (The University of Siena)
...หลังจากสำเร็จการศึกษา “จาโคโม” ได้ออกตระเวณไปตามไวเนอรี่หลายแห่งในหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไวเนอรี่ชั้นนำในประเทศฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อเป็นการสั่งสมความรู้นอกชั้นเรียนและเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง
... เขาเริ่มชีวิตการทำงานด้วยการเข้ามารับผิดชอบในบริษัท คาซาโนว่า ดิ เนริ (Azienda Agricola Casanova di Neri) เมื่อปีค.ศ.1984 หลังจากที่บิดาของเขาถึงแก่กรรม เขาได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะทุ่มเทความรู้ความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมดเพื่อให้เป็นผู้ผลิตไวน์ระดับหัวแถว แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือการคงไว้ในสิ่งที่บิดาสร้างขึ้นมา “จาโคโม” ยอมรับว่า “ไวน์บรูเนลโล่” ไวน์เกรดดีโอซีจี.(DOCG) เป็นไวน์ที่ทำชื่อเสียงให้กับบริษัท คาซาโนว่า ดิ เนริ (Azieda Agricola Casanova di Neri) เป็นอย่างมากไม่ว่าจะเป็นไวน์ที่ใช้วิธีการผลิตสมัยใหม่(modern interpretations) หรือไวน์ที่ใช้วิธีการผลิตแบบดั้งเดิม (traditionally styled)
...บิดาของเขาเริ่มผลิตไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ตั้งแต่ปีค.ศ.1971 โดยเก็บบ่มไวน์ในถังไม้สลาโวเนียน โอ๊ก (Slavonian oak casks) ขนาด 40 และ 77 เฮ็คโตลิตร เป็นเวลายาวนานถึง 45 เดือน ซึ่งถังไม้กลุ่มนี้จะมีอายุการใช้งานไม่ต่ำกว่า 20 ปี เมื่อบรรจุขวดแล้วจะเก็บบ่มในขวดเป็นเวลา 15 เดือน ไวน์ฉลากนี้จึงแสดงออกถึงความเป็น “ไวน์บรูเนลโล่” ของชาวทัสกัน (Tuscans) อย่างแท้จริง...
...อีก 10 ปีต่อมาก็ได้ผลิตไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้ (Brunello di Montalcino Cerretalto) ที่เป็นชนิด “RISERVA” โดยใช้องุ่นจากไร่ปลูกแห่งเดียว (single vineyard) ใช้วิธีการผลิตสมัยใหม่ (modern interpretations) ตามความต้องการของตลาดในทวีปยุโรปและในสหรัฐอเมริกา มีการเก็บบ่มไวน์ในถังไม้โอ๊กขนาด 300 ลิตร จากประเทศฝรั่งเศส เป็นเวลา 27 เดือน และเก็บบ่มในขวดอีก 27 เดือน ซึ่งแน่นอนว่าจะให้ความแตกต่างจาก “ไวน์บรูเนลโล่” ฉลากแรกโดยสิ้นเชิง เพื่อรองรับตลาดระดับล่างที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ บิดาของเขาจึงคิดที่จะผลิตไวน์ที่สามารถดื่มได้ทุกวันและทุกโอกาส (everyday wine) ดังนั้นในปีค.ศ.1982 จึงเป็นวินเทจแรกของไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) ไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) โดยใช้องุ่นพันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) 100 เปอร์เซ็นต์
... “จาโคโม” มองเห็นความแตกต่างระหว่าง “ไวน์บรูเนลโล่” ทั้งสองฉลากที่ผู้ป็นบิดาได้สร้างสรรค์ขึ้นมา หลังจากที่เขาเข้ามากุมบังเหียนแทนบิดาเขาจึงได้วางแผนทำการผลิต “ไวน์บรูเนลโล่” ฉลากใหม่ที่ผสมผสานไวน์ทั้งสองคาแรคเตอร์เข้าด้วยกัน โดยมีการเก็บบ่มไวน์ในถังไม้โอ๊กขนาด 600 ลิตร เป็นเวลา 29 เดือน และเก็บบ่มในขวดเป็นเวลา 24 เดือน ดังนั้นในปีค.ศ.1993 จึงเป็นที่มาของไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ เตนูต้า นูโอว่า (Brunello di Montalcino Tenuta Nuova) ที่มีนายคาร์โล แฟร์รินิ (Carlo Ferrini) ไวน์เมคเกอร์มือทองสมองเพชรแห่งแคว้นทัสคานี (Tuscany) เข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านการผลิต ซึ่ง “จาโคโม” ยังบอกด้วยว่าวินเทจ 2005 เป็นสุดยอดของไวน์ฉลากนี้
...ในปีค.ศ.2000 ไวน์ซาน ตันติโม่ ปิเอตราโดนิเช่ (San’t Antimo Pietradonice) ได้ถือกำเนิดตามออกมาโดยฝีมือของ “จาโคโม” โดยใช้องุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวิญยอง (Cabernet sauvignon) 90 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับองุ่นพันธุ์ซานโจเวเซ่ (Sangiovese) 10 เปอร์เซ็นต์ มีการเก็บบ่มในถังบาร์ริค (barrique) ใหม่ เป็นเวลา 18 เดือน เก็บบ่มในขวดเป็นเวลา 6 เดือน นับว่าเป็นไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) อีกฉลากหนึ่งของบริษัท คาซาโนว่า ดิ เนริ (Azienda Agricola Casanova di Neri) แต่ต่อมาในปีค.ศ.2005 ไวน์ฉลากนี้ได้สลัดคราบไคลของไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ไปเป็นไวน์ซูเปอร์ทัสกัน (SuperTuscans) เกรดตอสกาน่า ไอจีที.(Toscana IGT) โดยใช้ชื่อใหม่ว่า ไวน์ปิเอตราโดนิเช่ (Pietradonice) ใช้องุ่นพันธุ์คาเบอร์เน่ โซวิญยอง (Cabernet sauvignon) 100 เปอร์เซ็นต์
...และล่าสุดในปีค.ศ.2006 “จาโคโม” ทำการผลิตไวน์ซาน ตันติโม่ รอซโซ่ ดิ คาซาโนว่า ดิ เนริ (San’t Antimo Rosso di Casanova di Neri) ไวน์เกรดดีโอซี.(DOC) ออกมาให้เป็นทางเลือกใหม่ของไวน์ระดับล่าง โดยใช้องุ่นพันธุ์บรูเนลโล่ (Brunello) 90 เปอร์เซ็นต์ และพันธุ์โคโลริโน่ (Colorino) 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไวน์จากวินเทจ 2006 ได้เรตติ้ง 90 คะแนน จากนายโรเบิร์ต ปาร์คเกอร์ (Robert M. Parker Jr.)
... เพื่อให้บรรยากาศผ่อนคลายลงบ้างผมจึงถาม
ด้วยคำถามเบาๆ ว่า เขาใฝ่ฝันอยากได้อะไรในชีวิตซึ่ง “จาโคโม” ตอบกลับอย่างไม่ลังเลใจว่าสำหรับคนทำไวน์ก็อยากได้ฤดูกาลที่ดีสำหรับองุ่นในไร่ปลูก เขาพอใจในวินเทจ 2007 และ 2008 ที่ให้ผลผลิตองุ่นดีเกินความคาดหมาย ส่วนวินเทจ 2009 ที่จะเก็บเกี่ยวในเดือนกันยายน อาจจะอยู่เหนือความคาดหมายด้วยซ้ำไป หากย้อนกลับไปเขาก็ปลื้มใจกับวินเทจ 2005 และ 2006 รวมถึงวินเทจ 2004 ที่เยี่ยมยอดมาก ผมขอให้เปรียบเทียบภาพรวมของไวน์อิตาเลียนจากวินเทจ 1997 และวินเทจ 2001 ซึ่ง “จาโคโม” บอกว่า ถึงแม้ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้(Brunello di Montalcino Cerretalto) วินเทจ 2001 เป็นไวน์ 100 พ้อยต์ จากนิตยสารไวน์สเปคเตเตอร์ (Wine Spectator Magazine) แต่เขาชื่นชอบวินเทจ 1997มากกว่า...โดยใช้คำจำกัดความสั้นๆ แต่ได้ใจความชัดเจนว่าวินเทจ 1997 จะเป็น “vintage of dream” ไวน์ที่ทำออกมามีความ “more elegance” ส่วนวินเทจ 2001 จะเป็น “wonderful vintage” ที่สามารถทำไวน์ออกมาได้ “more rich and more body”
...ในความเป็นส่วนตัว “จาโคโม” ชอบใช้ชีวิตที่เรียบง่ายกับครอบครัวในไร่ปลูกองุ่นและในเซลล่าร์ เขาไม่มีบ้านพักที่หรูหรา คนในครอบครัวจะอาศัยร่วมกันที่บ้านหลังเล็กในชนบท ชอบดื่มไวน์ดี รับประทานอาหารอร่อย และมีความห่วงใยในสุขภาพของตนเอง ไม่ชอบที่จะแสดงตัวในที่สาธารณะหรือเดินทางไปต่างประเทศบ่อยนัก เพราะตัวตนที่แท้จริงคือเป็น “คนทำไวน์” จะเห็นได้ว่าเขาเดินทางไปต่างประเทศไม่เกินปีละ 3 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่เดินทางมาเยือนประเทศไทย
...และในช่วงท้ายของการสนทนา ผมขอให้ “จาโคโม” แนะนำอาหารที่จะรับประทานกับไวน์แดงจากบริษัท คาซาโนว่า ดิ เนริ (Azienda Agricola Casanova di Neri) ก็เลยได้รับคำเฉลยที่ยืดยาวเลยทีเดียว ซึ่งเขาบอกว่าไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ฉลากสีขาว โครงสร้างของไวน์ไม่หนามากนักเป็นไวน์ที่ดื่มง่ายๆ ไม่เน้นการดื่มกับอาหารหนัก อาจจะเป็นชีสรสอ่อนหรือเนื้อแกะก็ย่อมได้ และอาจดื่มร่วมกับอาหารมื้อกลางวันก็ได้ไม่จำเป็นที่จะต้องดื่มร่วมกับอาหารในมื้อเย็น ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ เตนูต้า นูโอว่า (Brunello di Montalcino Tenuta Nuova) ควรดื่มกับชีสที่มีรสเข้ม เนื้อแกะ เนื้อไก่ หรือเนื้อที่เป็นสีชมพู
...ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้ (Brunello di Montalcino Cerretalto) และไวน์ปิเอตราโดนิเช่ (Pietradonice) โครงสร้างของไวน์จะหนามาก ควรดื่มร่วมกับอาหารจานหลักที่เป็นเนื้อสีแดงในมื้อเย็น
...ไวน์รอซโซ่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Rosso di Montalcino) และไวน์ซาน ตันติโม่ รอซโซ่ ดิ คาซาโนว่า ดิ เนริ (San’t Antimo Rosso di Casanova di Neri) สามารถดื่มร่วมกับอาหารมื้อกลางวันที่ไม่หนักมากนัก จะเป็นพิซซ่าหรือพาสต้าก็ไม่แปลกแต่ประการใด
... ในปัจจุบันบริษัท คาซาโนว่า ดิ เนริ (Azienda Agricola Casanova di Neri) ผลิตเฉพาะไวน์แดงปีละประมาณ 2 แสนขวด มีพื้นที่ปลูกองุ่นรวมทั้งสิ้น 36เฮ็คต้าร์ ในตำบลมอนตาลชิโน่ (Comune di Montalcino) ไร่ปลูกองุ่น 4 แห่ง จะอยู่แยกจากกัน คือ ไร่ปลูกฟิเอโซเล่ (Fiesole vineyard) จะอยู่รอบๆ เซลล่าร์ ซึ่งเป็นไร่ปลูกดั้งเดิมที่บิดาทำไว้ องุ่นจากที่นี่จะใช้ทำไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino) ฉลากดั้งเดิม
....ไร่ปลูกแชร์เรตาลโต้ (Cerretalto vineyard) เป็นไร่ปลูกแห่งที่สองที่ซื้อในปีค.ศ.1986 อยู่ทางทิศตะวันออกของเซลล่าร์ องุ่นจากที่นี่จะใช้ผลิตไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ แชร์เรตาลโต้ (Brunello di Montalcino Cerretalto) เท่านั้น ส่วนไร่ปลูกเตนูต้า นูโอว่า (Tenuta Nuova vineyard) และไร่ปลูกปิเอตราโดนิเช่(Pietradonice vineyard) อยู่ทางทิศใต้ของเซลล่าร์ องุ่นจากที่นี่จะใช้ผลิตไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ เตนูต้า นูโอว่า (Brunello di Montalcino Tenuta Nuova)และไวน์ปิเอตราโดนิเช่ (Pietradonice) รวมถึงผลิตไวน์ฉลากเล็กๆ ด้วย
...ความสำเร็จของนายจาโคโม เนริ (Giacomo Neri) และ บริษัท คาซาโนว่า ดิ เนริ (Azienda Agricola Casanova di Neri) มิได้เกิดจากโชคชะตาหรือฟ้าลิขิต แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณะชน นับจากนี้ไปเราคงต้องติดตามเฝ้าดูกันว่าดาวดวงน้อยดวงนี้จะสามารถโคจรอยู่ท่ามกลางแรงเหวี่ยงของจักรวาลได้นานแค่ไหน และจะเป็นดวงดาวที่เปล่งประกายสว่างไสวได้นานเพียงใด กาลเวลาจะให้คำตอบแก่เราได้เป็นอย่างดี....
ทำความรู้จักกับคุณธีระศักดิ์ รัศมิทัต
ธีระศักดิ์ รัศมิทัต
สถานที่เกิด : กรุงเทพมหานคร
การศึกษา : จบการศึกษาระดับปริญญาตรีรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง (Bachelor in Political Science) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สถานที่ทำงาน : โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้จัดการ โรงงานผลิตยาสูบ 3 (Manager of Cigarette Menufacturing No.3, Production Department) ทำหน้าที่วางแผนและควบคุมการผลิตบุหรี่ การศึกษา : จบการศึกษาระดับปริญญาตรีรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง (Bachelor in Political Science) จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สถานที่ทำงาน : โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง
บนเส้นทางแห่งไวน์ : สนใจเรื่องราวของไวน์อย่างจริงจังเมื่อเดินทางไปทำงานที่เมืองโบโลญญ่า (Bologna) ประเทศอิตาลี ในปีค.ศ.1997 จากนั้นได้ใช้เวลาศึกษาเรื่องราวของไวน์อิตาเลียนด้วยตนเอง ในช่วงปีค.ศ.1997 – 2004 และระหว่างนั้นได้เข้าเรียนภาษาอิตาเลียน ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปีค.ศ.1999 หลังจากใช้ศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเรื่องราวของไวน์อิตาเลียนมานานกว่า 7 ปี จึงได้มีงานเขียนลงในนิตยสารไวน์ ทูเดย์ เมื่อปีค.ศ.2005 และยังคงมีงานเขียนอย่างสม่ำเสมอเรื่อยมา
เข้าเรียน Wine Study Program ของอาจารย์ไพรัชฯ ในปีค.ศ.2006 และ Seminar in Italian Wine ที่โรงแรม Four Seasons กับ Italian Sommelier Association ในปีค.ศ.2007
เดินทางไปร่วมงานวิโนเบิ้ล ’08 (Vinoble ’08) งานนิทรรศการไวน์หวานนานาชาติ ครั้งที่ 6 (Sixth International Exhibition of Noble Wines) ที่นครเคเรซ เด ลา ฟรอนเตร่า (Jerez de la Frontera) แคว้นอันดาลูเซีย (Andalucia) ระหว่างวันที่ 25 – 28 พฤษภาคม ค.ศ.2008 ในฐานะตัวแทนของนิตยสารไวน์ทูเดย์
ไวน์ที่ชื่นชอบ : แน่นอนว่าต้องเป็นไวน์อิตาเลียน และที่ชื่นชอบมากที่สุดคือ ไวน์บรูเนลโล่ ดิ มอนตาลชิโน่ (Brunello di Montalcino)
ที่มา : http://www.konrakwine.com
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)